ฮอร์โมนคุมกำเนิด...เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหรือไม่?
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มกราคม ปี 2562 -- อ่านแล้ว 11,072 ครั้ง
ฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นยาที่มีประโยชน์มาก อย่างไรก็ตามมีข้อกังวลถึงผลกระทบต่ออารมณ์จนอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า (depression) ข้อมูลจากศึกษามีทั้งพบความสัมพันธ์และไม่พบความสัมพันธ์ของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดกับผลกระทบต่ออารมณ์และการเกิดภาวะซึมเศร้า กรณีที่พบว่ามีความสัมพันธ์กัน เช่น การศึกษาที่ประเทศเดนมาร์กในผู้หญิงจำนวนกว่า 1.06 ล้านคนที่มีอายุ 15-34 ปี รายงานว่าการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดมีสัมพันธ์กับการใช้ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) และการได้รับการวินิจฉัยเป็นครั้งแรกว่าเป็นโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในวัยรุ่น (adolescents) และเมื่อไม่นานมานี้ผู้ทำการศึกษากลุ่มเดิมได้รายงานอีกว่า ในประเทศเดนมาร์กมีผู้หญิงจำนวนเกือบ 5 แสนคน อายุเฉลี่ย 21 ปีที่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นเวลาเฉลี่ย 8.3 ปี (3.9 ล้าน person-years) พบผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นครั้งแรก 6,999 รายและมีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น 71 ราย เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดแล้วความเสี่ยงต่อความพยายามฆ่าตัวตายคิดเป็น 1.97 เท่า (95% CI=1.85-2.10) และความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายคิดเป็น 3.08 เท่า (95% CI=1.34-7.08) ซึ่งความเสี่ยงต่อความพยายามฆ่าตัวตายแยกตามประเภทของฮอร์โมนคุมกำเนิดได้เป็น ฮอร์โมนรวมแบบรับประทานมี 1.91 เท่า (95% CI=1.79-2.03) ฮอร์โมนโพรเจสตินอย่างเดียวแบบรับประทานมี 2.29 เท่า (95% CI=1.77-2.95) ฮอร์โมนแบบวงแหวนสอดช่องคลอด (vaginal ring) มี 2.58 เท่า (95% CI=2.06-3.22) และฮอร์โมนแบบแผ่นแปะผิวหนังมี 3.28 เท่า (95% CI=2.08-5.16) ความเสี่ยงดังกล่าวเกิดสูงสุดช่วง 2 เดือนแรกของการใช้ยา อีกการศึกษาหนึ่งที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ เป็นการศึกษาที่ประเทศเกาหลีในผู้หญิงจำนวน 27,067 คน อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปที่รับประทานยาคุมกำเนิด พบความเสี่ยงต่อการมีความคิดและพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย (suicidality) เทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทานคิดเป็น 1.13 เท่า (95% CI=1.00-1.24) อย่างไรก็ตามความคิดในการฆ่าตัวตายมีปัจจัยที่ซับซ้อนหลายอย่างซึ่งอาจรบกวนผลการศึกษาเหล่านี้ได้ ส่วนกรณีที่ไม่พบความสัมพันธ์ของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดกับการรบกวนต่ออารมณ์และภาวะซึมเศร้า เช่น การศึกษาที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ เป็นการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในผู้หญิงวัยรุ่นอายุ 13-18 ปี จำนวน 4,765 คน ซึ่งไม่พบความสัมพันธ์ของการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดกับการเกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างใช้ยาและพบอาการผิดปกติ (OR=0.82, 95% CI=0.50-1.35) หรือผู้ที่เคยใช้ยาและเคยเกิดอาการผิดปกติไม่ว่าช่วงใด (OR=1.10, 95% CI=0.88-1.37)
อย่างไรก็ตามแม้ผลการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าตลอดจนความคิดฆ่าตัวตายจะยังไม่ชัดเจน บางหน่วยงานให้คำแนะนำว่าควรมีการคัดกรองเบื้องต้นเกี่ยวกับความคิดฆ่าตัวตายในผู้หญิงที่จะเริ่มใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นครั้งแรกโดยเฉพาะวัยรุ่น เพื่อหาทางป้องกันหรือให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้หน่วยงาน Pharmacovigilance Risk Assessment Committee (PRAC) ของ European Medicines Agency (EMA) ให้เพิ่มคำเตือนลงในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ของฮอร์โมนคุมกำเนิดด้วยข้อความทำนองว่า “อารมณ์ซึมเศร้าและภาวะซึมเศร้าเป็นอาการไม่พึงประสงค์ของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดซึ่งเป็นที่ทราบกันดี ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดรุนแรงและเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของพฤติกรรมที่เกี่ยวการฆ่าตัวตาย ผู้หญิงควรพบแพทย์หากเกิดอารมณ์เปลี่ยนแปลงและมีอาการซึมเศร้า แม้เกิดภายหลังเริ่มใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดได้ไม่นาน”
อ้างอิงจาก:
(1) Skovlund CW, Mørch LS, Kessing LV, Lidegaard Ø. Association of hormonal contraception with depression. JAMA Psychiatry 2016;73:1154-62; (2) Skovlund CW, Mørch LS, Kessing LV, Lange T, Lidegaard Ø. Association of hormonal contraception with suicide attempts and suicides. Am J Psychiatry 2018;175:336-42; (3) Jung SJ, Cho SMJ, Kim HC. Association of oral contraceptive use with suicidal behavior among representative Korean population: Results from Korea National Health and Nutrition Examination Survey (2007-2016). J Affect Disord 2019;243:8-15; (4) McKetta S, Keyes KM. Oral contraceptive use and depression among adolescents. Ann Epidemiol 2019;29:46-51; (5) Pharmacovigilance Risk Assessment Committee (PRAC). New product information wording – Extracts from PRAC recommendations on signals, 29 October 2018, EMA/PRAC/689237/2018.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ฮอร์โมนคุมกำเนิด
hormonal contraception
ภาวะซึมเศร้า
depression
ยาต้านซึมเศร้า
antidepressants
โรคซึมเศร้า
adolescents
ความเสี่ยงต่อความพยายามฆ่าตัวตาย
ความเสี่ยงของฮอร์โมนรวม
โพรเจสติน
ฮอร์โมนแบบวงแหวนสอดช่องคลอด
vaginal ring
ฮอร์โมนแบ