การคิดค้นยาใหม่ออกสู่ท้องตลาดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีทั้งชนิดที่เป็นยาเคมีสังเคราะห์ (synthetic chemical drugs) และยาชีววัตถุ (biologic drugs) นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง การที่ยามีความแตกต่างกันทั้งด้านโครงสร้าง ต้นกำเนิดหรือแหล่งที่มา กลไกการออกฤทธิ์ ตลอดจนเซลล์หรือเนื้อเยื่อเป้าหมายที่ไปออกฤทธิ์ จึงมีการจัดระบบการเรียกชื่อยาเพื่อบ่งบอกถึงความแตกต่างที่กล่าวมา ซึ่งตัวอย่างข้างล่างนี้เป็นข้อมูลที่เพิ่มเติมจากข่าวยาเรื่อง
ชื่อยายุคใหม่...บอกข้อมูลเบื้องต้นได้ (ตอนที่ 1)
อักษร 4 ตัวต่อท้ายชื่อหลัก (core name) ของยาประเภทชีววัตถุ ใช้เพื่อระบุว่าเป็นชื่อเฉพาะสำหรับยาแต่ละชนิด (proper name) เนื่องจากยาประเภทชีววัตถุซึ่งแม้จะมีการสังเคราะห์ขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้เหมือนกันทุกอย่างกับยาชีววัตถุต้นแบบ จึงเป็นเพียงยาชีววัตถุคล้ายคลึง (biosimilars) อักษร 4 ตัวดังกล่าวใช้ตัวพิมพ์เล็กและไม่มีความหมายใดๆ เติมท้ายชื่อหลักโดยมี hyphen คั่น ตัวอย่างเช่น replicamab-cznm และ replicamab-hjxf เมื่อชื่อหลักคือ replicamab หรือ putonastim alfa-jnzt และ putonastim alfa-kngx เมื่อชื่อหลักคือ putonastim alfa ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่วางจำหน่ายแล้วโดยใช้การระบุชื่อดังกล่าว ซึ่งมีทั้งยาชีววัตถุต้นแบบและยาชีววัตถุคล้ายคลึง ตัวอย่างยา เช่น erenumab-aooe (Aimovig), fremanezumab-vfrm (Ajovy), galcanezumab-gnlm (Emgality), filgrastim-sndz (Zarxio), infliximab-dyyb (Inflectra), infliximab-abda (Renflexis)
นอกเหนือจากนี้ผู้ผลิตอาจเติมคำข้างหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนกับยาเดิม เช่น การเติม “ado-” เป็นว่า ado-trastuzumab emtansine (ยานี้เป็น antibody-drug conjugate) เพื่อให้ต่างจาก trastuzumab
คำลงท้าย “-rsen” สำหรับยาในกลุ่ม antisense oligonucleotides ตัวอย่างยา เช่น fomivirsen (ใช้รักษา cytomegalovirus retinitis), mipomersen (ใช้รักษา homozygous familial hypercholesterolemia), eteplirsen (ใช้รักษา Duchenne muscular dystrophy), nusinersen (ใช้รักษา spinal muscular atrophy)
คำลงท้าย “-stim” สำหรับยาในกลุ่ม colony stimulating factors หากเป็น “-grastim” จะหมายถึงชนิดที่เป็น granulocyte colony stimulating factor (G-CSF) ตัวอย่างยา เช่น filgrastim, lenograstim และหากเป็น “-gramostim” จะหมายถึงชนิดที่เป็น granulocyte macrophage colony stimulating factor (GM-CSF) ตัวอย่างยา เช่น sargramostim
คำลงท้าย “-relin” สำหรับยาในกลุ่ม pituitary hormone release-stimulating peptides หากเป็น “-morelin” จะหมายถึงชนิดที่เป็น growth hormone release-stimulating peptides ตัวอย่างยา เช่น sermorelin, tesamorelin และหากเป็น “-tirelin" จะหมายถึงชนิดที่เป็น thyrotropin releasing hormone analogs ตัวอย่างยา เช่น taltirelin
คำลงท้าย “-relix” สำหรับยาในกลุ่ม gonadotropin releasing hormone (GnRH) inhibiting peptides ตัวอย่างยา เช่น cetrorelix, degarelix
คำลงท้าย “-tocin” สำหรับยาในกลุ่ม oxytocin derivatives ตัวอย่างยา เช่น carbetocin
คำลงท้าย “-pressin” สำหรับยาในกลุ่ม vasopressin derivatives ตัวอย่างยา เช่น desmopressin
คำลงท้ายหรือคำกลาง “-calcet/-calcet-” สำหรับยาในกลุ่ม calcium-sensing receptor (CaSR) agonists หรือ calcimimetic agents (ออกฤทธิ์เลียนแบบแคลเซียมที่เนื้อเยื่อ) ตัวอย่างยา เช่น cinacalcet, etelcalcetide
คำข้างหน้า “som-” สำหรับยาในกลุ่ม growth hormone derivatives ตัวอย่างยา เช่น somapacitan
อ้างอิงจาก:
(1) Guidance on the use of international nonproprietary names (INNs) for pharmaceutical substances. Geneva: World Health Organization; 2017. http://apps.who.int/medicinedocs/documents/s23392en/s23392en.pdf; (2) U.S. Department of Health and Human Services, Food and Drug Administration. Labeling for biosimilar products guidance for industry, July 2018. https://www.fda.gov/media/96894/download; (3) Pre-stems: suffixes used in the selection of INN. World Health Organization; 2019. https://www.who.int/medicines/services/inn/Prestem_Suffixes_201810.pdf?ua=1