Knowledge Article


โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)..อีกหนึ่งโรคที่ต้องระวัง เมื่อเข้าป่าหรือถ้ำ


อาจารย์ ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพประกอบจาก : https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRm5545NXA7AZlV5aHT8k7hriKpyi-raILe6LUdSC1P5r5jYwI-fgFSxKzbvv9LZEFuxJs&usqp=CAU
9,444 View,
Since 2022-10-11
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2ytju6zt
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


จากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ในสื่อต่าง ๆ เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ในบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในฉบับนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับโรคดังกล่าวเพื่อเป็นข้อมูลในการป้องกันตัวเองต่อไป

โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Histoplasma capsulatum โดยเชื้อราชนิดนี้พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นดินที่ปนเปื้อนมูลนกและค้างคาวในบริเวณโพรงต้นไม้ ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือในถ้ำ เชื้อราก่อโรคชนิดนี้จะมีรูปร่าง 2 ลักษณะ (dimorphic fungi) โดยในธรรมชาติจะอยู่เป็นสายราที่สามารถสร้างสปอร์ได้และเมื่อเราหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไปในปอดหรือมีการติดเชื้อในร่างกายเชื้อดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นยีสต์ โรคนี้พบการติดเชื้อได้ทั้งในคนปกติและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติเดินป่าหรือไปเที่ยวในถ้ำที่มีมูลนกหรือมูลค้างคาวปริมาณมากโดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันเช่น หน้ากากอนามัย พื้นที่ระบาดของโรคนี้อยู่ในแถบทวีปอเมริกา แอฟริกา และในบางพื้นที่ของทวีปเอเชีย ในขณะที่ประเทศไทยพบความชุกอยู่ที่ ร้อยละ 0.3-1 โดยมักพบการระบาดเป็นหย่อม ๆ ในบางพื้นที่แถบภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ

การติดต่อ

ผู้ป่วยได้รับเชื้อจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อในดินที่ปนเปื้อนมูลนกและค้างคาวเข้าไป ปัจจุบันยังไม่พบการติดต่อของโรคจากคนสู่คนหรือสัตว์สู่คน

กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ผู้ที่เข้าไปยังแหล่งที่มีการระบาดหรือมีความชุกของโรคสูงรวมถึงการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อเช่นการทำกิจกรรมหรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมหรือพื้นดินที่มีการปนเปื้อนมูลนกหรือค้างคาวปริมาณมาก นอกจากนี้กลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อยังรวมไปถึงเกษตรกร ผู้ทำหน้าที่กำจัดศัตรูพืช ผู้ดูแลสัตว์เลี้ยง คนงานก่อสร้างหรือรื้อถอนตึก คนสวน นักสำรวจหรือท่องเที่ยวในถ้ำ เป็นต้น

ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงภายหลังการติดเชื้อได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ human immunodeficiency virus (HIV) ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เด็กแรกเกิดและผู้สูงอายุ เป็นต้น

อาการที่พบ

ภายหลังการสูดดมเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-17 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่ที่มักไม่แสดงอาการป่วย แต่ในบางราย (ประมาณร้อยละ 1) มักแสดงอาการและอาการต่าง ๆ สามารถหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์หรือ 1 เดือน ผู้ป่วยอาจมีการติดเชื้อที่ปอด การติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือการติดเชื้อแบบแพร่กระจาย (disseminated histoplasmosis)

ความรุนแรงของโรคขึ้นกับปริมาณของเชื้อที่ได้รับและระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยได้แก่มีไข้ ปวดศีรษะ ไอแห้ง อ่อนเพลีย หนาวสั่น เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นหรือปวดข้อ นอกจากนี้ในผู้ที่มีภาวะโรคปอดอยู่แล้วเช่นโรคถุงลมโป่งพองอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเรื้อรังรวมถึงอาการรุนแรงได้

ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเรื้อรังจะมีอาการไอเป็นเลือด น้ำหนักลด ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะคล้ายกับการติดเชื้อวัณโรคปอด นอกจากนี้ในผู้ที่รับเชื้อปริมาณมากหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการรุนแรงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการติดเชื้อแบบเรื้อรังที่ปอดจะพบอาการปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงที่นำไปสู่กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน หรือ Acute respiratory distress syndrome (ARDS) รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะมีการแพร่ของเชื้อจากปอดไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย (disseminated histoplasmosis) เช่นสมองหรือไขสันหลัง โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองโต นอกจากนี้อาจพบแผลเปื่อยภายในปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ลำไส้และผิวหนัง รวมถึงภาวะเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำ นอกจากนี้อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้แก่ ต่อมหมวกไตทำงานไม่เต็มที่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย

