หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาบรรเทาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์...กับผลต่อหัวใจและหลอดเลือด

โดย นศภ.ธนกฤต จตุจินดา และ นศภ.นิตินันท์ สายเงิน ภายใต้คำแนะนำของ อ.ดร.ภก.สุรศักดิ์ วิชัยโย เผยแพร่ตั้งแต่ 2 มีนาคม พ.ศ.2565 -- 36,049 views
 

ปัจจุบันการหาซื้อยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบมาใช้เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ปวดศีรษะไมเกรน ปวดกระดูก ปวดข้อหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ทำได้ง่ายดายและสะดวกมาก แต่ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่ายาแก้ปวดแก้อักเสบมีหลายประเภท และยาเหล่านี้ยังมีข้อควรระวัง และอาการไม่พึงประสงค์ ที่แตกต่างกัน บทความนี้จึงนำเสนอข้อมูลของยากลุ่มที่เรียกว่า “ยาบรรเทาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์” ซึ่งเป็นหนึ่งในยาที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เรามาดูกันว่ายากลุ่มนี้มีผลเสีย ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างไร และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรปฏิบัติตัวอย่างไรหากต้องใช้ยาเหล่านี้

ยาบรรเทาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์คืออะไร

ยาบรรเทาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์สามารถเรียกย่อ ๆ ว่า “เอ็นเสด (NSAIDs)” ซึ่งมีชื่อเต็ม คือ “non-steroidal anti-inflammatory drugs” ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ที่เรียกว่า “ไซ-โคล-ออก-ซี-จิ-เนส (cyclooxygenase) หรือ ค็อกซ์ (COX)” ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่ 1 (หรือ COX-1) และชนิดที่ 2 (หรือ COX-2) โดยเมื่อยายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าว จะส่งผลลดการสร้างสารก่อการอักเสบและความปวด ทำให้การอักเสบลดลงและหายปวดได้[1,2]

ยากลุ่มนี้แบ่งตามความสามารถในการยับยั้ง COX แต่ละชนิด[2] ดังแสดงในตารางที่ 1 ซึ่งช่วยทำให้ทำนายอาการไม่พึงประสงค์ต่อหัวใจและหลอดเลือดของยาแต่ละชนิดได้

ตารางที่ 1 การแบ่งกลุ่มยา NSAIDs ตามความสามารถในการยับยั้ง COX แต่ละชนิด[2]

กลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์ COX

แบบไม่จำเพาะเจาะจง

กลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์ COX-2

ได้ดีกว่า COX-1

กลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์ COX-2 มากที่สุด

แอสไพริน (aspirin)

เอโทโดแล็ก (etodolac)

เซเลค็อกสิบ (celecoxib)

ไดโคลฟีแน็ก (diclofenac)

เมล็อกซิแคม (meloxicam)

เอทอริค็อกสิบ (etoricoxib)

เฟอร์บิโพรเฟน (flurbiprofen)

นิเมซูไลด์ (nimesulide)

พาเรค็อกสิบ (parecoxib)

ไอบูโพรเฟน (ibuprofen)

อินโดเมทาซิน (indomethacin)

คีโทโพรเฟน (ketoprofen)

เมเฟนามิกแอซิด (mefenamic acid)

นาบูมีโทน (nabumetone)

นาพร็อกเซน (naproxen)

ไพร็อกซิแคม (piroxicam)

ซูลินแด็ก (sulindac)

เทน็อกซิแคม (tenoxicam)

ผลของยากลุ่ม NSAIDs ต่อหัวใจและหลอดเลือด

ผลต่อหัวใจและหลอดเลือดที่อาจเกิดจากการรับประทานยากลุ่ม NSAIDs มีรายละเอียดดังนี้

ผลต่อการทำงานของไตและโรคความดันโลหิตสูง (hypertension)[3,4]

ยากลุ่ม NSAIDs ส่งผลให้หลอดเลือดในร่างกายหดตัวโดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไต ทำให้การทำงานของไตลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ในผู้ป่วยบางราย (พบประมาณร้อยละ 4)[5] รวมถึงยังมีผลลดการขับออกของ โซเดียมและน้ำจนเกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย ทำให้มีความดันโลหิตสูงขึ้น 5-6 มิลลิเมตรปรอท หลังจาก รับประทานยาติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์[6] และส่วนใหญ่ความดันโลหิตจะกลับมาเป็นปกติ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากหยุดยา

ผลต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด (thrombosis)[2]

ยา NSAIDs ที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ COX-2 ได้มากอาจทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันได้ง่ายขึ้น เพิ่ม ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดมากกว่ายาที่ยับยั้งเอนไซม์ COX-1 ได้ดี ซึ่งอาจส่งผลต่อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอด ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน ภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย โดย NSAIDs แต่ละชนิดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าวได้แตกต่างกัน เช่น ผู้ป่วยที่รับประทานยา NSAIDs ที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ COX-2 ได้มาก ตั้งแต่ 4 วันขึ้นไปต่อเดือน เป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่ามีความเสี่ยงของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยา 2 เท่า ส่วนผู้ที่ใช้ยา NSAIDs กลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์ COX แบบไม่จำเพาะเจาะจง จะมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในหลอดเลือดดำมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยา 1.3 เท่า[7] นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย พบว่าผู้ที่ใช้ยา NSAIDs ที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ COX-2 ได้มาก จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ใช้ยา NSAIDs ในกลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์ COX แบบไม่จำเพาะเจาะจงประมาณ 1.5 เท่า[8]

