Knowledge Article


“ถาม-ตอบ” เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรค COVID-19


ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://thestandard.co/wp-content/uploads/2021/07/Antigen-Test-Kit.jpg
143,856 View,
Since 2021-09-02
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


** หมายเหตุ: เป็นการรวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2564 **

1. ถาม: สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ได้ที่ไหนบ้าง

ตอบ: ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ได้ดังนี้

1. ตรวจด้วยตนเองโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) ประเภท Home use หรือ Self-test ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อได้จากคลินิกเวชกรรมและคลินิกเทคนิคการแพทย์

2. เข้ารับการตรวจคัดกรองในสถานพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี real-time RT-PCR หรือวิธี ATK (Professional use)

3. รับบริการจากหน่วยบริการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่ดำเนินการโดยองค์กรหรือหน่วยงานทางสาธารณสุขที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี real-time RT-PCR หรือวิธี ATK (Professional use)


2. ถาม: การตรวจด้วยวิธี real-time RT-PCR และวิธี Antigen test kit (ATK) เหมือน หรือต่างกันอย่างไร

ตอบ: การตรวจทั้ง 2 วิธีจัดเป็นวิธีตรวจคัดกรองโรค COVID-19 แต่สิ่งที่ต่างกันคือการด้วยวิธี real-time RT-PCR เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ในขณะที่การตรวจด้วยวิธี ATK เป็นการตรวจหาชิ้นส่วนโปรตีนของเชื้อไวรัส ปัจจุบันการตรวจด้วยวิธี real-time RT-PCR จัดเป็นวิธีที่ใช้ตรวจยืนยันการติดเชื้อ (แต่สามารถใช้ตรวจคัดกรองได้) ในขณะที่วิธี ATK จัดเป็นวิธีตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ

การตรวจหาเชื้อทั้ง 2 วิธีสามารถตรวจได้ตั้งแต่ 3-5 วันหลังจากมีความเสี่ยงหรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้สามารถตรวจได้เมื่อมีอาการป่วยที่สงสัยโรค COVID-19 และสามารถตรวจพบเชื้อได้นานถึง 10-15 วันหลังมีอาการ (ขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ตรวจ)


3. ถาม: ชุดตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid test) ที่ตรวจหาเชื้อและตรวจหาแอนติบอดีต่างกันอย่างไร

ตอบ: ชุด Rapid test ที่ตรวจหาเชื้อหรือชุดตรวจ ATK เป็นการตรวจหาโปรตีนหรือแอนติเจนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 โดยใช้ตัวอย่างตรวจจากระบบทางเดินหายใจหรือน้ำลาย ในขณะที่ชุดตรวจแอนติบอดี (Antibody test kit) เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโดยตรวจจากเลือด เมื่อสังเกตที่ตลับชุดตรวจจะเห็นว่าชุดตรวจ ATK จะมีสัญลักษณ์ให้อ่าน 2 แถบคือ C และ T ในขณะที่ชุดตรวจหาแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันจะมีสัญลักษณ์ให้อ่าน 3 แถบคือ C, G และ M (โดย G และ M หมายถึงชนิดของแอนติบอดีประเภท IgG และ IgM ตามลำดับ) สำหรับชุด ATK นั้นประชาชนสามารถหาซื้อมาตรวจด้วยตนเองได้ (ซึ่งต้องเป็นชุด Home use หรือ Self-test เท่านั้น) ในขณะที่ชุดตรวจแอนติบอดีประชาชนไม่ควรนำมาตรวจเพื่อใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อ ความแตกต่างของชุด rapid test ทั้ง 2 แสดงดังภาพที่ 1




4. ถาม: ชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) ในปัจจุบันมีกี่แบบและหาซื้อได้จากที่ไหน

ตอบ: ชุด ATK ในปัจจุบันมี 2 แบบคือ แบบใช้ในสถานพยาบาล (Professional use) และ แบบที่ประชาชนสามารถหาซื้อและนำมาตรวจด้วยตนเองได้ (Home use หรือ Self-test) โดยชุดตรวจ ATK แบบ Professional use นั้นประชาชนไม่สามารถซื้อหรือนำมาตรวจเองได้ จะต้องเข้ารับการตรวจในสถานพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุก (active case finding) ที่ดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ในขณะที่ชุดตรวจแบบ Home use หรือ Self-test ประชาชนสามารถหาซื้อมาตรวจด้วยตนเองได้จากร้านขายยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อได้จากคลินิกเวชกรรมและคลินิกเทคนิคการแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อจากอินเทอร์เน็ตหรือผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ประชาชนสามารถเข้าดูข้อมูลชุดตรวจ ATK ประเภทต่าง ๆ ได้จากเว็บไซต์ของกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ATK สามารถเข้าอ่านได้ที่ บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เรื่อง “ข้อควรรู้เบื้องต้นเรื่อง “แอนติเจน เทสต์ คิท” เพื่อคัดกรองโรค COVID-19”


