จุดประสงค์และประโยชน์ของการใช้ยาสูดพ่น
องค์การอนามัยโลกประมาณการในปีพ.ศ. 2562 ว่ามีผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 262 และ 212 ล้านราย โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดอยู่ที่ 461,000 และ 3.28 ล้านราย ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 27 และอันดับที่ 3 ของประชากรทั่วโลกตามลำดับ[1,2] โรคทั้งสองจึงจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตหากควบคุมอาการได้ไม่ดี การรักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยบรรเทาอาการขณะเกิดการกำเริบของโรคและควบคุมอาการของโรคได้ โดยยาที่ผู้ป่วยต้องใช้เป็นประจำ คือ ยาสูดพ่นเข้าสู่ทางเดินหายใจบริเวณหลอดลมและปอดเพื่อให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่และรวดเร็ว เนื่องจากการสูดพ่นยาแต่ละครั้งจะมีปริมาณยาเพียง 10-40% เท่านั้นที่ถูกส่งเข้าไปยังบริเวณหลอดลมและปอด ที่เหลืออีกประมาณ 60-90% จะตกค้างอยู่ที่เครื่องสูดพ่นยาและบางส่วนก็ตกค้างในช่องปาก ลำคอและทางเดินอาหาร[3] ดังนั้นเพื่อให้ยาเข้าสู่ปอดได้มากขึ้น ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและลดการเกิดผลข้างเคียง การใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับรูปแบบของยาสูดพ่นแต่ละประเภทจึงมีความสำคัญมาก[4,5]
ในประเทศไทยมักใช้ยาสูดพ่น 2 รูปแบบ ได้แก่ metered dose inhaler (MDI) และ dry powder inhaler (DPI)[5]
Metered dose inhaler (MDI)
Metered dose inhaler (MDI) เป็นเครื่องพ่นยาที่ใช้มานาน กะทัดรัด ราคาถูก และเหมาะอย่างยิ่งกับการใช้ในภาวะฉุกเฉิน เช่น มีอาการหอบเหนื่อยกำเริบ เพราะไม่ต้องใช้แรงสูดลมหายใจมาก แต่จะอาศัยเทคนิคพ่นยาให้สัมพันธ์กับการหายใจเข้า (hand-breath coordination) ภายใน MDI จะมีตัวยาสำคัญอยู่ในรูปสารละลายหรือสารแขวนลอย และสารขับดันที่มีสัดส่วนมากถึง 80% การกด MDI แต่ละครั้งจะพ่นตัวยาสำคัญออกมาด้วยแรงดันก๊าซของสารขับดัน โดยเมื่อผ่านวาล์ว (metering valve) ที่บริเวณปากพ่นจะทำให้ได้ละอองฝอยของยาที่ขนาดตัวยาสำคัญใกล้เคียงกันในทุกการกด[6] MDI ทุกชนิดมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันและใช้เทคนิคในการสูดพ่นยาที่เหมือนกัน (รูปที่ 1)
ขั้นตอนสำคัญที่มักผิดพลาดในสูดพ่นยาแบบ MDI
