Knowledge Article


สวยทันใจสวยสั่งได้ด้วยมือหมอ ก่อนไปพบแพทย์ ควรรู้อะไรบ้าง?


รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
25,643 View,
Since 2011-07-31
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


กลายเป็นเรื่องค่อนข้างปกติแล้วสำหรับการเห็นดารานักร้องและบุคคลสำคัญที่ปรากฏในจอทีวีล้วนแต่เต่งตึง ไม่พบริ้วรอยบนใบหน้าแม้เพียงน้อยนิด คนที่มีอายุร่วม 60 กลับดูเหมือนเพียง 30 ปลายเท่านั้นเอง ดาราหรือนักร้องวัยรุ่นที่ไม่มีดั้ง คางสั้น กลับกลายเป็นมีดั้ง จมูกโด่ง คางแหลม คิ้วโก่ง ส่วนดาราสูงวัยกลับดูเด็กลงอย่างมากมาย ใบหน้าปราศจากริ้วรอยตีนกา ปราศจากร่องแก้มลึก หางตาไม่ตก และไม่มีร่องลึกใต้ตา แลดูสวยไปหมดเพียงชั่วข้ามคืน ภาพความสวยความสาวของดารานักร้องและสาวไฮโซไฮซ้อทั้งหลายในตู้ทีวี รวมถึงการโฆษณาคลินิคแพทย์ที่ให้ความหวังในการฟื้นฟูความสวยความสาวช่างยั่วยวนให้ผู้หญิงทั้งหลาย รวมถึงวัยรุ่นเข้ารับบริการอย่างมากมาย เพื่อเสริมแต่งใบหน้าให้ได้รูปตามที่ปรารถนา บทความนี้จึงอยากแนะนำข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ก่อนเข้ารับบริการเสริมความงามจากแพทย์

สารเติมเต็ม (Fillers) คืออะไร

สารเติมเต็ม ถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็น ‘อุปกรณ์การแพทย์’ ชนิดหนึ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศรับรองและอนุญาตให้ใช้เพื่อฉีดเข้าใต้ผิวหน้าเพื่อไปเติมเต็มส่วนที่พร่องไปให้กลับเต่งตึงขึ้น ช่วยลบเลือนริ้วรอย ร่องลึกตามส่วนต่างๆบนใบหน้า ปัจจุบันมีการนำมาใช้ฉีดในบริเวณต่างๆของใบหน้า เพื่อเติมเต็มร่องลึกข้างจมูกและรอบริมฝีปาก เติมเต็มวงลึกใต้ตา ใช้ฉีดเข้าหางตาเพื่อยกหางตาและหางคิ้วไม่ให้ตก นอกจากนี้ยังนิยมใช้ฉีดเข้าปลายจมูกให้มีติ่งเป็นหยดน้ำ หรือฉีดเข้าปลายคางให้แหลม หรือฉีดเพื่อเสริมดั้งจมูกให้โด่งขึ้น บางคนฉีดเพื่อให้ริมฝีปากนูน เทคโนโยยีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เหล่านี้ ช่วยทำให้หญิงชายในยุคปัจจุบันสวยได้ทันใจ โดยไม่ต้องทำศัลยกรรมผ่าตัดเพื่อดึงหน้าหรือยกกระชับเหมือนสมัยก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจควรจะศึกษาข้อมูลประกอบ จะได้ทำความรู้จักกับสารหรือวัสดุที่คุณหมอจะฉีดให้ และควรคัดเลือกศุนย์บริการหรือแพทย์เฉพาะทางก่อนเข้ารับบริการ

วัสดุวิทยาศาสตร์ที่ใช้เป็นสารเติมเต็ม

วัสดุวิทยาศาสสตร์ที่ใช้เป็นสารเติมเต็ม มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ ชนิดให้ผลถาวร และชนิดให้ผลชั่วคราว

  • ชนิดถาวร

    โพลีเมทฺธิลเมทาไคลเลต (Polymethylmethacrylate, PMMA) มีลักษณะเป็นเม็ดบีดส์หรือลูกบอลขนาดละเอียดและเรียบ สามารถเข้ากับเนื้อเยื่อของคนเราได้ดีและไม่ถูกดูดซับหรือดูดซึมโดยร่างกาย นิยมใช้ฉีดเพื่อเติมเต็มร่องแก้มรอบปากและข้างจมูก ข้อเสียคือเมื่อฉีดแล้ว หากไม่พอใจต้องให้แพทย์ผ่าเอาออก
  • ชนิดชั่วคราว