5. ถาม: การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody test) สามารถใช้คัดกรองโรค COVID-19 ได้หรือไม่

ตอบ: ไม่แนะนำให้ใช้การตรวจ Antibody ในการคัดกรองโรค COVID-19 เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ตรวจได้ไม่สามารถบอกได้ว่ามาจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติหรือได้รับวัคซีนมาแล้ว นอกจากนี้ในกรณีที่มีการติดเชื้อในช่วงระยะแรกที่ยังไม่มีการสร้าง antibody จะทำให้ได้ผลลบปลอมซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนไม่ระมัดระวังในการป้องกันตนเอง อีกทั้งมีโอกาสเกิดผลบวกปลอมได้เมื่อติดเชื้อ coronavirus ชนิดอื่น ๆ ดังนั้นในการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ควรใช้วิธี real-time RT-PCR หรือ ATK จะดีที่สุด


6. ถาม: เมื่อผล real-time RT-PCR เป็น not detected หรือผล Antigen test kit (ATK) เป็นลบ (negative) มั่นใจได้หรือไม่ว่าไม่ได้ติดเชื้อหรือเป็นโรค COVID-19

ตอบ: ในกรณีที่การตรวจ real-time RT-PCR ให้ผล not detected หรือ การตรวจ ATK ให้ผลลบ (negative) สามารถแปลผลได้ดังนี้คือ ผู้เข้ารับการตรวจไม่ติดเชื้อ หรือ ผู้รับการตรวจติดเชื้อแต่เชื้อมีปริมาณน้อยมากจนไม่สามารถตรวจวัดด้วยเทคนิคข้างต้นได้ ดังนั้นการประเมินว่าเป็นผลจริงหรือไม่จะต้องอาศัยข้อมูลประวัติการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ตรวจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงประเภทใด (เสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำหรือไม่เสี่ยง) หรือประวัติการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงประกอบการแปลผลด้วย ในกรณีผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เมื่อตรวจด้วย real-time RT-PCR ให้ผลเป็น not detected อาจต้องกักตัวและตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งตามข้อกำหนดที่ระบุในแนวทางแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมากจะตรวจซ้ำหลังจากตรวจครั้งแรก 7 วัน หรือ 13 วัน หลังจากวันสัมผัสผู้ป่วยยืนยันครั้งสุดท้าย ในกรณีที่ใช้ชุดตรวจ ATK ถ้ามีประวัติเสี่ยงหรือประวัติการสัมผัสผู้ติดเชื้ออาจต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสมเช่น 3-5 วัน และ ช่วง 10-14 วันหลังจากการตรวจครั้งแรกหรือตรวจอีกครั้งเมื่อมีอาการป่วยที่เข้าได้กับโรค COVID-19


7. ถาม: เมื่อตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ด้วยชุด Antigen test kit (ATK) แบบตรวจด้วยตนเอง (Self-test) ให้ผลบวกควรทำอย่างไร

ตอบ: ให้ถ่ายภาพผลการตรวจไว้เป็นหลักฐานทั้งนี้ควรระบุข้อมูลวันที่ตรวจ ชนิดตัวอย่างที่ใช้ตรวจรวมถึงยี่ห้อชุดตรวจ ATK ที่ใช้ จากนั้นให้ติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติมและรักษาตามระบบต่อไป ใน กทม. สามารถติดต่อได้ที่ คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ในขณะที่ต่างจังหวัดสามารถติดต่อได้ที่คลินิกหมอครอบครัว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) นอกจากนี้สามารถแจ้งต่อระบบออนไลน์ โทร. 1330 ได้เช่นกัน นอกจากนี้ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ได้ให้นิยามไว้ว่า “ผู้ป่วยที่ให้ผล ATK เป็นบวกจะเรียกว่าผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (probable case)” ซึ่งสามารถเข้าสู่การรักษาในระบบ home isolation ได้อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยต้องการเข้ารับการรักษาใน community isolation, hospitel หรือโรงพยาบาลจะต้อง ลงนามยินยอมเข้ารับการรักษารวมถึงตรวจ real-time RT-PCR ควบคู่ด้วย


8. ถาม: ผลบวกปลอมหรือผลลบปลอมจากการตรวจคัดกรองด้วย Antigen test kit (ATK) มีสาเหตุมาจากอะไร

