หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อควรรู้ในการใช้ยาระบายมะขามแขก

โดย นศภ.ภาสกร สร้อยระย้า และ นศภ.สุประวีณ์ จรรยา ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.อัญชลี จินตพัฒนากิจ เผยแพร่ตั้งแต่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2564 -- 156,752 views
 

มะขามแขก (Senna alexandrina P. Miller) เป็นสมุนไพรไทยที่ใช้ในการบรรเทาอาการท้องผูกกันมาอย่างยาวนาน โดยนำใบแห้งหรือฝักแห้งมาต้มเพื่อรับประทาน มีทั้งที่ใช้ในรูปแบบสมุนไพรเดี่ยวและผสมร่วมกับสมุนไพรอื่น นอกจากนั้นมะขามแขกยังได้รับการพัฒนาเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบัน (ยาเม็ด) หรือยาพัฒนาจากสมุนไพร (ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาชง) อีกด้วย1 โดยยาเหล่านี้มีการควบคุมปริมาณสารออกฤทธิ์หลัก (sennoside A และ sennoside B) ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม2

การออกฤทธิ์ช่วยระบายของมะขามแขก

มะขามแขกมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ sennoside A และ sennoside B ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้จะถูกเปลี่ยนให้มีฤทธิ์ระบายด้วยการทำงานของเอนไซม์จากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ จากนั้นจึงออกฤทธิ์กระตุ้นผนังลำไส้ใหญ่ให้เกิดการการบีบตัว รวมทั้งยับยั้งการดูดน้ำกลับที่บริเวณลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดการขับถ่าย3,4

ขนาดและวิธีการยาระบายมะขามแขก

ปริมาณของสาร sennosides ที่แนะนำสำหรับบรรเทาอาการท้องผูก คือ 17.2-30 มิลลิกรัมต่อวัน โดยขนาดสูงสุดที่รับประทานได้ คือ 68.8 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับยาระบายมะขามแขกในรูปแบบเม็ดและแคปซูล แนะนำให้รับประทาน 2-4 เม็ด ก่อนนอน ส่วนในรูปแบบยาชง แนะนำให้รับประทานครั้งละ 2 กรัม ชงกับน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร ก่อนนอน5

อาการข้างเคียงจากการใช้ยาระบายมะขามแขก

อาการข้างเคียงทั่วไปที่พบ ได้แก่ ปวดเกร็งท้อง ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น1,6

ข้อควรระวังที่สำคัญ

  • ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้ท้องเสียจนเกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป รวมทั้งยังทำให้ลำไส้ใหญ่ชินต่อยา ส่งผลให้ไม่สามารถขับถ่ายได้ถ้าไม่ใช้ยาถ่าย7
  • หยุดใช้เมื่อมีเลือดออกจากทวารหนัก7
  • ควรระวังการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือในผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease)7
  • การรับประทานยาในขนาดสูงอาจทำให้เกิดไตอักเสบ7
  • ห้ามใช้ยาระบายมะขามแขกในผู้ที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดตัน (gastrointestinal obstruction) หรือปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ1

บทสรุป

มะขามแขกเป็นสมุนไพรไทยที่มีการพัฒนาให้อยู่ในรูปยาแผนปัจจุบันหรือยาพัฒนาจากสมุนไพรซึ่งถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก มีผลทำให้การถ่ายอุจจาระคล่องขึ้นและถ่ายเป็นเนื้อกึ่งเหลว อีกทั้งเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยหากใช้ตามคำแนะนำ อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้มะขามแขกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเพราะจะทำให้ลำไส้ใหญ่ชินต่อยา และไม่สามารถขับถ่ายได้ถ้าไม่ใช้ยาถ่าย

เอกสารอ้างอิง

  1. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2563 (2563, 29 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 137 ตอนพิเศษ 254 ง. หน้า 3. (เอกสารแนบท้ายประกาศ หน้า 318).
  2. World health organization. WHO monographs on selected medicinal plants. Geneva 1999; 1,241-8.
  3. Morinaga O, Uto T, Sakamoto S, Tanaka H, Shoyama Y. Enzyme-linked immunosorbent assay for total sennosides using anti-sennside A and anti-sennoside B monoclonal antibodies. Fitoterapia 2009; 80(1):28-31.
  4. Kon R, Ikarashi N, Nagoya C, Takayama T, Kusunoki Y, Ishii M, et al. Rheinanthrone, a metabolite of sennoside A, triggers macrophage activation to decrease aquaporin-3 expression in the colon, causing the laxative effect of rhubarb extract. J Ethnopharmacol 2014; 152(1):190-200.
  5. Senna monograph [Internet]. 2020 [cited 16 May 2021]. Available from: https://www.drugs.com/monograph/senna.html

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาระบาย ท้องผูก มะขามแขก
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้