1. เขย่าหลอดยาในแนวตั้ง 3-4 ครั้ง[8,9] เนื่องจากตัวยาสำคัญที่อยู่ใน MDI เป็นรูปแบบสารแขวนลอยที่อาจตกตะกอนเมื่อตั้งทิ้งไว้ ดังนั้นก่อนใช้จึงควรเขย่าหลอดยาให้ตัวยาสำคัญกระจายตัวเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้ได้รับขนาดยาที่ครบถ้วนและสม่ำเสมอ[10] นอกจากนี้การถือเครื่อง MDI ในแนวตั้งโดยให้ด้านกดยาอยู่ข้างบนและด้านปากหลอดพ่นยาอยู่ด้านล่างยังมีความสำคัญ เพราะหากถือในทิศทางกลับหัวหรือทิศแนวนอนจะส่งผลให้พ่นตัวยาสำคัญออกมาได้ไม่ดี
2. หายใจเข้าช้า ๆ และลึก ๆ ทางปากพร้อมกับกดที่พ่นยา 1 ครั้ง[8] ในการกด MDI 1 ครั้ง สารขับดันภายในเครื่องจะพ่นตัวยาสำคัญออกมาด้วยความเร็ว ทำให้ตกค้างบริเวณช่องปากและลำคอได้มาก ดังนั้นการหายใจเข้าช้า ๆ และลึก ๆ พร้อมกับกดที่พ่นยาจะช่วยลดการตกค้าง และนำส่งยาไปยังบริเวณหลอดลมและปอดได้ดีขึ้น[10]หากต้องการพ่นยาซ้ำให้ทำขั้นตอนทั้งหมดจนครบถ้วนก่อนแล้วจึงพ่นใหม่ เพราะการกดพ่นยาหลายครั้งต่อการหายใจเข้า 1 รอบ จะทำให้ยาตกค้างบริเวณช่องปากมากกว่าเดิม[9]
3. กลั้นหายใจประมาณ 10 วินาที หรือให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ[8,9] การกลั้นหายใจเป็นการเพิ่มเวลาให้ตัวยาสำคัญถูกนำส่งไปถึงหลอดลมและปอด มีระยะเวลาอยู่ที่บริเวณออกฤทธิ์นานขึ้น หากหายใจเร็วจะทำให้ตัวยาบางส่วนถูกขับออกมาพร้อมลมหายใจ[10]
4. ทำความสะอาดปากหลอดพ่นด้วยน้ำสะอาด เช็ดด้วยกระดาษซับให้แห้ง ปิดฝาครอบให้เรียบร้อยหลังใช้เสร็จ[8] เนื่องจากตัวยาสำคัญบรรจุในภาชนะบรรจุยา ดังนั้นจึงสามารถใช้น้ำทำความสะอาดบริเวณปากหลอดพ่นยาได้ หลังจากนั้นปิดฝาครอบปากหลอดพ่นยาเพื่อลดการสะสมของฝุ่นผงและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่อาจเข้าสู่ทางเดินหายใจขณะสูดพ่นในครั้งถัดไปได้
Dry powder inhaler (DPI)
Dry powder inhaler (DPI) เป็นเครื่องสูดพ่นยาที่พกพาสะดวกมีรูปแบบให้เลือกหลายชนิดเหมาะกับ ผู้ที่มีแรงสูดลมหายใจเข้าที่มากพอ เนื่องจากในเครื่อง DPI จะไม่มีสารขับดันจึงต้องบริหารยาด้วยแรงสูดของตนเอง เท่านั้น ไม่ต้องใช้เทคนิคพ่นยาให้สัมพันธ์กับการหายใจเข้า ภายใน DPI จะบรรจุตัวยาสำคัญในรูปผงแห้งที่เกาะอยู่กับสารเพิ่มปริมาณยาเพื่อให้ตัวยากระจายได้ดี ไม่เกาะกลุ่มกันขณะเก็บรักษา ซึ่งการสูด DPI แต่ละครั้งจะต้องใช้แรงสูดลมหายใจเข้าที่มากเพื่อให้ตัวยาสำคัญหลุดออกจากสารเพิ่มปริมาณกลายเป็นละอองยาและมีเพียงตัวยาสำคัญที่ไปสู่ตำแหน่งออกฤทธิ์[6] DPI มีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและใช้เทคนิคการสูดพ่นแตกต่างกัน (รูปที่ 2)
ขั้นตอนสำคัญที่มักผิดพลาดในสูดพ่นยาแบบ DPI
1. เตรียมเครื่องก่อนสูด[10] เนื่องจากผลิตภัณฑ์ DPI มีหลายรูปแบบ ทำให้มีความหลากหลายในขั้นตอนการเตรียมยาให้พร้อมใช้ที่เฉพาะกับตัวเครื่องจนอาจเกิดความสับสนได้[11] โดยประเด็นสำคัญมีดังนี้
