ไมเกรน คือ โรคปวดหัวเรื้อรังชนิดหนึ่ง พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายมีลักษณะเด่นที่ต่างจากการปวดหัวทั่วไป คือ มักปวดหัวข้างเดียวหรือเริ่มปวดข้างเดียวแล้วลามไปทั้งสองข้าง มักรู้สึกปวดตุบ ๆ ตามจังหวะชีพจรระยะเวลาปวดมักนานหลายชั่วโมง อีกทั้งอาการแต่ละครั้งค่อนข้างรุนแรง[1] แม้ขณะทำกิจกรรมในชีวิต ประจำวันก็สามารถเกิดอาการปวดแทรกขึ้นมาได้ ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย นอกจากนี้บางรายอาจมีอาการเตือน (migraine with aura) เช่น มองเห็นแสงกระพริบ ๆ หรือสายตาพรามัว แต่บางรายก็ไม่มีอาการเตือนเหล่านี้ (migraine without aura) ทั้งนี้โรคปวดหัวไมเกรนจัดเป็นปัญหาที่ส่งผลรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนมากมายในปัจจุบัน[2]
แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัด เเต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของหลอดเลือดสมอง[1,2] (cranial vasodilation) หรืออาจเกิดจากความผิดปกติที่ระดับสารเคมีในสมอง ปัจจุบันเชื่อว่าไมเกรนถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ทั้งนี้ปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดไมเกรนมีหลายอย่าง เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อากาศที่เปลี่ยนแปลง กลิ่นบางชนิด แสงจ้า เป็นต้น[3,4]
ยาที่ใช้มี 2 กลุ่มหลัก คือ ยาที่ใช้เฉพาะเวลาปวดหัวและยาสำหรับป้องกันอาการปวดหัว
1. ยาที่ใช้เฉพาะเวลาปวดหัว (drugs for abortive treatment)[1,2,3,6]
เป็นยาที่รับประทานเมื่อมีอาการปวดหัวเกิดขึ้นแล้วสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ค่อนข้างเร็ว โดยอาจแบ่งยากลุ่มนี้ได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ยาสำหรับอาการปวดไม่รุนแรง และยาสำหรับอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง ทั้งนี้รายละเอียดในการใช้ยาแต่ละประเภทแสดงในตารางที่ 1 เป็นยาที่รับประทานเมื่อมีอาการปวดหัวเกิดขึ้นแล้ว สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ค่อนข้างเร็ว โดยอาจแบ่งยากลุ่มนี้ได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ยาสำหรับอาการปวดไม่รุนแรง และยาสำหรับอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง ทั้งนี้รายละเอียดในการใช้ยาแต่ละประเภทแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ข้อพึงรู้ของยาที่ใช้เฉพาะเวลาปวดหัวไมเกรน (drugs for abortive treatment)
ชื่อยา |
ข้อพึงรู้ในการใช้ยา |
ยาสำหรับอาการไม่รุนแรง |
|
พาราเซตามอล (paracetamol)[7] |
- เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้บรรเทาปวดทั่วไปรวมถึงไมเกรน เมื่อมีอาการไม่รุนแรงอย่างไรก็ตามไม่ควรกินยาต่อเนื่องเกิน 5 วัน ระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคตับ[8] - ไม่ควรรับประทานเกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน |
ยากลุ่มเอ็นเสด (non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs)[1,2,9-11] |
- ใช้มากในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวด บวม หรืออักเสบรวมทั้งปวดหัวไมเกรน - มียาหลายชนิด แต่ละชนิดมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกัน การเลือกยา เพื่อบรรเทาอาการปวดหัวจากไมเกรนจะเน้นเลือกที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว เช่น ไอบูพรอเฟน (Ibuprofen)[9] นาพรอกเซน โซเดียม (naproxen sodium)[10] และไดโคลฟีแนค โพแทสเซียม (diclofenac potassium)[11] - ระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีแผลในทางเดินอาหาร |
ยาสำหรับอาการปานกลางถึงรุนแรง |
|
เออโกทามีน (ergotamine)[1,3,12] |