แพทย์อาศัยการซักประวัติการไปพื้นที่หรือดำเนินกิจกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อ การตรวจร่างกายและอาการทางคลินิกของผู้ป่วย รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคได้แก่ การย้อมจากสิ่งส่งตรวจเช่นจากผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองหรือไขกระดูก การเพาะเชื้อ การตรวจทางพยาธิวิทยาและการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยารวมถึงการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ



การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันปกติการติดเชื้อเฉียบพลันที่ปอดสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยารักษา ในขณะที่กลุ่มที่ต้องใช้ยารักษาจะใช้ยาต้านเชื้อราเป็นหลักได้แก่ amphotericin B และ itraconazole โดยขนาดและระยะเวลาการให้ยาจะขึ้นกับความรุนแรงและลักษณะทางคลินิกของโรค นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการผ่าตัดในกรณีที่มีภาวะอุดตันหรือการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง

การป้องกัน
  1. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อหรือมีความชุกของโรคสูง ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปควรใส่หน้ากากอนามัย สวมถุงมือหรืออุปกรณ์ป้องกันและล้างมือให้สะอาดสม่ำเสมอ
  2. บุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายเช่นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อเช่น การขุดดินหรือตัดต้นไม้ในบริเวณที่พบมูลนกหรือค้างคาว การทำความสะอาดสุ่มหรือเล้าไก่ การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือสำรวจถ้ำในบริเวณที่มีมูลนกหรือค้างคาวสูงการทำความสะอาดหรือปรับปรุงตึกที่ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน เป็นต้น
  3. เมื่อต้องทำงานในพื้นที่ที่มีมูลนกหรือมูลค้างคาวมาก ควรรดน้ำบริเวณนั้นให้ชุ่มเพื่อลดการฟุ้งกระจายของละอองมูลสัตว์หรือดินที่อาจปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อและควรสวมอุปกรณ์ป้องกันเช่นหน้ากากอนามัย ถุงมือ ก่อนการทำงานทุกครั้ง
  4. ควรสังเกตอาการหรือความผิดปกติของตนเองภายหลังจากการไปเที่ยวป่าหรือถ้ำรวมถึงไปในพื้นที่ที่มีมูลนกหรือค้างคาวปริมาณมาก ถ้าพบอาการผิดปกติหรือไม่สบายควรรีบพบแพทย์ทันที
เอกสารอ้างอิง
  1. Centers for Disease Control and Prevention, National Center for Emerging and Zoonotic Infectious Diseases (NCEZID), Division of Foodborne, Waterborne, and Environmental Diseases (DFWED). Histoplasmosis [Internet]. 2020 [cited 2022 October 5]. Available from: https://www.cdc.gov/fungal/diseases/histoplasmosis/index.html
  2. Mayo clinic. Histoplasmosis [Internet]. 2022 [cited 2022 October 5]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/histoplasmosis/symptoms-causes/syc-20373495#:~:text=Histoplasmosis%20is%20an%20infection%20caused,during%20demolition%20or%20cleanup%20projects.
  3. วุฒิเศรษฐ์ ฐิตินันท์เมือง, เมธี ชยะกุลคีรี. โรคติดเชื้อราฮีสโตพลาสมา (Histoplasmosis). ใน: รุจิภาส สิริจตุภัทร, นันตรา สุวันทารัตน์, พรพรรณ กู้มานะชัย, อนุภพ จิตต์เมือง, ฐิติวัฒน์ ช่างประดับ, ภาคภูมิ พุ่มพวง, บรรณาธิการ. Disease approach in infectious diseases. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: เบสท์ กราฟฟิค อินเตอร์พริ้นท์; 2564. หน้า 483-96.
  4. แพทย์หญิงทวิติยา สุจริตรักษ์. โรคติดเชื้อจากใน “ถ้ำ” (Cave diseases) [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย [เข้าถึงเมื่อ 5 ตุลาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.pidst.or.th/A668.html
  5. เมธี ศรีประพันธ์. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนเรื่อง “เข้าถ้ำ เข้าป่า ระวังโรคติดเชื้อที่แฝงอยู่” [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 5 ตุลาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: href="https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/434/เข้าถ้ำ-เข้าป่า-เชื้อโรค/
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.