ปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองและมลภาวะอากาศในปัจจุบันก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้อากาศหรือทำให้ผู้ป่วยโรคในระบบทางเดินหายใจมีอาการกำเริบ ทำให้หลายคนเริ่มสนใจการดูแลตัวเองด้วยการล้างจมูกเพื่อชะล้างสิ่งสกปรกหรือสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูกออกด้วยน้ำเกลือ แม้ว่าการล้างจมูกจะทำได้ง่ายด้วยตัวเองที่บ้าน แต่การล้างจมูกมีประโยชน์และโทษอย่างไร สามารถล้างบ่อย ๆ ทุกวันได้หรือไม่ จะเป็นอันตรายไหม บทความด้านล่างมีคำตอบ
การล้างจมูกช่วยชำระสิ่งสกปรก มลพิษหรือสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในโพรงจมูก โดยเฉพาะสิ่งแปลกปลอมที่รวมตัวเป็นน้ำมูกข้นเหนียวที่ไม่สามารถระบายออกได้เอง ทำให้อาการคัดจมูก ภูมิแพ้ น้ำมูกไหล คันจมูก หรือจาม ดีขึ้น1 นอกจากนี้ยังช่วยลดปัจจัยกระตุ้นและความรุนแรงของโรค2 เช่น ลดจำนวนเชื้อโรคที่อยู่ในจมูกหรือโพรงไซนัสซึ่งช่วยลดความรุนแรงของโรคทางจมูก ลดหรือระบายหนองจากโพรงไซนัสซึ่งทำให้กลุ่มผู้ป่วยไซนัสอักเสบมีอาการดีขึ้น ทั้งยังช่วยทำให้เยื่อบุจมูกมีความชุ่มชื้น บรรเทาการระคายเคืองและลดการอักเสบภายในโพรงจมูก และการล้างจมูกก่อนใช้ยาพ่นทางจมูกหรือยาหยอดจมูกยังทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกได้ดี เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ยามากขึ้น
เริ่มล้างจมูกได้เมื่อมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกข้นเหนียว เริ่มมีอาการของไซนัสอักเสบ (เช่น มีเสมหะในลำคอหรือรู้สึกมีกลิ่นเหม็นภายในจมูก) หายใจเอาฝุ่นควัน หรือสูดดมมลพิษหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าไป หรือผู้ที่ต้องใช้ยาพ่นหรือยาหยอดจมูก ก็สามารถล้างจมูกก่อนใช้ยาดังกล่าวได้2
การล้างจมูกสามารถทำได้ในกลุ่มบุคคลทั่วไปและกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคทางจมูกและระบบทางเดินหายใจ โดยในกลุ่มบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพดีและอยากทำความสะอาดบริเวณโพรงจมูกก็สามารถล้างจมูกได้เมื่อมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่ผู้ปกครองสามารถควบคุมการใช้อุปกรณ์ล้างจมูกกับเด็กได้3,4 ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคทางจมูกและระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส (ไข้หวัด) โรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคโพรงไซนัสอักเสบ โรคริดสีดวงจมูก รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหรือฉายแสงบริเวณจมูกหรือไซนัส มักได้รับคำแนะนำให้ล้างจมูกเพื่อช่วยบรรเทาอาการและลดอาการกำเริบของโรค รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีการใช้ยาพ่นจมูกหรือยาหยอดจมูก มักได้รับคำแนะนำให้ล้างจมูกก่อนพ่นหรือหยอดยาเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น2 อย่างไรก็ตามไม่แนะนำการล้างจมูกในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทหรือการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเนื่องจากอาจเกิดการสำลักได้4,5
หากล้างจมูกอย่างถูกวิธีและใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการล้างจมูกเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปแนะนำให้ล้างจมูกวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน หรือมากกว่านั้นกรณีที่มีอาการทางจมูก เช่น มีน้ำมูกมาก คัดจมูก หรือช่วงเวลาก่อนใช้ยาพ่นหรือยาหยอดจมูก6 ควรเลือกสารละลายสำหรับล้างจมูกให้เหมาะสม ซึ่งแนะนำให้ใช้ น้ำเกลือปราศจากเชื้อความเข้มข้น 0.9% ของเกลือโซเดียมคลอไรด์ เนื่องจากเป็นความเข้มข้นของเกลือที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก7 ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์น้ำเกลือสำหรับล้างจมูกชนิดปราศจากเชื้อสำเร็จรูปจำหน่ายหลายชนิด สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย และไม่มีส่วนผสมของสารอื่นในตำรับ เช่น สารแต่งสีแต่งกลิ่น หรือวัตถุกันเสีย เนื่องจากสารดังกล่าวอาจทำให้ระคายเคืองเยื่อบุโพรงจมูกได้8
พบผลข้างเคียงในผู้ป่วยที่ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือค่อนข้างน้อย ผลข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ แสบเยื่อบุโพรงจมูก หูอื้อ และเลือดกำเดาไหล (ซึ่งพบได้น้อย) ยังไม่มีการรายงานอาการข้างเคียงรุนแรงจากการล้างจมูก5 อาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นได้น้อยลงหากเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของน้ำเกลือที่เหมาะสมและล้างจมูกด้วยเทคนิคและขั้นตอนที่ถูกต้อง หากล้างจมูกด้วยเทคนิคที่ไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายอื่น ๆ ได้ เช่น สำลัก หรือหากมีการสั่งน้ำมูกแรง ๆ อาจทำให้เยื่อแก้วหูบาดเจ็บได้ สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์ล้างจมูกไม่เหมาะสม เช่น ใช้น้ำประปาล้างจมูก อาจพบเชื้อแบคทีเรียหรือโปรโตซัวในน้ำ และพัฒนาเกิดเป็นโรคติดเชื้อรุนแรงได้4
ถึงแม้การล้างจมูกจะมีผลข้างเคียงน้อยและพบได้ไม่บ่อยหากทำอย่างถูกวิธีและใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม แต่ข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันและความคิดเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังไม่แนะนำให้ล้างจมูกติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลานาน9 เนื่องจากมีการศึกษาบ่งชี้ว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือติดต่อกันทุกวันในผู้ที่มีโรคโพรงจมูกไซนัสอักเสบเป็นระยะเวลานานกว่า 12 เดือน ทำให้การเกิดโรคโพรงจมูกไซนัสอักเสบซ้ำเพิ่มขึ้นถึง 60% ซึ่งคาดว่าเกิดจากการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นเวลานานอาจรบกวนหรือลดระบบป้องกันทางภูมิคุ้มกันที่สะสมในน้ำมูกหรือเมือกที่ปกป้องโพรงจมูก เนื่องจากน้ำมูกในโพรงจมูกเป็นด่านแรกในการปกป้องและดักจับเชื้อโรคของระบบทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตามการล้างจมูกในช่วงเวลาสั้น ๆ สามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีอาการทางจมูก เช่น น้ำมูกมาก น้ำมูกข้นเหนียว หรือคัดจมูก ซึ่งน้ำมูกเหล่านี้เป็นน้ำมูกที่มีที่มาจากโรคหรือมลภาวะทางอากาศ รวมทั้งเป็นน้ำมูกส่วนเกินที่สามารถชะล้างติดต่อกันทุกวันจนอาการหายเป็นปกติได้ หรือล้างจมูกติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน9-11 อย่างไรก็ตามยังคงต้องศึกษาถึงประโยชน์และโทษจากการล้างจมูกติดต่อกันในระยะยาวเพิ่มเติม