หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาทารักษาสิว tretinoin ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

โดย นศภ.กานต์กวิน เกตภาพ และ นศภ.รสิตา ลีลาวรรณเขต ภายใต้คำแนะนำของ อ.ดร.ภก.กฤษฎา ศักดิ์ชัยศรี เผยแพร่ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2564 -- 194,868 views
 

Tretinoin เป็นชื่อสามัญของอนุพันธ์วิตามินเอ (เรตินอล) ที่มีใช้ทั้งโดยการรับประทานและเป็นยาภายนอก สำหรับ tretinoin ชนิดทาภายนอกมีทั้งที่ผลิตในรูปแบบเจลและครีมใช้ในการรักษาสิวชนิดโคมีโดน (comedonal acne) สิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน และสิวอักเสบ1 อย่างไรก็ตามการรักษาสิวด้วยยาทา tretinoin ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวกับการระคายเคืองผิวหนังบริเวณใบหน้าได้บ่อย ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดจากการใช้ยาปริมาณมากเกินไป หรือใช้บ่อยครั้งกว่าที่แนะนำ2 ดังนั้นการใช้ยาทา tretinoin อย่างถูกวิธีจึงมีความสำคัญ เพื่อให้การรักษาสิวมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยา

ยาทา tretinoin มีประโยชน์อย่างไร

ยาทา tretinoin ใช้สำหรับรักษาสิวระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยอาจใช้เสริมกับยารักษาสิวชนิดอื่น เช่น benzoyl peroxide ยาฆ่าเชื้อชนิดทาภายนอกหรือรับประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาสิว3 โดยยาทา tretinoin เร่งการสร้างและผลัดเซลล์โดยเฉพาะที่ผนังรูขุมขนเพื่อกำจัดเซลล์ผิวที่ตาย รวมทั้งยับยั้งการหลั่งสารสื่ออักเสบเพื่อลดกระบวนการอักเสบที่ก่อให้เกิดสิว4 ซึ่งยาทา tretinoin ที่พบในประเทศไทยอยู่ในรูปแบบครีมและเจล ความเข้มข้น 0.025% และ 0.05%2

วิธีการใช้ยาทา tretinoin ที่ถูกต้อง2

ก่อนเริ่มทายา tretinoin ควรทำความสะอาดใบหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน จากนั้นซับหน้าให้แห้ง แล้วรอประมาณ 20-30 นาที เนื่องจากผิวที่แห้งสนิทสามารถลดอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นจากยาทา tretinoin ได้ จากนั้นจึงทายาโดยในครั้งแรกควรเริ่มใช้ที่ความเข้มข้นต่ำ (0.025%) ทั้งนี้แนะนำให้บีบยาประมาณครึ่งนิ้วหรือน้อยกว่าลงบริเวณปลายนิ้วและทายาให้ทั่วใบหน้า วันละ 1 ครั้งก่อนนอน หรือทาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร ควรหลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบจมูก ปาก ตา และแผลเปิด สำหรับการรักษาด้วยยาทา tretinoin จะเห็นผลประมาณ 6 สัปดาห์ ดังนั้นจึงควรใช้ยานี้ตามที่ได้รับคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง กรณีลืมทายา สามารถเว้นการทาในครั้งนั้น แล้วทาในครั้งต่อไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาทา tretinoin เป็นสองเท่า และกรณีที่ต้องการทายา benzoyl peroxide เสริมในการรักษาสิว แนะนำให้ทายา benzoyl peroxide ในตอนเช้า และทายา tretinoin ก่อนนอน เพื่อป้องกันการระคายเคืองและผลข้างเคียงอื่นๆ

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทา tretinoin2,5

การใช้ยาทา tretinoin อาจทำให้เกิดอาการผิวแห้ง แสบ แดง คัน หรือระคายเคืองบริเวณผิวหนัง และมีความไวต่อแสงมากขึ้น จึงแนะนำให้ทาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นซึ่งอาจมีส่วนผสมของครีมกันแดดที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันบนใบหน้าในทุกเช้าหลังทำความสะอาดใบหน้า รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดด รวมถึงหลอดไฟยูวีด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แนะนำให้ทาครีมกันแดดหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถปกป้องบริเวณที่ทายา tretinoin จากการสัมผัสแสงแดดได้ ทั้งนี้หลังใช้ยาอาจมีอาการของสิวที่แย่ลงในระหว่าง 7-10 วันแรก จากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายเองเมื่อใช้ยาทา tretinoin อย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการใช้ยาทา tretinoin2,5

หากใช้ยาทา tretinoin มากเกินไป อาจทำให้ใบหน้าลอก แดง หรือรู้สึกไม่สบายบริเวณใบหน้า หากเกิดอาการเหล่านี้แนะนำให้หยุดใช้ยาจนกว่าอาการจะกลับมาเป็นปกติ แล้วค่อยเริ่มทายาใหม่อีกครั้ง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแพ้ยา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทา tretinoin ร่วมกับกรดซาลิซิลิก (salicylic acid) หรือแชมพูขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของซัลเฟอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ควรระมัดระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

บทสรุป

ยาทา tretinoin เป็นยารักษาสิวระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และสามารถใช้ร่วมกับยารักษาสิวชนิดอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการใช้ยาทา tretinoin อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้มากเกินไป เพราะฉะนั้นจึงควรใช้ยาทา tretinoin อย่างถูกต้องและเหมาะสม หากใช้ยาต่อเนื่องกันแล้วอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป แต่อาการของสิวไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนการรักษา สำหรับกรณีที่สามารถควบคุมสิวได้แล้ว แนะนำให้ใช้ยาทา tretinoin ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 6-12 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

เอกสารอ้างอิง

  1. Yoham AL, Casadesus D. Tretinoin. StatPearls [Internet]. 2021 [cited 2021 May 20] Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557478/
  2. RETIN-A® Cream Gel Liquid (tretinoin) [Internet]. 2002 [cited 2021 May 07]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2002/16921s21s22s25lbl.pdf
  3. Hauk L. Acne vulgaris: Treatment guidelines from the AAD. Am Fam Physician. 2017; 95(11):740-741.
  4. Leyden J, Stein GL, Weiss J. Why topical retinoids are mainstay of therapy for acne. Dermatol Ther (Heidelb). 2017; 7(3):293-304.
  5. Tretinoin topical [Internet]. 2019 [cited 2021 May 07]. Available from: https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682437.html


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
สิว tretinoin ทา ปลอดภัย
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้