หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตกขาวกับการใช้ยาเหน็บช่องคลอด

โดย โดย นศภ.อรปรียา หล้าอ่อน ภายใต้คำแนะนำของ อ.ดร.ภก.สุรศักดิ์ วิชัยโย เผยแพร่ตั้งแต่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2564 -- 425,836 views
 

ตกขาวและคันในช่องคลอดเป็นหนึ่งในอาการที่มักทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาเหน็บช่องคลอด อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังพบปัญหาการใช้ยาชนิดนี้อยู่บ้าง เช่น ผู้ป่วยไม่ยอมใช้ยาเพราะรู้สึกเจ็บช่องคลอดจากการที่เคยใช้ยาผิดวิธี หรือบางคนอาจสะดวกรับประทานยามากกว่า ในบทความนี้จึงขอกล่าวถึงการใช้ยาเหน็บช่องคลอดอย่างถูกวิธีสำหรับการรักษาอาการตกขาว

ตกขาวคืออะไร1,2

ตกขาวเป็นลักษณะปกติที่เกิดขึ้นได้ในผู้หญิงจากการที่ผนังด้านในช่องคลอดสร้างสารเมือกที่มีลักษณะคล้ายแป้งเปียกเพื่อช่วยหล่อลื่นช่องคลอด ช่วยขับสิ่งแปลกปลอม และปรับสภาพความเป็นกรดด่างในช่องคลอด แต่สารเมือกนี้ปกติแล้วมักไม่มีกลิ่นและไม่ทำให้เกิดอาการคันหรือระคายเคือง โดยปริมาณสารเมือกที่ออกมาเป็นลักษณะตกขาวจะแตกต่างกันในแต่ละคน ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสเตอโรน (progesterone) ในแต่ละรอบเดือนอาจส่งผลต่อปริมาณหรือลักษณะของตกขาวได้ โดยในช่วงกลางรอบเดือนหรือช่วงระยะไข่ตก (ประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน) ตกขาวที่ออกมาอาจมีลักษณะเหลวใสและมีปริมาณมากขึ้นได้ นอกจากนี้การที่ตกขาวมีปริมาณมากขึ้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การมีเพศสัมพันธ์ ออกกำลังกายหนัก หรือการใช้ยาคุมกำเนิด

ตกขาวผิดปกติเกิดจากอะไร และมีลักษณะอย่างไร3,4

ตกขาวที่ผิดปกติอาจพบได้ทั้งการเปลี่ยนแปลงของกลิ่นและสี (เช่น มีสีเหลืองหรือเขียว) หรือมีลักษณะข้นคล้ายตะกอนนม มีฟอง มีปริมาณมากผิดปกติ และอาจมีอาการคันหรืออักเสบบวมแดงที่อวัยวะเพศร่วมด้วย ลักษณะเหล่านี้ขึ้นกับสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น จากการติดเชื้อรา (vulvovaginal candidiasis) แบคทีเรีย (bacterial vaginosis) หรือพยาธิ (trichomoniasis) เป็นต้น นอกจากนี้พฤติกรรมบางอย่างอาจส่งเสริมให้เกิดตกขาวผิดปกติได้ง่าย เช่น การสวนล้างช่องคลอด การสอดอุปกรณ์เข้าช่องคลอดจนเกิดการอักเสบ การใส่เสื้อผ้าอับชื้น

ในปัจจุบันยารักษาอาการตกขาวผิดปกติมีทั้งชนิดรับประทานและยาเหน็บช่องคลอด เช่น กรณีตกขาวจากเชื้อราสามารถรักษาได้ด้วยยารับประทาน fluconazole (ฟลู-โค-นา-โซล) หรือยาเหน็บช่องคลอด clotrimazole (โคล-ไตร-มา-โซล)

ยาเหน็บช่องคลอด ใช้อย่างไร

ยาเหน็บช่องคลอดเป็นยาที่ใช้เฉพาะที่ โดยเหน็บหรือสอดเข้าไปภายในช่องคลอด ไม่ใช่ยารับประทาน ซึ่งการใช้ยาเหน็บช่องคลอดอาจทำได้ 2 วิธี คือ ใช้มือช่วยเหน็บยาหรือใช้อุปกรณ์ช่วยเหน็บยา (ซึ่งมีอยู่ในกล่องยา)

  1. กรณีใช้มือช่วยเหน็บยา ควรปฏิบัติดังนี้5
  • ล้างมือให้สะอาด
  • แกะยาออกจากซอง จุ่มน้ำเล็กน้อยประมาณ 1-2 วินาที จะช่วยให้เม็ดยานิ่มลื่นขึ้นเพื่อให้สอดเข้าช่องคลอดได้ง่าย
  • ท่าที่ใช้เหน็บ คือ นอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้นมา แยกขาเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ ใช้นิ้วมือดันยาเข้าช่องคลอดให้ลึกที่สุด โดยหันด้านที่มีลักษณะมนกว่าเข้า เพื่อลดอาการเจ็บและทำให้สอดได้ง่ายขึ้น
  • หลังจากสอดยาเข้าไปแล้ว นอนค้างสักครู่ (สามารถลดขาลงได้) ประมาณ 15 นาที เพื่อให้ยาไม่ไหลออกมาจากช่องคลอด (หรืออาจเหน็บก่อนนอน เพื่อเลี่ยงการลุกขึ้นเดินหลังจากใช้ยา)

ภาพจาก : https://www.wikihow.com/Insert-Progesterone-Suppositories-Without-an-Applicator

2. กรณีใช้อุปกรณ์ช่วยเหน็บยา ควรปฏิบัติดังนี้6

  • ล้างมือให้สะอาด
  • แกะยาออกจากซอง แล้วใส่ยาเข้าไปที่อุปกรณ์ช่วยสอด โดยหันด้านที่มีลักษณะมนกว่าให้โผล่ออกมาจากปลายเครื่องมือ เพื่อทำให้สอดได้ง่ายขึ้นและลดอาการเจ็บ
  • ท่าที่ใช้เหน็บ คือ นอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้นมา แยกขาเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ ดันอุปกรณ์ที่มียาเข้าช่องคลอดให้ลึกพอประมาณ ก่อนที่จะใช้นิ้วชี้กดปลายก้านสูบเพื่อปล่อยดันยาเข้าช่องคลอด แล้วค่อยนำอุปกรณ์ออกมา
  • นอนค้างสักครู่ (สามารถลดขาลงได้) ประมาณ 15 นาที เพื่อให้ยาไม่ไหลออกมาจากช่องคลอด (หรืออาจเหน็บก่อนนอน เพื่อเลี่ยงการลุกขึ้นเดินหลังจากใช้ยา)

ภาพจาก : http://www.safemedication.com/safemed/MedicationTipsTools/HowtoAdminister/How-to-Use-Vaginal-Tablets-Suppositories-and-Creams

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการใช้ยาเหน็บช่องคลอด5,6

  • ยาอาจละลายออกมาเลอะกางเกงชั้นในได้ ดังนั้นอาจใช้กระดาษชำระรองบริเวณกางเกงชั้นในขณะใช้ยา
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้องหรือตามฉลากระบุ ระมัดระวังการเก็บไว้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงเนื่องจากอาจทำให้ยาละลายได้
  • ในวันที่มีประจำเดือนสามารถเหน็บยาได้ตามปกติ
  • กรณีต้องเหน็บยาหลายวัน หากลืมเหน็บยา ให้เหน็บวันถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ข้อดีของการใช้ยาเหน็บช่องคลอด

  • ใช้ในกรณีผู้ป่วยรับประทานยาไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียน
  • ยารับประทานบางตัวมีรสชาติไม่ดี สามารถเปลี่ยนมาใช้ยาเหน็บช่องคลอดแทนได้
  • ยาเหน็บช่องคลอดสามารถลดอาการเฉพาะที่ได้เร็วกว่ายารับประทาน โดยประสิทธิภาพในการรักษาไม่แตกต่างกัน7

ข้อเสียหรือผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาเหน็บช่องคลอด8

  • การสอดยามีหลายขั้นตอน อาจทำให้ผู้ป่วยบางคนไม่สะดวกในการใช้ยา
  • ยาอาจละลายหรือรั่วไหลออกมาจากบริเวณช่องคลอดจนเปื้อนกางเกงชั้นใน
  • บางคนอาจมีอาการระคายเคือง แสบ หรือคันบริเวณช่องคลอด

การใช้ยาเหน็บช่องคลอดสำหรับรักษาอาการตกขาวผิดปกตินั้นแม้จะมีลำดับขั้นตอน แต่ปฏิบัติได้ไม่ยากและไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิด ซึ่งผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ได้เองจากการอ่านวิธีใช้ในฉลากยาหรือปรึกษาเภสัชกรร้านยาใกล้บ้าน ทั้งนี้หากใช้ยาเหน็บช่องคลอดอย่างถูกวิธี ประกอบกับปรับลดพฤติกรรมที่อาจส่งเสริมให้เกิดอาการดังกล่าว จะช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพและลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำได้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Beckmann C. Obstetrics and gynecology. Philadelphia: Wolters Kluwer Lippincott Williams & Wilkins; 2014.
  2. Johnson TC. Vaginal discharge: what’s abnormal? [Internet]. WebMD. 2020 [cited 20 January 2021]. Available from: https://www.webmd.com/women/guide/vaginal-discharge-whats-abnormal
  3. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558. กรุงเทพฯ: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข; 2558.
  4. Workowski K, Bolan G. Sexually transmitted diseases treatment guidelines, 2015. Atlanta: CDC; 2015.
  5. Vaginal suppositories: how to open & insert [Internet]. 2020 [cited 10 February 2021]. Available from: https://ctocrx.com/how-to-use-vaginal-suppositories/
  6. How to Use Vaginal Tablets, Suppositories, and Creams [Internet]. ashp. 2013 [cited 20 January 2021]. Available from: http://www.safemedication.com/safemed/MedicationTipsTools/HowtoAdminister/How-to-Use-Vaginal-Tablets-Suppositories-and-Creams
  7. Zhou X, Li T, Fan S, Zhu Y, Liu X, Guo X et al. The efficacy and safety of clotrimazole vaginal tablet vs. oral fluconazole in treating severe vulvovaginal candidiasis. Mycoses. 2016;59(7):419-28.
  8. Noriega C. How to insert vaginal suppositories [Internet]. 2020 [cited 10 February 2021]. Available from: https://www.wikihow.com/Insert-Vaginal-Suppositories

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ตกขาว ยาเหน็บช่องคลอด
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้