หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เลือกใช้ “น้ำตาเทียม” อย่างไรให้เหมาะสม

โดย นศภ.พิชามญชุ์ ยอดรัก ภายใต้คําแนะนําของ ผศ.ดร.ภญ.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 7 กันยายน พ.ศ.2565 -- 25,124 views
 

รู้จักน้ำตาเทียม[1-3]

น้ำตาเทียม (artificial tears) เป็นเภสัชภัณฑ์หรือยาหยอดตารูปแบบหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นหรือหล่อลื่นแก่ดวงตา และอาจใช้ทดแทนน้ำตาตามธรรมชาติได้ น้ำตาเทียมช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองดวงตา อาการตาแห้ง รวมทั้งสามารถนำมาใช้เป็นสารหล่อลื่นดวงตาเมื่อมีการใช้คอนแทคเลนส์ หรือใช้ทดแทนน้ำตาตามธรรมชาติหลังการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับดวงตา

ทั้งนี้คนทั่วไปอาจสับสนระหว่างน้ำตาเทียมกับยาหยอดตา แต่แท้จริงแล้ว “น้ำตาเทียม” เปรียบเสมือนเป็นสารหล่อลื่นของดวงตาที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับน้ำตาตามธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาและลดการระคายเคือง รวมทั้งสามารถเลือกซื้อได้ด้วยตัวเองตามร้านยาทั่วไป ในขณะที่ “ยาหยอดตา” จะมีส่วนประกอบของตัวยาเพื่อใช้รักษาอาการของโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงตา เช่น ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ใช้ลดอาการอักเสบของดวงตา ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของยาแก้แพ้ใช้รักษาภูมิแพ้เยื่อบุตาหรือลดอาการตาแดง ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียของดวงตา เป็นต้น โดยยาหยอดตานั้นต้องใช้อย่างถูกวิธี มีระยะเวลาการใช้ที่เหมาะสม ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

ประโยชน์ของน้ำตาเทียม

น้ำตาเทียมมีประโยชน์อย่างมากในผู้ที่มีภาวะน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตาแห้ง ภาวะนี้มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่มีการทำงานของต่อมน้ำตาลดลง โดยพบมากในหญิงสูงอายุที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนและทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตาแห้งง่ายกว่าคนทั่วไป สำหรับกลุ่มคนอื่น ๆ ที่มักมีปัญหาตาแห้ง ได้แก่ ผู้ที่ทำงานอยู่กลางแจ้ง สัมผัสกับลมโดยตรง หรือมีการทำงานในอากาศที่ร้อนและแห้ง ซึ่งสภาวะเหล่านี้ล้วนส่งผลให้น้ำหล่อเลี้ยงในลูกตาระเหยออกไปมากกว่าปกติ นอกจากนี้ในปัจจุบันการใช้เวลาทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น ทั้งในเรื่องของระยะเวลาและความถี่ที่ต้องใช้ดวงตาเพ่งมองหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจอของอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในการทำงานตามปกติ เรียนออนไลน์ ตลอดจนการทำงานที่บ้าน (work from home) ก็ทำให้ประสบปัญหากับอาการตาแห้งเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ส่วนประกอบหลักในน้ำตาเทียม[1-4]

ส่วนประกอบของน้ำตาเทียมจะระบุไว้ที่ข้างกล่องบรรจุภัณฑ์หรือที่ฉลากข้างขวด โดยสารออกฤทธิ์หลักประกอบไปด้วยสารช่วยหล่อลื่นดวงตา (lubricants) เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา ทั้งนี้น้ำตาเทียมบางประเภทจะมีส่วนประกอบของสารกันเสีย (preservative) ที่ช่วยให้ยาสามารถคงสภาพได้นานตลอดการใช้งาน และเพื่อป้องกันการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อน โดยสารช่วยหล่อลื่นดวงตาและสารกันเสียแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังแสดงตัวอย่างในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ตัวอย่างสารช่วยหล่อลื่นดวงตาและสารกันเสียในน้ำตาเทียม

ส่วนประกอบ

สารตัวอย่าง

คุณสมบัติ

สารหล่อลื่น(lubricants)[1,3-5]

Carboxymethylcellulose sodium (Carmellose®)

เพิ่มความหนืด กักเก็บความชุ่มชื้นได้ดี ยึดเกาะกับผิวกระจกตาได้นาน

Hydroxypropyl methylcellulose (Hypromellose®)

