หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Triclabendazole...ยากำจัดหนอนพยาธิใบไม้ในตับ (ชนิดที่ทำให้เกิด fascioliasis)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มีนาคม ปี 2562 -- อ่านแล้ว 6,199 ครั้ง
 
หนอนพยาธิ (worm หรือ helminth) เป็นปรสิตชนิดหนึ่ง พยาธิใบไม้ในตับ (liver fluke) เป็นหนอนพยาธิตัวแบน พบได้ทั่วทุกทวีป การเข้าสู่ร่างกายคนและสัตว์เกิดจากการได้รับตัวอ่อน (larva) ที่ปนเปื้อนในน้ำหรืออาหาร พยาธิใบไม้ในตับอาศัยอยู่ในท่อนํ้าดีที่ตับและนอกตับ ทำให้เกิดตับอักเสบได้ และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีในคน พยาธิใบไม้ในตับมีหลายชนิด ชนิดที่สำคัญในคน ได้แก่ Opisthorchis viverrini (พบได้มากที่สุดในประเทศไทย), Opisthorchis felineus, Clonorchis sinensis, Dicrocoelium dendriticum, Eurytrema pancreaticum, Fasciola gigantica และ Fasciola hepatica ซึ่งสองชนิดหลังนี้ทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับชนิด fascioliasis

Triclabendazole เป็นยากำจัดหนอนพยาธิ (anthelmintic) ในกลุ่ม benzimidazoles มีใช้มานานแล้ว ในการออกฤทธิ์ของยานี้คาดว่าเมื่อยาและเมแทบอไลต์ (ในรูป sulfoxide และ sulfone) ถูกดูดซึมผ่านผิวพยาธิ (tegument) จะรบกวนการทำหน้าที่ของ tubulin การสร้างโปรตีนและการสร้างเอนไซม์ที่สำคัญของพยาธิ สามารถกำจัดหนอนพยาธิได้ทั้งตัวอ่อนและตัวโตเต็มวัย (หรือตัวแก่) เป็นยาชนิดเดียวที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้รักษาโรคพยาธิใบไม้ในตับชนิด fascioliasis ยานี้อยู่ใน “World Health Organization’s List of Essential Medicines” จัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากที่สุดในขณะนี้ ขนาดยาที่ WHO แนะนำไว้ คือ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว หากเป็นมากให้รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12-24 ชั่วโมง สามารถรับยานี้ได้จาก WHO อย่างไรก็ตามมีบริษัทยาผลิตยานี้ออกวางจำหน่ายทั่วไป ใช้เป็นยากำจัดหนอนพยาธิได้ทั้งในคนและสัตว์ (ใช้ชื่อการค้าต่างกัน) เมื่อเร็วๆ นี้ triclabendazole ได้รับอนุมัติให้วางจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาในข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคพยาธิใบไม้ในตับชนิด fascioliasis ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ผลิตในรูปยาเม็ดความแรง 250 มิลลิกรัม แบ่งครึ่งได้ ขนาดที่แนะนำไว้ คือ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง โดยรับประทานยาพร้อมอาหาร อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบเช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเดิน เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ คัน เกิดลมพิษ ปวดกล้ามเนื้อ

อ้างอิงจาก:

(1) Webb CM, Cabada MM. Recent developments in the epidemiology, diagnosis, and treatment of Fasciola infection. Curr Opin Infect Dis 2018;31:409-14; (2) World Health Organization. Fascioliasis diagnosis, treatment and control strategy. https://www.who.int/foodborne_trematode_infections/fascioliasis/fascioliasis_diagnosis/en/; (3) Egaten (triclabendazole). Highlights of prescribing information. revised: 2/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/208711s000lbl.pdf

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
หนอนพยาธิ worm helminth พยาธิใบไม้ในตับ liver fluke หนอนพยาธิตัวแบน โรคมะเร็งท่อน้ำดี Opisthorchis viverrini Opisthorchis felineus Clonorchis sinensis Dicrocoelium dendriticum Eurytrema pancreaticum Fasciola gigantica Fasciola hepatica
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้