หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ลดไข้อย่างไรเมื่อเป็นโรคไข้เลือดออก

โดย นศภ.รภธิดา พณสหภาษณ์ ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 2 เมษายน พ.ศ.2564 -- 16,791 views
 

โรคไข้เลือดออกพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ซึ่งมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) หรือยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะนำโรค เชื้อนี้มีระยะฟักตัวในคนประมาณ 5-8 วัน และผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความรุนแรงของอาการแตกต่างกันตั้งแต่มีไข้สูงลอย 2-7 วัน มีอาการเลือดออก (ส่วนใหญ่พบที่ผิวหนัง) มีตับโต กดเจ็บ ไปถึงอาการที่รุนแรงจนช็อกและเสียชีวิต1 เนื่องจากโรคไข้เลือดออกมีการติดต่อจากยุงลาย ดังนั้นการป้องกันโรคสามารถทำได้โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน เช่น การเทน้ำทิ้งไม่ให้มีน้ำขังในภาชนะ ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขัง และเปลี่ยนน้ำในภาชนะทุกสัปดาห์ เป็นต้น2 ในปัจจุบันยังคงมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ข้อมูลจากกองโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 25633 ในประชากรทุก 100,000 คน จะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก 15.22 คน และในผู้ป่วยทุก 100 คน จะพบผู้ป่วยเสียชีวิต 9 คน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ได้แก่ มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หอบหืด การที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช้า และการรับประทานยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์ลดไข้ เช่น แอสไพริน และ ไอบูโพรเฟน เป็นต้น

เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดยากลุ่มเอ็นเสดซึ่งมีฤทธิ์ลดไข้จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิต และผู้ป่วยโรคนี้ควรจะได้รับยาลดไข้เพื่อบรรเทาอาการไข้สูงลอยอย่างไร บทความนี้จึงได้รวบรวมสาระสำคัญของการใช้ยาลดไข้ในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกไว้ ดังนี้

ยาลดไข้ที่ “ไม่แนะนำ”: ยากลุ่มเอ็นเสด เช่น แอสไพริน และ ไอบูโพรเฟน

แอสไพริน (aspirin หรือ acetyl salicylic acid) เป็นยากลุ่มเอ็นเสดที่ใช้ในขนาดสูงเพื่อแก้ปวด ลดอักเสบ ลดไข้ หรือใช้ในขนาดต่ำสำหรับป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีการศึกษาที่พบว่าการใช้แอสไพรินขนาดสูง (มากกว่า 1 กรัม) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้ เนื่องจากยาไปออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด4,5

ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เป็นยากลุ่มเอ็นเสดอีกชนิดหนึ่งที่มีใช้อย่างแพร่หลายในไทย และเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิต ไอบูโพรเฟนมีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ อาการปวด และลดไข้ แต่ยานี้มีผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้ โดยเฉพาะที่บริเวณทางเดินอาหาร ถึงแม้ไอบูโพรเฟนจะเป็นยาที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้น้อย แต่ในปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลการศึกษาถึงการใช้ไอบูโพรเฟนในผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก5

จากอาการไม่พึงประสงค์ของยากลุ่มเอ็นเสด ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงไม่ได้แนะนำให้ใช้แอสไพรินหรือไอบูโพรเฟนเพื่อลดไข้ในผู้ป่วยที่โรคไข้เลือดออก6

ยาลดไข้ที่ “แนะนำ”: พาราเซตามอล

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้พาราเซตามอล (paracetamol) เป็นยาลดไข้ในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก รวมทั้งผู้ที่มีไข้สูงด้วย6 โดยแม้ว่าพาราเซตามอลจะเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่การรับประทานในขนาดสูงอาจทำให้เกิดพิษต่อตับ ตับอักเสบ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับวายได้5 ปัจจุบันมีข้อมูลการศึกษาการใช้พาราเซตามอลในผู้ป่วยไทยที่เป็นโรคไข้เลือดออกพบว่าผู้ป่วยที่มีไข้สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส ซึ่งรับประทานพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง มีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้ตับทำงานผิดปกติ อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน7,8 ดังนั้นควรระวังการใช้พาราเซตามอลในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มีภาวะตับอักเสบร่วมด้วย และควรมีการตรวจติดตามการทำงานของตับอย่างใกล้ชิดภายใต้การดูแลของแพทย์

บทสรุป

หนึ่งในอาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ ไข้สูงลอย การรับประทานยาลดไข้จึงช่วยให้ไข้ลดลงได้ ดังนั้นการเลือกใช้ยาลดไข้ให้ถูกต้องจึงมีความสำคัญ โดยยาลดไข้ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มีไข้สูงมาก (มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส) คือ พาราเซตามอล แต่ไม่ได้แนะนำให้ใช้ยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน และ แอสไพริน เพราะอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกผิดปกติได้ และหากรับประทานยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาไปแล้ว 3-5 วัน แต่ไข้ยังไม่ลดลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อติดตามอาการของโรคทันที

เอกสารอ้างอิง

1. กรมควบคุมโรค. ไข้เลือดออก (Dengue Fever). 2562 [เข้าถึงเมื่อ 15 พ.ย. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=44

2. สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค. แนวทางการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในเขตเมือง Urban Dengue Unit Guideline. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2561.

3. กลุ่มโรคติดต่อนำโดยยุงลาย กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ปี 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน 2563). [เข้าถึงเมื่อ 15 พ.ย. 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://phanhospital.go.th/phanhospital/images/Disease%20situation/ DHF_Wk18%2004282563.pdf

4. Aspirin (Rx, OTC). [cited 15 Nov 2020]. Available form: https://reference.medscape.com/ drug/bayer-ecotrin-aspirin-343279#3

5. Kellstein D, Fernandes L. Symptomatic treatment of dengue: should the NSAID contraindication be reconsidered? Postgrad Med. 2019;131(2):109-16.

6. World Health Organization. Dengue and severe dengue. 2020 [cited 15 Nov 2020]. Available form: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/dengue-and-severe-dengue

7. Vasikasin V, Rojdumrongrattana T, Chuerboonchai W, Siriwiwattana T, Thongtaeparak W, Niyasom S, et al. Effect of standard dose paracetamol versus placebo as antipyretic therapy on liver injury in adult dengue infection: a multicentre randomised controlled trial. Lancet Glob Health 2019;7(5):e664-70.

8. Deen J, von Seidlein L. Paracetamol for dengue fever: no benefit and potential harm? Lancet Glob Health 2019;7(5):e552-3.

 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้