โอปิออยด์ (opioids) มีบทบาทมากในการรักษาอาการปวดเฉียบพลันและอาการปวดเรื้อรัง ยาในกลุ่มนี้ เช่น tramadol, oxycodone, fentanyl, methadone, meperidine, codeine, buprenorphine, hydrocodone, hydromorphone, morphine, oxymorphone ปัจจุบันแนวโน้มในการใช้ยากลุ่มนี้ยังคงเพิ่มขึ้น จึงเกิดปัญหาเรื่องอาการไม่พึงประสงค์จากยาและการติดยา การหยุดใช้ยาเหล่านี้อย่างฉับพลันหรือการลดขนาดยาลงเร็วเกินในผู้ที่เกิดการติดยาทางกายหรือเกิดภาวะพึ่งยาทางกาย (physical dependence) อาจเกิดอาการขาดยา (withdrawal symptoms) และอาการปวดที่คุมไม่ได้ จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยแสวงหายามาใช้เองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่คล้ายกับผู้ที่ติดยาจากการใช้ในทางที่ผิด
เมื่อเร็วๆ นี้มีข้อมูลจากหน่วยงาน FDA ของประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ใช้ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์จนเกิดการติดยาทางกาย เมื่อหยุดใช้ยาฉับพลันหรือลดขนาดยาอย่างรวดเร็วแล้วเกิดอันตรายร้ายแรง เช่น อาการขาดยาร้ายแรง (serious withdrawal symptoms) อาการปวดที่คุมไม่ได้ ความทุกข์ทรมานทางจิตใจ (psychological distress) และการฆ่าตัวตาย ในเบื้องต้นหน่วยงานดังกล่าวได้ให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการหยุดยาและการปรับลดขนาดยาแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีการสั่งใช้ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ให้กับผู้ป่วยนอก สาระสำคัญมีดังนี้
ทำความเข้าใจกับผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความร่วมมือเมื่อต้องมีการปรับลดขนาดยา พร้อมทั้งแนะนำผู้ป่วยไม่ให้หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษา
ผู้ป่วยที่เกิดการติดยาทางกาย ไม่ให้หยุดยาอย่างฉับพลันหรือปรับลดขนาดอย่างรวดเร็ว เพราะอาจเกิดอันตรายรุนแรง เช่น อาการขาดยาร้ายแรง อาการปวดที่คุมไม่ได้ การฆ่าตัวตาย ตลอดจนอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยแสวงหายามาใช้เองอย่างผิดกฎหมาย (ดังกล่าวข้างต้น)
ในช่วงที่มีการปรับลดขนาดยา ให้ประเมินผู้ป่วยว่ามีอาการขาดยาหรือไม่ (ดูตาราง) รวมถึงประเมินภาวะทางจิตใจด้านความคิดฆ่าตัวตาย การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ทางด้านอารมณ์ และการใช้สารเสพติดอื่นเพื่อทดแทน
ไม่มีแนวทางมาตรฐานในการปรับลดขนาดยาที่สามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ทั้งขนาดยาที่ใช้ ระยะเวลาที่ได้ใช้ยา ชนิดของความเจ็บปวดที่ทำการรักษา ตลอดจนภาวะทางกายและทางจิตใจของผู้ป่วย ในการปรับลดขนาดยาในผู้ที่เกิดการยานั้นโดยทั่วไปให้ลดขนาดยาแต่ละคราวในอัตราไม่เกิน 10-25% ทุก 2-4 สัปดาห์ ในช่วงนี้หากผู้ป่วยมีอาการปวดเพิ่มขึ้นหรือเกิดภาวะขาดยาร้ายแรง อาจจำเป็นต้องหยุดการปรับลดขนาดยาชั่วคราวและกลับไปใช้ยาในขนาดก่อนหน้านั้น เมื่อสถานการณ์คงที่จึงดำเนินการปรับลดขนาดต่อไปด้วยความระมัดระวังมากขึ้น
อ้างอิงจาก:
(1) Cohen B, Preuss CV. Opioid analgesics. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK459161/; (2) US FDA Drug Safety Communication: FDA identifies harm reported from sudden discontinuation of opioid pain medicines and requires label changes to guide prescribers on gradual, individualized tapering (April 9, 2019). https://www.fda.gov/downloads/Drugs/DrugSafety/UCM635492.pdf