Easyhaler แม้ว่า easyhaler จะต้องเขย่าหลอดยาในแนวตั้งและมีลักษณะภายนอกคล้าย MDI แต่หลังจากเขย่าแล้วจะต้องใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดหลอดยาสูดและฐานเข้าหากันจนได้ยินเสียง “คลิก” แสดงว่า ยาบรรจุในตำแหน่งที่พร้อมสำหรับสูด กรณียาหมด สังเกตได้จากช่องบอกจำนวนยาด้านข้าง จะปรากฎเลข 0[8]
Accuhaler ถือตัวเครื่องในแนวราบ การเปิดเครื่องจะไม่มีฝาครอบตรงบริเวณที่สูดแต่จะใช้การเลื่อนแกนเปิดออกจากตัวจนสุด ให้ได้ยินเสียง “คลิก” แสดงว่า ยาบรรจุในตำแหน่งที่พร้อมสำหรับสูด กรณียาหมด สังเกตได้จากช่องบอกจำนวนยาด้านข้าง จะปรากฎเลข 0[8]
Turbuhaler ถือตัวเครื่องในแนวตั้งตรง (แตกต่างจากขั้นตอนขณะสูดที่ถือในแนวนอน) ให้ปลายสำหรับสูดอยู่ด้านบน โดยเมื่อเปิดฝาครอบออกจะต้องทำการบิดฐานไปทางขวาและซ้ายจนได้ยินเสียง “คลิก” แสดงว่า ยาบรรจุในตำแหน่งที่พร้อมสำหรับสูด กรณียาหมด สังเกตได้จากช่องบอกจำนวนยาด้านข้าง จะปรากฎเลข 0[8]
Breezhaler และ handihaler เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องบรรจุเม็ดยาจากแผงยาเข้าไปในตัวเครื่องก่อนการสูดทุกครั้ง หลังใส่เม็ดยาลงในช่องแล้วปิดปากกระบอกจนได้ยินเสียง “คลิก” จะมีอีกขั้นตอนสำคัญ คือ ต้องกดปุ่มปล่อยเข็มเข้าไปเจาะเม็ดยาก่อน ยาถึงจะถูกบรรจุสำหรับพร้อมสูด ให้แกะยาออกจากแผงเมื่อต้องการใช้เท่านั้น และเมื่อสูดตามขั้นตอนทั้งหมดจนครบถ้วนต้องทิ้งเปลือกแคปซูลทุกครั้ง[8]
2. ระวังอย่าพ่นลมหายใจเข้าไปในเครื่อง[8,11] ในขั้นตอนหายใจออกจากปากก่อนสูดพ่นยา จะต้องระวังไม่ให้ลมหายใจเข้าไปในเครื่อง DPI เพราะอาจมีความชื้นปนเปื้อนเข้าไปข้างในตัวเครื่อง[10] ส่งผลให้ตัวยาสำคัญในรูปผงแห้งที่เกาะอยู่กับสารเพิ่มปริมาณหลอมรวมกัน ตัวยาสำคัญจะหลุดออกเป็นละอองยายากและเสี่ยงต่อการอุดตันภายในตัวเครื่อง
3. สูดลมหายใจเข้าทางปากโดยผ่านเครื่องมือให้เร็ว แรง และลึก แล้วเอาเครื่องออกจากปาก[8] เนื่องจากในเครื่อง DPI จะไม่มีสารขับดันในการช่วยส่งยาเข้าสู่บริเวณออกฤทธิ์ จึงต้องใช้แรงสูดลมหายใจเข้าที่มากพอ เร็วและลึกในการทำให้ตัวยาสำคัญหลุดออกจากสารเพิ่มปริมาณ จนเกิดละอองยาเข้าไปถึงบริเวณหลอดลมและปอดได้[10]
4. ทำความสะอาดโดยผ้าหรือกระดาษทิชชูให้สะอาด ห้ามใช้น้ำล้าง แล้วทำการปิดฝาให้สนิท[8] เพราะอาจมีความชื้นปนเปื้อนเข้าไปข้างในตัวเครื่อง[10] ส่งผลให้ตัวยาสำคัญในรูปผงแห้งที่เกาะอยู่กับสารเพิ่มปริมาณหลอมรวมกัน ตัวยาสำคัญจะหลุดออกเป็นละอองยายากและเสี่ยงต่อการอุดตันภายในตัวเครื่อง
เอกสารอ้างอิง