- เป็นยาที่ให้ผลดีในการบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนเนื่องจากออกฤทธิ์ลดการขยายตัวของหลอดเลือดที่สมองโดยตรง - เนื่องจากยาสามารถทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัวได้ จึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดเลือดตามปลายมือปลายเท้า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดเนื้อตายได้ - ห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับ/ไตบกพร่องรุนแรง - สําหรับผลิตภัณฑ์ที่มีในประเทศไทยมักผสมเออโกทามีน 1 มิลลิกรัม กับคาเฟอีน (caffeine) 100 มิลลิกรัม โดยคาเฟอีนจะช่วยเสริมฤทธิ์แก้ปวด - ไม่ควรใช้เพื่อควบคุมอาการโดยรับประทานติดต่อกันทุกวัน เพราะเมื่อหยุดยาจะทำให้หลอดเลือดตอบสนองต่อยาลดลง ทำให้อาการปวดรุนแรงกว่าเดิม (rebound headache) - อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตสูง ชาตามมือตามเท้า - สามารถตีกับยาอื่นหลายชนิดซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรงได้ |
ยากลุ่มทริปแทน[1,13,14] |
- เป็นยาที่ให้ผลดีในการบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนเนื่องจากออกฤทธิ์ลดการขยายตัวของหลอดเลือดที่สมองโดยตรง - ออกฤทธิ์ได้จำเพาะเจาะจงกว่าเออโกทามีนจึงมีผลทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์น้อยกว่า - ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด - ซูมาทริปแทน (sumatriptan) และ อีลิทริปแทน (eletriptan) เป็นยากลุ่มนี้ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย - หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์แบบรุนแรง - อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ใจสั่น แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน |
2. ยาสำหรับป้องกันอาการปวดหัว (drugs for prophylactic treatment)[1,2,4]
เป็นยาที่ใช้เพื่อป้องกันในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวรุนแรงหรือเป็นบ่อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมากกว่า 2-3 ครั้งต่อเดือน ยากลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วยทุกคน โดยผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานานภายใต้การดูแลของแพทย์จึงจะสามารถช่วยลดความถี่และความรุนแรงได้ ทั้งนี้ยาที่มีข้อมูลว่าสามารถใช้ เพื่อป้องกัน อาการปวดหัวได้แสดงในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ข้อพึงรู้ของยาที่ใช้สำหรับป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน (drugs for prophylactic treatment)
ชื่อยา |
ข้อพึงรู้ในการใช้ยา |
ยาลดความดันกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (beta-blockers)[1,15,16] |
- ได้แก่ โพรพราโนลอล (propranolol) และเมโทโพรลอล (metoprolol) - ผลข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ง่วง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า การนอนผิดปกติ ฝันร้าย ซึมเศร้า - ห้ามใช้ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่คุมอาการได้ไม่ดี |
กลุ่มยาต้านซึมเศร้า[1,17] |
- ยาที่แนะนำได้แก่ อะมิทริปไทลีน (amitriptyline) - ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ - อาการข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ง่วง ปากคอแห้ง ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้อาเจียน |
ฟลูนาริซีน (flunarizine)[4,18] |
- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ - อาการข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ง่วง ปากคอแห้ง ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้อาเจียน |
กลุ่มยากันชัก[1,19,20] |
- ได้แก่ วาลโปรเอท (valproate) และ โทพิราเมท (topiramate) - ระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคตับ/ไต - อาการข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ง่วง มึนงง เวียนหัว อ่อนเพลีย |
กลุ่มยาต้านซีจีอาร์พี[1,4,21] |
- ซีจีอาร์พี (CGRP) ย่อมาจาก calcitonin gene-related peptide ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการปวดหัวไมเกรน ยาชื่ออิรินูแมบ (erenumab) มีฤทธิ์ต้าน CGRP จึงใช้ป้องกันการปวดหัวไมเกรนได้ - เป็นยาฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง - อาการข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ท้องผูก ตะคริว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ |