ยาบ้า เดิมชื่อว่า ยาม้า หรืออาจเรียกว่ายาขยัน ยาแก้ง่วง ยาโด๊ป เป็นยาเสพติดที่มีส่วนประกอบหลักคือสารสังเคราะห์กลุ่มแอมเฟตามีน แพร่ระบาดอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ แอมเฟตามีนซัลเฟต (Amphetamine Sulfate) เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) และเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ (Methamphetamine Hydrochloride) ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบในเมืองไทยจะเป็นเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ นิยมเสพโดยรับประทานโดยตรงหรือผสมในอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือสูดดมเป็นไอระเหยของยาบ้าที่บดแล้วนำไปลนไฟ (สามารถเสพโดยวิธีฉีดเข้าเส้นเลือดได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทย) จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
ยาบ้าออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายในระยะแรกจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ประสาทล้าทำให้การตัดสินใจช้าและผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ เมื่อใช้ยาบ้าไปซักระยะหนึ่ง ร่างกายจะเกิดอาการดื้อยา (Tolerance) ผู้เสพจะต้องเพิ่มขนาดของยาและเสพบ่อยขึ้นยาจึงออกฤทธิ์เพียงพอเท่าที่ผู้เสพต้องการ การดื้อยาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเสพโดยวิธีฉีดเข้าเส้นเลือดและการสูบไอ มักก่อให้เกิดอาการเสพติดทางจิตใจมากกว่าทางร่างกาย ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ เป็นบ้า อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ หรือในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก จะไปกดประสาท และระบบการหายใจทำให้หมดสติและถึงแก่ชีวิตได้
การเสพยาบ้าก่อให้เกิดผลร้ายหลายประการ ดังนี้
- ผลต่อจิตใจ เมื่อเสพยาบ้าเป็นระยะเวลานานหรือใช้เป็นจำนวนมาก จะทำให้ผู้เสพมีความผิดปกติทางด้านจิตใจ กลายเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง ส่งผลให้มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดอาการหวาดหวั่น หวาดกลัว ประสาทหลอน ซึ่งโรคนี้หากเกิดขึ้นแล้ว อาการจะคงอยู่ตลอดไป แม้ในช่วงเวลาที่ไม่ได้เสพยาก็ตาม
- ผลต่อระบบประสาท ในระยะแรกจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะมีอาการประสาทล้า ทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ช้า และผิดพลาด และหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม หรือกรณีที่ใช้ยาในปริมาณมาก (Overdose) จะไปกดประสาทและระบบการหายใจ ทำให้หมดสติและถึงแก่ความตายได้
- ผลต่อพฤติกรรม ฤทธิ์ของยาจะกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมความก้าวร้าว และความกระวนกระวายใจ ดังนั้นเมื่อเสพยาบ้าไปนาน ๆ จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ผู้เสพจะมีความก้าวร้าวเพิ่มขึ้น และหากยังใช้ต่อไปจะมีโอกาสเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง เกรงว่าจะมีคนมาทำร้ายตนเอง จึงต้องทำร้ายผู้อื่นก่อน
โทษทางกฎหมาย :
จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 สรุปข้อหาและบทลงโทษ ดังนี้
ข้อหา | บทลงโทษ |
ผลิต นำเข้า หรือ ส่งออก | ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หากเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต(กรณีคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปถือว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย) |
จำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่าย | ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึง 5 แสนบาทหากมีสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 100 กรัม แต่ถ้าเกิน 100 กรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต |
ครองครอบ | ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี 1 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท(หากเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย |
เสพ | - ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 1 แสนบาท |
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด. ความรู้เกี่ยวกับยาและสารเสพติด เรื่อง ยาบ้า [Online]; 2009. Available form: http://www1.oncb.go.th/document/p1-bykind05.htm [Accessed 2011 Aug 18]
- ตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์. ชนิดของยาเสพติด - ยาบ้า (Amphetamine) [Online]; 2009. Available form: http://www1.oncb.go.th/document/p1-bykind05.htm [Accessed 2011 Aug 18]
- สำนักงานคดียาเสพติด. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับยาเสพติด [Online]; 2006. Available form: http://www.nct.ago.go.th/knowledge_drug.html [Accessed 2011 Aug 18]
- Unknown. ยาบ้า [Online]; Available form: http://th.wikipedia.org/wiki/ยาบ้า [Accessed 2011 Aug 18]
- Unknown. มารู้จักยาบ้า (ยาม้า) กันสักหน่อย [Online]; 2010. Available form: http://www.thailabonline.com/drug-amphetamine.htm [Accessed 2011 Aug 24]