เพิ่มความหนืด กักเก็บความชุ่มชื้นได้ดี ยึดเกาะกับผิวกระจกตาได้นาน เพิ่มความหนาของฟิล์มน้ำตา

Sodium hyaluronate

เพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยสมานแผล ซ่อมแซมผิวกระจกตา

Glycerin

เพิ่มความหนืด กักเก็บความชุ่มชื้น ลดการระเหยของน้ำตา ไม่ต้องหยอดบ่อย

Polyethylene glycol

เพิ่มความหนืด กักเก็บความชุ่มชื้น ยึดเกาะกับผิวกระจกตาได้นาน

สารกันเสีย (preservative)[1,5]

Benzalkonium chloride

ฆ่าเชื้อได้ดี แต่อาจทำลายเซลล์ผิวของกระจกตาและทำให้ฟิล์มน้ำตาแตกตัวได้มาก ไม่ควรใช้ในผู้ที่สวมใส่คอนแทคเลนส์ หรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้เป็นระยะเวลานาน

Stabilized oxychloro complex (Purite®)

ฆ่าเชื้อได้ดี เมื่อสัมผัสแสงแดดจะสลายกลายเป็นน้ำและเกลือซึ่งปลอดภัยต่อกระจกตา

Sodium perborate

ฆ่าเชื้อได้ดี เมื่อหยอดยาจะสลายกลายตัวเป็นน้ำและออกซิเจนซึ่งปลอดภัยต่อกระจกตา

ชนิดของน้ำตาเทียม[2-3,5]

น้ำตาเทียมที่มีวางขายตามท้องตลาดในปัจจุบันมีให้เลือกใช้หลากหลายแบบ ซึ่งจะสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานตามรูปแบบของเภสัชภัณฑ์ ได้แก่ ชนิดเจลขี้ผึ้ง (ointment) ซึ่งเป็นน้ำตาเทียมที่มีความหนืดมาก ระเหยค่อนข้างช้า ทำให้สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้นาน เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาตาแห้งในระดับปานกลางถึงรุนแรง แต่ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวก็อาจทำให้ตาพร่ามัวได้ จึงแนะนำให้ใช้ก่อนนอน และไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีการสวมใส่คอนแทคเลนส์ อีกประเภท คือ ชนิดสารละลาย (solution) ซึ่งเป็นน้ำตาเทียมที่อยู่ในรูปของสารละลายใสไม่มีสี มีความหนืดน้อย ทำให้ใช้ง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ ไม่ทำให้ตาพร่ามัว แต่ก็อาจต้องหยอดตาบ่อยในระหว่างวัน

ทั้งนี้น้ำตาเทียมยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามรูปแบบการใช้งานตามบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ 1) น้ำตาเทียมแบบรายเดือน (multiple-dose) และ 2) น้ำตาเทียมแบบรายวัน (single-dose) โดยรูปแบบการใช้งานตามบรรจุภัณฑ์ของน้ำตาเทียมนั้น มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของคุณสมบัติและการใช้งาน ดังที่แสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ชนิดของน้ำตาเทียมตามรูปแบบการใช้งานตามบรรจุภัณฑ์

น้ำตาเทียมแบบรายเดือน

(multiple-dose)

น้ำตาเทียมแบบรายวัน

(single-dose)

น้ำตาเทียมชนิดนี้จะบรรจุอยู่ในขวด สามารถเปิดใช้ได้หลายครั้ง แต่ใช้งานได้ประมาณ 30 วันหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย และเนื่องจากน้ำตาเทียมชนิดนี้มีสารกันเสียผสม จึงไม่ควรใช้ในผู้ที่แพ้สารกันเสียหรือใช้คอนแทคเลนส์ ราคาค่อนข้างย่อมเยา

น้ำตาเทียมชนิดนี้บรรจุอยู่ในกระเปาะขนาดเล็ก แต่ละกระเปาะควรเปิดใช้ให้หมดแบบวันต่อวัน นั่นคือประมาณ 24 ชั่วโมงหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก เนื่องจากน้ำตาเทียมชนิดนี้ปราศจากสารกันเสีย จึงเหมาะแก่ผู้ที่แพ้สารกันเสีย หรือผู้ที่จำเป็นต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ราคาค่อนข้างสูง

ข้อควรระวังและข้อแนะนำในการใช้น้ำตาเทียม[6]

ถึงแม้น้ำตาเทียมจะค่อนข้างมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงควรปฏิบัติตามข้อควรระวังและข้อแนะนำในการใช้งานทั่วไป ดังนี้

- ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้

- ไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น

- เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องและเก็บในที่แห้ง

- ระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดสัมผัสกับดวงตาขณะหยอด

- หากใส่คอนแทคเลนส์อยู่ ให้ถอดออกก่อนใช้ทุกครั้ง แล้วค่อยใส่กลับเข้าไปใหม่หลังจากหยอดประมาณ 10 นาที

- หลังเปิดใช้ครั้งแรก น้ำตาเทียมแบบรายเดือนมีอายุการใช้งาน 30 วัน ไม่ควรใช้ต่อหากยังคงมีน้ำตาเทียมเหลืออยู่ในขวด

- หลังเปิดใช้ครั้งแรก น้ำตาเทียมแบบรายวันมีอายุการใช้งาน 24 วัน ไม่ควรใช้ต่อหากยังคงมีน้ำตาเทียมเหลืออยู่ในกระเปาะ

- อาจทำให้มีอาการตาพร่า แสบตา หรือระคายเคืองตาได้บ้างหลังใช้ ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถหรือทำงานที่เสี่ยงต่ออันตรายจนกว่าดวงตาจะมองเห็นได้ชัดเจนตามปกติ

- อาจรู้สึกขมในคอหลังใช้ สามารถลดการเกิดอาการดังกล่าวโดยใช้นิ้วมือกดหัวตาเบา ๆ เป็นเวลา 5 นาที หลังหยอด

- หากเกิดอาการแพ้หรืออาการผิดปกติ เช่น มีการระคายเคืองที่ผิดปกติ ตาพร่ามัวจนมองเห็นผิดปกติแม้เวลาผ่านไปสักพักแล้ว แสบตา ปวดตา ให้หยุดใช้ทันที หากหยุดใช้แล้วยังคงมีอาการให้รีบไปพบแพทย์

การเลือกใช้งานน้ำตาเทียมควรพิจารณาให้เหมาะสมกับความสะดวก ระยะเวลาในการใช้ และเหมาะกับระดับความรุนแรงของอาการ โดยดูจากคุณสมบัติของส่วนประกอบหลักในน้ำตาเทียมอย่างเช่นสารหล่อลื่นที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน แม้ว่าในปัจจุบันจะสามารถหาซื้อน้ำตาเทียมได้ทั่วไป แต่ประสิทธิผลของการใช้งานย่อมต้องมาคู่กับความปลอดภัย ดังนั้นควรเลือกใช้น้ำตาเทียมภายใต้ข้อควรระวังและคำแนะนำที่เหมาะสม เพื่อให้การใช้งานน้ำตาเทียมสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้สูงสุด

แหล่งอ้างอิง

  1. NHS West Essex Clinical Commissioning Group. Dry Eye Treatment Guideline [Internet] 2017. [cited 7 May 2022] Available at : https://westessexccg.nhs.uk/your-health/medicines-optimisation-and-pharmacy/clinical-guidelines-and-prescribing-formularies/11-eye/109-dry-eye-guidelines/file
  2. ภัทริน พันธุมิตร. “ตาแห้ง” โรคใกล้ตัวที่ใครก็เป็นได้ [Internet] 2016. [cited 7 May 2022] Available at: https://www2.gpo.or.th/Portals/6/Newsletter/RDINewsYr23No3-7.pdf
  3. เปรมจิต เศาณานนท์. ยาหยอดตาที่ใช้บ่อยและข้อควรระวัง. ใน: เปรมจิต เศาณานนท์, บรรณาธิการ. จักษุจุฬา. กรุงเทพฯ: ภาควิชาจักษุวิทยาคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2557.
  4. Kathuria A, Shamloo K, Jhanji Vand and Sharma A. Categorization of Marketed Artificial Tear Formulations Based on Their Ingredients: A Rational Approach for Their Use [Internet] 2019. [cited 7 May 2022] Available at: https://mdpi-res.com/d_attachment/jcm/jcm-10-01289/article_deploy/jcm-10-01289.pdf?version=1616306347
  5. Kajabi. Ultimate Guide to Artificial Tears [Internet] 2019. [cited 7 May 2022] Available at: https://www.pamtheriot.com/blog/ultimate-guide-to-artificial-tears
  6. สภาเภสัชกรรม. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (สมรรถนะร่วม) พ.ศ. 2562. [Internet] 2019. [cited 7 May 2022] Available at: https://www.pharmacycouncil.org/index.php?option=content_detail&menuid=0&itemid=1433&catid=1


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
น้ำตาเทียม ยาหยอดตา ตาแห้ง
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้