ถ้ากล่าวถึงปัญหาสุขภาพกวนใจที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เชื่อว่าทุกคนต้องเคยประสบปัญหาแผลในปาก ซึ่งสร้างความรำคาญใจและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก เนื่องจากช่องปากเป็นอวัยวะที่เราใช้ ทั้งการรับประทาน การพูด หรือแม้แต่การกลืนน้ำลาย เมื่อเกิดแผลในปาก ความเจ็บปวดจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยแผลที่เกิดขึ้นมักพบบริเวณเยื่อบุช่องปาก ริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม เหงือกและลิ้น บทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุและประเภทของแผลในปาก ผลิตภัณฑ์ยารักษาแผลในปากที่มีจำหน่ายในท้องตลาด วิธีการใช้ยาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อาการไม่พึงประสงค์ รวมถึงประเด็นคำถามที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับแผลในปาก
ลักษณะและสาเหตุ รวมทั้งหลักการรักษาการเกิดแผลในปากแต่ละลักษณะ มีรายละเอียดดังนี้
แผลจากการบาดเจ็บภายในช่องปาก สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ การกัดกระพุ้งแก้มขณะเคี้ยว หรือแผลจากการทำทันตกรรม แผลที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะเป็นฝ้าขาว อักเสบคล้ายแผลร้อนใน หรืออาจมีเลือดออกเหมือนแผลสด โดยแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บสามารถกลับเป็นซ้ำได้หากยังไม่มีการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น การที่ผู้ป่วยฟันแตกหรือบิ่นที่มีความแหลมคม สามารถบาดลิ้นหรือกระพุ้งแก้มจนเกิดแผลซ้ำได้ รวมถึงพบในผู้ป่วยที่ใส่ฟันปลอม โดยการรักษาเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถบ้วนปากด้วยน้ำเกลือหรือใช้ยาป้ายปากเพื่อบรรเทาอาการ และหากมีอาการปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวด นอกจากนี้แนะนำให้ผู้ป่วยเคี้ยวอาหารอย่างระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดการระคายแผล เช่น อาหารเปรี้ยวจัด อาการเผ็ด เป็นต้น
แผลร้อนใน เป็นแผลที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย และแผลดังกล่าวมักเป็นๆ หายๆ สร้างความรำคาญใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเกิดแผลร้อนในยังไม่ชัดเจน ปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดแผลร้อนใน เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ความเครียด การขาดสารอาหารบางชนิด เป็นต้น ลักษณะของแผลร้อนในเป็นแผลตื้นๆ ที่มีการอักเสบ ขอบแผลมีสีแดงและด้านในแผลเป็นสีขาว มีได้หลากหลายขนาด และผู้ป่วยบางรายอาจมีแผลร้อนในได้มากกว่าหนึ่งจุด โดยแผลร้อนในมักเกิดขึ้นบนเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปาก เช่น กระพุ้งแก้ม ลิ้ม เหงือก ริมฝีปากด้านใน โดยหากผู้ป่วยเกิดแผลร้อนในสามารถบ้วนปากด้วยน้ำเกลือหรือใช้ยาป้ายปากเพื่อบรรเทาอาการ แนะนำให้ดื่มน้ำบ่อยขึ้น รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้แนะนำให้ใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กและขนนุ่มเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกแผลในปาก
แผลจากการสัมผัสสารเคมี ซึ่งการสัมผัสกับสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนหรือมีความเข้มข้นสูงภายในช่องปากสามารถทำให้เกิดแผลเปื่อยและการอักเสบได้ แผลชนิดนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูง การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้น้ำยาบ้วนปาก โดยหากเกิดแผลจากการสัมผัสสารเคมี แนะนำให้ไปพบทันตแพทย์
แผลจากการติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิดภายในช่องปาก เช่น เชื้อไวรัสเริม สามารถทำให้เกิดแผลเปื่อยภายในช่องปาก รวมถึงสามารถกลับมาเป็นแผลติดเชื้อซ้ำได้ โดยมักพบตุ่มน้ำขึ้นที่เยื่อบุริมฝีปาก เพดานปาก เหงือกและลิ้น สามารถแตกเป็นแผลตื้นได้ ซึ่งแผลลักษณะนี้เป็นข้อห้ามใช้ของยาป้ายปากที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ดังนั้นผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาการติดเชื้อหากมีตุ่มน้ำเกิดขึ้นภายในช่องปาก
แผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการทำเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาจทำให้เกิดแผลอักเสบภายในปาก ลักษณะของแผลที่เกิดขึ้นมักมีการอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อนกระจายอยู่ทั่วบริเวณช่องปาก สามารถเพิ่มขนาดได้ อย่างไรก็ตามแผลประเภทนี้ต้องได้รับการติดตามดูแลจากแพทย์ที่ทำการรักษา และเน้นใช้น้ำยากลั้วปากที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์หรือยาชา ซึ่งแผลในลักษณะนี้ไม่สามารถใช้ยาป้ายปากได้ คำแนะนำเบื้องต้นคือ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดทุกชนิด ผลไม้เปรี้ยวจัด อาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด เพราะระคายเคืองต่อเยื่อบุในช่องปากและจะทำให้การผลิตน้ำลายลดลง ทำให้เยื่อบุช่องปากแห้งมากขึ้น แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุช่องปากจำพวกอาหารอ่อน เย็น เช่น ไอศกรีม แตงโม วุ้น เต้าฮวยเย็น เป็นต้น
ยารักษาแผลในปาก หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า “ยาป้ายปาก” จัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ ใช้ได้เฉพาะกับแผลในช่องปาก โดยผลิตภัณฑ์แต่ละรูปแบบมีลักษณะเนื้อสัมผัสและกลิ่นที่แตกต่างกัน ยารูปแบบเพสต์ (paste) มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้ง ซึ่งมีผงยาที่ไม่ละลายผสมอยู่ด้วยประมาณร้อยละ 20-50 จึงมีเนื้อสัมผัสที่ค่อนข้างสาก ส่วนยารูปแบบเจล มีลักษณะเป็นเจลขุ่นหรือใสที่มีตัวยาละลายอยู่ โดยจะมีเนื้อสัมผัสที่เนียนละเอียดกว่าเพสต์ รูปแบบยาป้ายปากที่มีขายในท้องตลาดสามารถแบ่งกลุ่มตามตัวยาสำคัญได้ ดังนี้
กลุ่มยา |
ตัวยาสำคัญ |
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ |
สเตียรอยด์ |
Triamcinolone acetonide 0.1% |
Kenalog, Trinolone, Kanolone, Lonna gel, Viomint, Oracortia, Kena-lite, T-ora paste |
ยาชา |
Lidocaine hydrochloride 2% |
Kamistad N |
Polidocanol 1% |
Solcoseryl dental adhesive paste* |
|
สารสกัดจากสมุนไพร |
สารสกัดจากดอกมะลิ ชะเอมเทศ ตรีผลาและฮอกวีด |
Himalaya hiora-S |
สารสกัดจากเกล็ดสะระแหน่และน้ำมันสะระแหน่ |
Khaolaor mouth gel |
|
ยาลดอาการปวดและอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ |
Choline salicylate |
Bongela |
*มี protein-free haemodialysate (5%) เป็นส่วนประกอบสำคัญซึ่งมีฤทธิ์ช่วยปกป้องแผลและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อ
แม้ยาป้ายปากแต่ละรูปแบบจะมีส่วนประกอบของตัวยาที่แตกต่างกัน แต่ทุกรูปแบบมีข้อบ่งใช้ที่เหมือนกัน คือ เพื่อรักษาและบรรเทาอาการเบื้องต้น โดยการเลือกใช้ยาป้ายปากจะขึ้นอยู่กับลักษณะของแผลและความรุนแรงของอาการ
การใช้ยาป้ายปากในรูปแบบของเพสต์ ควรป้ายยาลงไปบางๆ บริเวณแผล เนื่องจากยารูปแบบดังกล่าวจะดูดความชื้นแล้วก่อตัวเป็นฟิล์มทำให้ยาสามารถเกาะติดกับแผลได้ หากผู้ป่วยป้ายยาปริมาณเยอะเกินไปจะทำให้ยาเป็นผงร่วน ไม่สามารถเกาะติดกับแผล ส่วนยารูปแบบเจลซึ่งมีเนื้อเนียนละเอียดกว่าเพสต์ แนะนำให้ทาบางๆ เช่นเดียวกับเพสต์ สามารถถูวนได้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแต่ละผลิตภัณฑ์ สำหรับช่วงเวลาทายาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้น สเตียรอยด์ ยาลดอาการปวดและอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และยากลุ่มสมุนไพร แนะนำให้ป้ายหลังทานอาหารหรือก่อนนอนเพื่อให้ยาอยู่ติดนาน ส่วนยาชาแนะนำให้ป้ายก่อนทานอาหารเพื่อให้ยาออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวด
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ ส่วนมากพบในยากลุ่มสเตียรอยด์ โดยอาจทำให้ คัน ระคายเคืองภายในช่องปาก เกิดรอยแดง ถ้ามีการใช้ยาเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เยื่อบุบริเวณช่องปากบางลง จึงไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 10-14 วัน
สเตียรอยด์…อันตรายหรือไม่ สเตียรอยด์ที่ใช้ในยาป้ายปาก เช่น triamcinolone acetonide จัดอยู่ในกลุ่มความแรงปานกลาง และเนื่องด้วยรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาทำให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ มีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อยมาก ประกอบกับแผลในปากสามารถหายได้เองภายใน 10-14 วัน ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้ยาเพียงระยะสั้น ทำให้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ในรูปแบบอื่น
ขณะใช้ยา กลืนน้ำลายได้หรือไม่ หลายคนอาจมีความกังวลใจว่าขณะใช้ยาป้ายแผลในปากสามารถกลืนน้ำลายได้หรือไม่ จริงๆ แล้วสามารถกลืนน้ำลายได้ และแม้ว่าจะเผลอกลืนยาลงไปด้วยก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด เนื่องจากส่วนประกอบในยาป้ายปากมีความปลอดภัย สามารถกลืนได้
เก็บรักษาอย่างไร ควรเก็บรักษายาให้พ้นจากความร้อน หลีกเลี่ยงแสงแดดและเก็บให้พ้นมือเด็ก
ข้อแนะนำอื่นๆ กรณีมีแผลเรื้อรังในช่องปาก รักษาไม่หายเป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 10-14 วัน) มีฝ้าขาวหรือแดงบริเวณเยื่อบุช่องปาก แผลมีขนาดใหญ่ขึ้น คลำเจอตุ่มหรือก้อน หากสังเกตหรือพบเจออาการเหล่านี้แนะนำให้ไปพบแพทย์
1. Bilodeau E, Lalla R. Recurrent oral ulceration: Etiology, classification, management, and diagnostic algorithm. J Periodontol 2019; 80(1):49-60.
2. Bernard JH. Mouth Sores and Inflammation [internet]. 2020 [cited 2021 Jun 30]. Available from: https://www.msdmanuals.com/home/mouth-and-dental-disorders/symptoms-of-oral-and-dental-disorders/mouth-sores-and-inflammation.
3. U.S. Pharmacopeial Convention. <1151> Pharmaceutical dosage forms. The United States Pharmacopeia 43 –The National Formulary 38 (USP43-NF38). Maryland: U.S. Pharmacopeial Convention; 2020.
4. วรางคณา ชิดช่วงชัย, ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางทันตกรรม. ม.ป.ท.: 2560.
5. MIMS Online Thailand. Triamcinolone acetonide [Internet]. 2021. Available from: https:www.mims.com/thailand/drug/info/triamcinolone%20acetonide?mtype=generic.
6. Kamistad N gel® [package insert]. Germany (NJ): STADA Arzneimittel AG; 2020.
7. Ramadas A, Jose R, Arathy S, Kurup S, Chandy M, Kumar S. Systemic absorption of 0.1% triamcinolone acetonide as topical application in management of oral lichen planus. Indian J Dent Res 2016; 27(3):230-5.
8. Kenalog ® in Orabase (Triamcinolone acetonide dental paste 0.1%) [package insert on the Internet]. Princeton: Bristol-Myers Squibb; 2002 [revised 2012 May; cited 2021Jul 6]. Available from: https://www.nps.org.au/medicine-finder/kenalog-in-orabase-paste.
9. Rowe RC, Sheskey PJ, Quinn ME. Handbook of Pharmaceutical Excipients. 6th Edition. Grayslake: Pharmaceutical Press; 2009.
10.Sankhla B, Sahni P, Nayak M. Aphthous ulcer: A Sourge. Dental Impact 2011; 3(2):31-6.
11.ภรณี ผ่องนพคุณ. แนวทางการดูแลภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบระดับรุนแรงในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอในช่วงระหว่างได้รับการรักษาด้วยเคมีบําบัดร่วมกับรังสีรักษา. วารสารสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย 2556;19(1):47-52.