หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาต้านไทรอยด์ (carbimazole, methimazole)...เตือนถึงความเสี่ยงต่อการทำให้ลูกในท้องพิการ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2562 -- อ่านแล้ว 9,291 ครั้ง
 
ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) ในหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับมารดาและทารกในครรภ์ ยาต้านไทรอยด์ (antithyroid drugs) ในกลุ่ม thioamides (หรือ thionamides) ได้แก่ propylthiouracil (PTU), carbimazole และ methimazole (อีกชื่อหนึ่งคือ thiamazole) ล้วนผ่านรกได้และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ จัดอยู่ใน US pregnancy category D อย่างไรก็ตามในรายที่จำเป็นต้องใช้ยา มีการนำ propylthiouracil มาใช้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ส่วนยาอื่นอาจนำมาใช้หลังจากพ้นไตรมาสแรกไปแล้ว ซึ่ง carbimazole เป็น prodrug เปลี่ยนเป็นเมแทบอไลต์ที่ออกฤทธิ์คือ methimazole ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมน อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญ คือ กดการทำงานของไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด (ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำและเกล็ดเลือดต่ำ) และเกิดภาวะตับอักเสบ

ข้อมูลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาและจากรายงานผู้ป่วยเฉพาะรายเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดทารกพิการแต่กำเนิด (congenital malformations) เมื่อมารดาใช้ยา carbimazole หรือ methimazole ขณะตั้งครรภ์โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกนั้นมีกล่าวถึงเรื่อยมา ความผิดปกติของทารกที่พบ เช่น ภาวะที่ไม่มีผิวหนังปกคลุมบางส่วนแต่กำเนิด (aplasia cutis congenita), ภาวะกะโหลกศีรษะและหน้าผิดปกติจากความพิการแต่กำเนิด (craniofacial malformations), ภาวะผนังท้องพิการทำให้อวัยวะในช่องท้องโผล่ (exomphalos), ภาวะหลอดอาหารตีบตันแต่กำเนิด (esophageal atresia), ภาวะบกพร่องในพัฒนาการของ omphalo-mesenteric duct และภาวะผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (ventricular septal defect) จากข้อมูลเหล่านี้เป็นการเพิ่มหลักฐานที่สนับสนุนถึงความเสี่ยงของยาในการทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดเมื่อมารดาใช้ยา carbimazole หรือ methimazole ขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาขนาดสูง (กรณี carbimazole ขนาดยา ≥15 มิลลิกรัมต่อวัน) ในช่วงไตรมาสแรก ด้วยเหตุนี้หน่วยงาน Pharmacovigilance Risk Assessment Committee (PRAC) ของ European Medicines Agency (EMA) และในสหราชอาณาจักร โดยหน่วยงาน Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA) เห็นควรให้มีการปรับปรุงเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ carbimazole และ methimazole (ในสหราชอาณาจักรเตือนเฉพาะ carbimazole เนื่องจากไม่มียา methimazole) เพื่อเตือนสตรีที่ตั้งครรถ์หรือมีศักยภาพที่จะครรภ์ถึงความเสี่ยงที่จะให้กำเนิดทารกพิการดังกล่าวข้างต้น ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาควรมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพ การใช้ยาเหล่านี้ช่วงตั้งครรภ์ควรได้รับการประเมินอย่างเข้มงวดแล้วว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ และใช้ยาในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษาเท่านั้น (โดยไม่มีการให้ไทรอยด์ฮอร์โมน) เมื่อมีการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ควรเฝ้าติดตามผลที่อาจเกิดขึ้นกับมารดา ทารกในครรภ์และทารกแรกคลอด

อ้างอิงจาก:

(1) PRAC recommendations on signals, adopted at the 26-29 November 2018 PRAC meeting. EMA/PRAC/826440/2018; (2) Carbimazole: increased risk of congenital malformations; strengthened advice on contraception. Drug Safety Update volume 12, issue 7: February 2019:1; (3) Delitala AP, Capobianco G, Cherchi PL, Dessole S, Delitala G. Thyroid function and thyroid disorders during pregnancy: a review and care pathway. Arch Gynecol Obstet 2019;299:327-38.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน hyperthyroidism ยาต้านไทรอยด์ antithyroid drugs thioamides thionamides propylthiouracil PTU carbimazole methimazole thiamazole US pregnancy category D กดการทำงานของไขกระดูก โรคโลหิตจาง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ภาวะเม็
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้