    วัสดุวิทยาศาสตร์เหล่านี้ จะให้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับวัสดุธรรมชาติที่ร่างกายคนเรามีอยู่ ซึ่งเมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งก็จะสลายไป สารเติมเต็มบางชนิดจะประกอบไปด้วยยาชา เช่น ลิโดเคน เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการฉีดสารเข้าใต้ผิวหนัง ตัวอย่างของสารเติมเต็มที่ใช้ทั่วไป มี 4 ชนิด คือ
    1. คอลลาเจน (Collagen) คือโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของผิวหนังและเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆของร่างกาย สารสกัดคอลลาเจนที่ถูกใช้เป็นสารเติมเต็ม ส่วนใหญ่มักจะสกัดจากวัวหรือเซลของคน ให้ผลระยะสั้นเพียง 3-4 เดือน นับเป็นวัสดุที่ให้ผลสั้นที่สุด
    2. ไฮยารูโลนิค แอซิด (Hyaluronic acid) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ‘เรสไตเลน’ (Restylane) จัดเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง (มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายน้ำตาล) ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่ร่างกายคนเรามีอยู่ในเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ เช่น กระดูกอ่อน และผิวหนัง วัสดุชนิดนี้สามารถรวมกับน้ำหรือความชื้นได้ดีและบวมน้ำกลายเป็นเจลนุ่มๆ เมื่อนำมาฉีดเข้าใต้ผิวหนังที่มีริ้วรอยหรือร่องลึกข้างจมูก ทำให้ริ้วรอยเหี่ยวย่นเลือนหายไปทันตา ผิวหนังบริเวณนั้นจะเรียบขึ้น ร่องลึกจะถูกลบเลือนจนหมดหรือเกือบหมดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารเติมเต็มที่ถูกฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วัสดุชนิดนี้มักจะถูกสกัดและเตรียมขึ้นจากไบโอเทคโนโลยีหรือใช้เชื้อแบคทีเรียเป็นสารตั้งต้นในการเตรียม ในปัจจุบันมีการดัดแปลงโครงสร้างโมเลกุลของสารกลุ่มนี้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถมีอายุได้นานขึ้นใต้ผิวหนังประมาณ 6-12 เดือน
    3. แคลเซี่ยม ไฮดรอกซี่อปาไทด์ (Calcium hydroxylapatite) จัดเป็นวัสดุแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่พบทั่วไปในฟันและกระดูก การใช้เป็นสารเติมเต็ม สารชนิดนี้จะถูกเตรียมโดยแขวนกระจายในน้ำยาคล้ายเจล และนำมาฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณที่ต้องการ ระยะเวลาที่ให้ผลประมาณ 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง
    4. 4. โพลี่ แอล แลคติด แอซิด (Poly-L-lactic acid, PLLA) จัดเป็นวัสดุโพลีเมอร์ที่ย่อยสลายเองได้ในร่างกาย นับเป็นวัสดุวิทยาศาสตร์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อให้เข้ากับร่างกายคนเราได้ดี ใช้มากในการช่วยละลายไหมเย็บแผลและสกรูกระดูกในศัลยกรรมกระดูก สารเติมเต็มชนิดนี้นิยมใช้กันมากในยุโรปและอเมริกา กลไกการทำงานของวัสดุชนิดนี้คือช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนังขึ้นใหม่ เพื่อเติมเต็มล่องลึกและริ้วรอยเหี่ยวย่น มีอายุประมาณ 2 ปี
ความเสี่ยงของการฉีดสารเติมเต็ม

เช่นเดียวกับขั้นตอนทางการแพทย์ทั่วไป สารเติมเต็มก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายได้ และมีข้อจำกัดในการใช้งานบางประการ ผู้บริโภคจึงควรทำความเข้าใจให้ดีก่อนเข้ารับการบริการ อาการข้างเคียงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และมักจะเลือนหายไปเองภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ในบางกรณีอาจมีอาการข้างเคียงประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือเป็นปีได้ สารเติมเต็มทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ในระยะยาว หรืออาการข้างเคียงถาวร หรือทั้งสองชนิดได้ อาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น บวม แดง เป็นผื่น คัน เจ็บ ฟกช้ำ ส่วนอาการข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น ผิวหนังมีลักษณะเป็นเนื้อนูน ซึ่งต้องให้แพทย์ผ่าตัดออก, ความเสี่ยงในการติดเชื้อ, มีแผลเปิด, มีอาการแพ้, หรือเกิดเนื้อตายบริเวณที่ฉีดสารเติมเต็ม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังปรากฏพบอาการข้างเคียงที่มีรายงาน เช่น การเคลื่อนที่ของสารเติมเต็มจากตำแหน่งเดิม, การรั่วไหลของสารเติมเต็มออกสู่ผิวหนังชั้นบน ซึ่งกรณีนี้มักจะเกิดจากการอักเสบจากการติดเชื้อหรือเกิดจากปฎิกิริยาของสารเติมเต็มต่อผิวหนังบริเวณที่ฉีด หรือบางคนอาจมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่หรือมีสายตาพร่าฟาง หากตัดสินใจจะเอาสารเติมเต็มออกเพราะไม่ถูกใจหรือไม่ถูกที่ที่ต้องการ ต้องให้แพทย์ผ่าตัดออก ซึ่งจะมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป ดังนั้นจึงควรตัดสินใจก่อนเข้ารับบริการ เพราะข้อจำกัดและร่างกายแต่ละคนมีความอ่อนไหวและละเอียดอ่อนต่อสารเคมีหรือวัสดุวิทยาศาสตร์ไม่เท่ากัน คนส่วนใหญ่อาจจะไม่แพ้ ฉีดหลายๆครั้งก็ไม่เป็นไร แต่บางคนฉีดเพียงเล็กน้อยก็อาจสร้างปัญหาใหญ่หลวงได้

ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการรับบริการจากสารเติมเต็ม

  • ควรจะรับบริการจากแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง หรือ ศัลยกรรมตกแต่งความงามโดยตรง
  • ควรเลือกแพทย์ที่ชำนาญและผ่านประสพการณ์การใช้สารเติมเต็มโดยตรง เนื่องจากการฉีดสารเติมเต็มจัดเป็นขั้นตอนของทางการแพทย์ ไม่ใช่การบำรุงรักษาด้วยวิธีทางเครื่องสำอางทั่วไป
  • ควรจะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่แพทย์เลือกฉีดให้คืออะไร ชื่ออะไร และมีอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับเราเป็นอย่างไร
  • ควรจะข้อดูฉลากที่ขวดยาว่า เป็นชนิดที่ผ่านการรับรองจากอย.หรือไม่
  • ควรจะปรึกษาแพทย์ที่ให้บริการถึงผลคาดหวังที่จะได้รับ ว่าเราคาดหวังอย่างไร และแพทย์ผู้ให้บริการคาดหวังอย่างไร ตรงกันหรือไม่ เช่น ร่องแก้มที่ลึกมาก ควรฉีดสารมากน้อยเท่าไหร่ หรือให้ผลนานกี่เดือน รวมถึงราคาที่ตกลงกันในปริมาณของสารเติมเต็มที่ฉีด
  • นอกจากนี้ผู้บริโภคควรรู้ว่า สารเติมเต็มที่อย.รับรองให้ใช้นี้ เป็นผลที่ได้จากการศึกษาทดลองจากการศึกษาทางคลินิคบนผิวหน้า ส่วนการฉีดซ้ำหลายๆครั้งหรือบ่อยๆ ทุกๆระยะเวลาเมื่อสารเสื่อมสภาพนั้น ยังไม่ได้ผ่านการประเมินความปลอดภัย
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการใช้สารเติมเต็มจะไม่ได้อยู่ครอบคลุมอยู่ในเงื่อนไขของการประกันสุขภาพ
  • ความปลอดภัยที่จะใช้ในคนท้องหรือหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร และผู้รับบริการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ยังไม่มีข้อมูล

ผู้ที่ไม่ควรเข้ารับบริการสารเติมเต็ม

  • ผู้ที่ผิวหนังยังมีอาการติดเชื้อ หรืออักเสบ หรือพบตุ่ม ผื่นแดง ควรงดเว้น จนกว่าอาการดังกล่าวจะหายหมด
  • ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายผิดปกติหรือผิวอ่อนไหวหรือเป็นแผลง่าย
  • ผู้ที่มีเลือดไหลออกง่าย หรือมีปัญหาเลือดไหลไม่หยุดที่ผิดปกติ
  • ผู้ที่แพ้ไข่หรือคอลลาเจน หากสารเติมเต็มที่ใช้ได้มาจากไข่หรือคอลลาเจน
  • ผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ หากสารเติมเต็มที่ใช้ได้มาจากส่วนประกอบจากสัตว์ เช่น วัว
  • ผู้ที่แพ้ยาชา เช่น ลิโดเคน

เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.fda.gov/MedicalDevices/ProductsandMedicalProcedures/CosmeticDevices/WrinkleFillers/default.htm
  2. http://www.wisegeek.com/what-is-a-wrinkle-filller.htm
  3. http://www.fda.gov/consumer/updates/wrinklefillers062608.html
  4. http://www.fda.gov/ohrms/dockets/ac/08/briefing/2008-4391b1-01%20-%20FDA%20Executive%20Summary%20Dermal%20Fillers.pdf
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.