หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ประจำเดือนกะปริบกะปรอยหลังเปลี่ยนยาคุมกำเนิด

โดย นศภ.เกริกเกียรติ ต.วัฒนผล ภายใต้คำแนะนำของ อ.ดร.สุรศักดิ์ วิชัยโย เผยแพร่ตั้งแต่ 5 มีนาคม พ.ศ.2564 -- 89,071 views
 
มีการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานอย่างแพร่หลายทั้งเพื่อการคุมกำเนิดและปรับฮอร์โมนในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ยาคุมกำเนิด 1 เม็ด มักประกอบด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ที่คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง 2 ชนิด ได้แก่ เอท-ธิ-นิล-เอส-ตรา-ได-ออล (ethinyl estradiol, เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายผู้หญิง) และ โปร-เจส-ติน (progestin, เหมือนฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน) โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เจ็บคัดเต้านม ซึ่งมักพบในระยะแรกของการใช้ยา และจะหายเองในเวลาต่อมา นอกจากนี้สาวๆ บางคนชอบบ่นว่าเวลาเปลี่ยนยี่ห้อยาคุมกำเนิดแล้วจะมีประจำเดือนกะปริบกะปรอยจนไม่กล้าเปลี่ยนยาที่เคยใช้อยู่ เรามาดูกันว่าการเปลี่ยนยี่ห้อยาคุมกำเนิดทำให้เป็นแบบนั้นจริงหรือไม่

เลือดออกกะปริบกะปรอยขณะใช้ยาคุมกำเนิดเกิดจากอะไร

อาการเลือดออกกะปริบกะปรอยเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยในผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอและผู้ที่ได้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำ หรือเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานซึ่งจะทำให้ระดับยาในร่างกายลดลง นอกจากนี้ยังอาจพบในผู้ที่เปลี่ยนยี่ห้อยาคุมกำเนิดอีกด้วย โดยปกติแล้วขณะที่รับประทานยาคุมกำเนิดในทุกๆ วันนั้น ร่างกายจะได้รับฮอร์โมนในปริมาณคงที่ ส่งผลให้เยื่อบุผนังมดลูกเจริญขึ้น ดังนั้นหากระดับของฮอร์โมนโดยเฉพาะเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น การลืมรับประทานยาหรือการปรับเปลี่ยนยาคุมกำเนิดแบบไม่เหมาะสม จะกระตุ้นให้เกิดการหลุดลอกของเยื่อบุผนังมดลูกและเกิดเป็นประจำเดือน เป็นที่มาของภาวะเลือดออกกะปริบกะปรอย

การเปลี่ยนยาคุมกำเนิดทำให้ประจำเดือนมากะปริบกะปรอยได้อย่างไร

ในอดีตปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนในยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานมีขนาดสูงถึง 150 ไมโครกรัมต่อเม็ด ซึ่งเป็นขนาดที่มีความใกล้เคียงกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายคนเรา ทำให้การสร้างผนังมดลูกและการเกิดรอบเดือนเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอ แต่การที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนขนาดสูงนั้นอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เช่น อาการปวดหัว คลื่นไส้ ลิ่มเลือดอุดตัน ในปัจจุบันจึงมีการลดปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนให้มีขนาดต่ำ (15–50 ไมโครกรัมต่อเม็ด) ดังแสดงรูปภาพ ซึ่งยังคงมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดที่ดีและลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา แต่การได้รับฮอร์โมนในขนาดต่ำนั้นส่งผลให้ระดับฮอร์โมนแกว่งและต่ำลงได้ง่าย พบว่าในบางคนจะพบประจำเดือนมากะปริบกะปรอยในช่วงเดือนแรกของการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานซึ่งไม่ได้เป็นผลข้างเคียงที่ร้ายแรงและอันตราย โดยมากจะดีขึ้นและหายไปเองหลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 3 เดือน ดังนั้นการเปลี่ยนยาคุมกำเนิดจากยี่ห้อที่มีความเข้มข้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงไปเป็นยี่ห้อที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำกว่า อาจส่งผลให้ร่างกายยังไม่คุ้นชินกับระดับฮอร์โมนที่ลดลงไปจากรอบเดือนเดิม จึงเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยในระหว่างรอบเดือนได้
นอกจากปัจจัยเรื่องขนาดยาแล้ว ยังมีรูปแบบตำรับยาชนิดรับประทานที่แตกต่างกันเข้ามาเกี่ยวข้องโดยสำหรับยาคุมกำเนิดแบบ triphasic (ความเข้มข้นของฮอร์โมนแตกต่างกัน 3 ระดับ จากน้อยไปมาก เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับฮอร์โมนในร่างกาย) พบว่าช่วงที่รับประทานเม็ดยาที่มีขนาดฮอร์โมนต่ำอาจยังคงเกิดประจำเดือนมากะปริบกะปรอยได้ใกล้เคียงกับแบบ monophasic (ความเข้มข้นของฮอร์โมนเท่ากันทุกเม็ดในแผง) ส่วนยาคุมกำเนิดแบบ progestin-only pills (มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสติน ส่วนใหญ่ใช้ในหญิงให้นมบุตร) พบการเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยได้มากที่สุด เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสตินมีฤทธิ์สั้น (ระดับยาลดลงเร็ว) การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ เช่น ช้ากว่าเดิมเพียง 2–3 ชั่วโมงของวัน ก็อาจทำให้พบผลข้างเคียงนี้ได้
รูปภาพแสดงตัวอย่างยี่ห้อยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนแตกต่างกัน

เปลี่ยนยาคุมกำเนิดอย่างไรไม่ให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอย

สำหรับการเปลี่ยนยี่ห้อของยาคุมกำเนิด ควรเปลี่ยนเป็นยาคุมกำเนิดที่มีขนาดของฮอร์โมนเอสโตรเจนใกล้เคียงกับขนาดยาเดิมที่เคยได้รับประทานในแผงก่อนหน้า เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยจากระดับยาที่ลดต่ำลง ร่วมกับการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและเป็นเวลาเดียวกันในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามหากต้องการเปลี่ยนเป็นยี่ห้อที่มีขนาดของฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง ร่างกายจะสามารถปรับตัวเพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าวได้ในแผงต่อๆ ไป
ในกรณีที่เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยแล้ว หากเป็นช่วง 1–3 เดือนแรก แนะนำให้รับประทานต่ออย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายปรับสมดุล แต่หากยังพบอาการอยู่หลังใช้ยาไปแล้ว 3 เดือน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนเป็นยาที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนในเม็ดยาเพิ่มขึ้นจากเดิม หรือตรวจหาสาเหตุอื่นที่อาจเกี่ยวข้อง

บทสรุป

ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าระดับของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ประจำเดือนมากะปริบกะปรอยในผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานได้ จึงควรให้ความสำคัญต่อการเลือกขนาดของฮอร์โมนในเม็ดยา และความสม่ำเสมอของการรับประทานยาเพื่อลดการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวจากการใช้ยา ทั้งนี้ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดสามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาเพื่อช่วยให้ใช้ยาได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง

1.Pawitan JA. Mechanism of normal menstruation and abnormality associated with menorrhagia. Med J Indones 2009; 10:121-6.
2.The menstrual cycle and female athletic performance [Internet]. Miun.se. 2020 [cited 17 November 2020]. Available from: https://www.miun.se/en/Research/research-centers/swsrc/news/2019-2/the-menstrual-cycle-and-female-athletic-performance/
3.การทำงานร่วมกันของฮอร์โมนอีสโตรเจนและโพรเจสเทอโรน [Internet]. Il.mahidol.ac.th. 2020 [cited 17 November 2020]. Available from: https://il.mahidol.ac.th/e-media/hormone/chapter5/estrogen_progeterone.htm
4.Schrager S. Abnormal uterine bleeding associated with hormonal contraception. Am Fam Physician 2002; 65(10):2073-81.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้