ผลต่อโรคหัวใจล้มเหลว (heart failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันสามารถเกิดได้จากผลของยา NSAIDs ที่ทำให้เกิดการคั่งของน้ำ อีกทั้ง ความดันโลหิตที่สูงขึ้นส่งผลให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น หรือเกิดจากผลของยา NSAIDs ที่ทำให้มีลิ่มเลือดหรือ เกิดก้อนเลือดอุดตันบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนถึงกล้ามเนื้อตายได้ ดังนั้น สาเหตุที่กล่าวมานี้สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ นอกจากนั้นการเกิดภาวะไตวาย เฉียบพลัน ความดันโลหิตสูง และภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดยังสามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ป่วย หัวใจล้มเหลวเรื้อรังมีอาการแย่ลงและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ ซึ่งพบว่ายา NSAIDs เป็นสาเหตุกระตุ้น การกำเริบของภาวะหัวใจล้มเหลวประมาณร้อยละ 32[9]

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในการใช้ยากลุ่ม NSAIDs

ข้อมูลต่อไปนี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นทั่วไป ผู้ป่วยแต่ละรายล้วนมีสภาวะเฉพาะตัวซึ่งทำให้เหมาะหรือไม่เหมาะสมในการใช้ยาแตกต่างกันไป จึงควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาเหล่านี้

- ยา NSAIDs ชนิดทาภายนอก สามารถใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเป็นยาใช้เฉพาะที่จึงดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย และไม่ทำให้เกิดผลที่ได้กล่าวไปข้างต้น

- แนะนำให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงหลีกเลี่ยงการใช้ยา NSAIDs และหากจำเป็นต้องใช้ แนะนำให้รับประทานยาขนาดต่ำที่สุดที่สามารถบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 1-2 สัปดาห์ พร้อมทั้งวัดติดตามความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ารับประทานยาแล้วมีความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติ ควรหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์

- เมื่อรับประทานยา NSAIDs แนะนำดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปที่ไต ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดไตวายเฉียบพลันได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีโรคร่วมที่ต้องจำกัดปริมาณน้ำในแต่ละวันควรจำกัดน้ำตามคำแนะนำของแพทย์

- ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา NSAIDs เนื่องจากยาอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้

- ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันมันในเลือดสูง หรือมีโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ อยู่ก่อน เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ชนิดที่มีความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์ COX-2 ได้มาก เช่น เซเลค็อกสิบ เอทอริค็อกสิบ พาเรค็อกสิบ เป็นต้น

- หากผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจำเป็นต้องใช้ยากลุ่ม NSAIDs แนะนำให้ใช้ยานาพร็อกเซนในขนาดต่ำที่สุดและใช้เป็นระยะเวลาสั้นที่สุด เนื่องจากมีการศึกษาแสดงให้เห็นว่ามีความปลอดภัยในผู้ป่วยกลุ่มนี้มากกว่ายา NSAIDs ชนิดอื่น[10]

บทสรุป

ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า “ยาบรรเทาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์” ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้น มีทั้งประโยชน์และโทษ โดยเฉพาะหากใช้ยาไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ที่รุนแรงได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้เพียงช่วยให้ผู้ป่วยได้ตระหนัก แต่ไม่ควรตระหนกมากเกินไปเกี่ยวกับยากลุ่มนี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ก่อนใช้ยากลุ่ม NSAIDs ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อให้ได้รับคำแนะนำทั้งเกี่ยวกับการใช้ยาและการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. ธงชัย ก่อสันติรัตน์. ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์. Journal of Medicine and Health Sciences 2553; 17:98-113.
  2. ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs) [Internet]. Med.mahidol.ac.th. 2021 [cited 22 June 2021]. Available from: https://med.mahidol.ac. th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/NSAIDS.pdf
  3. Olesen TBE, Fenton AR. Is there a role for PGE2 in urinary concentration?. Journal of the American Society of Nephrology 2013; 24:169–78.
  4. Dixit M, Doan T, Kirschner R, Dixit N. Significant acute kidney injury due to non-steroidal anti-inflammatory drugs: inpatient setting. Pharmaceuticals 2010; 3:1279–85.
  5. Gutthann SP, Rodriguez LAG, Raiford DS, Duque OA, Ris RJ. Non-steroidal antiinflam- matory drugs and the risk of hospitalization for acute renal failure. Archives of Internal Medicine 1996; 156:2433-9.
  6. White BW. Cardiovascular effects of the cyclooxygenase inhibitors. Hypertension 2007; 49:408-18.
  7. Kinsey TL, Stürmer T, Funk MJ, Poole C, Simpson RJ, Glynn RJ. Incidence of venous thromboembolism following initiation of non-steroidal anti-inflammatory drugs in U.S. women. Rheumatology (Oxford) 2020; 59:2502-11.
  8. Kearney PM, Baigent C, Godwin J, Halls H, Emberson JR, Patrono C. Do selective cyclo-oxygenase-2 inhibitors and traditional non-steroidal anti-inflammatory drugs increase the risk of atherothrombosis? meta-analysis of randomised trials. British Medical Journal 2006; 332:1302-8.
  9. Janprempree K. Clinical characteristics and therapy of patients with acute heart failure in a community hospital: a study of Danchang hospital, Suphanburi. Sawanpracharak Medical Journal 2021; 8:11-26.
  10. Angiolillo DJ, Weisman SM. Clinical pharmacology and cardiovascular safety of naproxen. American Journal of Cardiovascular Drugs 2017; 17:97-107.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาบรรเทาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เอ็นเสด โรคหัวใจและหลอดเลือด NSAIDs
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้