ตอบ: 1. ผลบวกปลอม หมายถึง ผู้เข้ารับการตรวจไม่ได้เป็นโรค COVID-19 แต่ตรวจด้วย ATK ให้ผลบวก ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจมาจากการปนเปื้อนบริเวณพื้นที่ที่ตรวจหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตรวจ นอกจากนี้ยังมาจากการติดเชื้อจุลชีพอื่น ๆ ผู้ทดสอบอาจดำเนินการตรวจตามขั้นตอนไม่ถูกต้อง เช่นการอ่านผลเกินเวลา เป็นต้น    2. ผลลบปลอม หมายถึง ผู้เข้ารับการตรวจเป็นโรค COVID-19 แต่ตรวจด้วย ATK ให้ผลลบ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจมาจากตรวจในระยะแรกของการติดเชื้อที่มีปริมารไวรัสต่ำ ช่วงเวลาตรวจไม่เหมาะสม ผู้ป่วยที่เป็นโรค COVID-19 ที่แสดงอาการอยู่แต่ปริมาณไวรัสลดลงแล้ว เก็บตัวอย่างตรวจไม่ถูกต้อง หรือ ดำเนินการทดสอบไม่ถูกต้องตามขั้นตอนเป็นต้น

ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจต้องใช้ประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อเข้าร่วมการประเมินและอาจต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีอื่น ๆ ควบคู่เช่นการทำ real-time RT-PCR เป็นต้น


9. ถาม: ผู้ป่วย COVID-19 ที่เข้ารับการรักษาครบกำหนดแล้วจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อก่อนกลับบ้านหรือไม่

ตอบ: ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ได้ให้ข้อมูลว่าไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อในผู้ป่วยก่อนที่จะอนุญาตให้ผู้ป่วยออกจากสถานพยาบาลเนื่องจากไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรักษา นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วอาจตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสได้ในสิ่งส่งตรวจจากระบบทางเดินหายใจซึ่งอาจตรวจพบได้นานถึง 50 วัน อย่างไรก็ตามสารพันธุกรรมที่พบในผู้ป่วยที่มีอาการมานานแล้วอาจเป็นเพียงซากสารพันธุกรรมของเชื้อหรือซากเชื้อที่หลงเหลืออยู่และการตรวจพบสารพันธุกรรมในผู้ป่วยหลังพ้นระยะกักตัวไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยยังแพร่เชื้อได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่รักษาครบตามกำหนดและหายจากโรคนี้แล้วยังคงต้องปฏิบัติตัวในการป้องกันการติดเชื้อเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป


10. ถาม: การฉีดวัคซีนมีผลต่อการตรวจโรคโควิด-19 ด้วยวิธี real-time RT-PCR หรือวิธี Antigen test kit (ATK) หรือไม่

ตอบ: การรับวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลทำให้เกิดผลบวกลวงหรือผลบวกปลอมเมื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค real-time RT-PCR หรือ ATK แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะสามารถตรวจพบแอนติบอดีต่อโรค COVID-19 ได้ในกระแสเลือดเมื่อเวลาผ่านไปในระยะที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามถ้าผู้ที่ได้รับวัคซีนให้ผล real-time RT-PCR เป็น detected หรือ ATK เป็นผลบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น


เอกสารอ้างอิง
  1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. คำแนะนำเรื่องการตรวจวินิจฉัยไวรัสก่อโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) ทางห้องปฏิบัติการ ฉบับ 28-05-64. เข้าถึงได้จาก https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1150
  2. กรมการแพทย์. แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564. เข้าถึงได้จาก https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25640804171629PM_CPG_COVID_v.17_n_20210804.pdf
  3. เมธี ศรีประพันธ์. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนเรื่อง ข้อควรรู้เบื้องต้นเรื่อง “แอนติเจน เทสต์ คิท” เพื่อคัดกรองโรคโควิด-19 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 13 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/570/แอนติเจนเทสต์คิท/
  4. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. คุณลักษณะสำคัญของชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) ด้วยวิธี realtime RT-PCR ฉบับแก้ไขครั้งที่ 0 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563. เข้าถึงได้จาก https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/679
  5. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. การตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ประเภท Self-test สำหรับประชาชน (ข้อมูลวันที่ 13 สิงหาคม 2564). เข้าถึงได้จาก: https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1243
  6. งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. เอกสาร/Infographic เผยแพร่ความรู้เรื่อง “ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รับการรักษาครบกำหนดแล้ว ต้องตรวจหาเชื้อซ้ำหรือไม่” โดย ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม. เข้าถึงได้จาก: https://med.mahidol.ac.th/healthpromo/sites/default/files/public/Swab-ver2.png.
  7. Sethuraman N, Jeremiah SS, Ryo A. Interpreting Diagnostic Tests for SARS-CoV-2. JAMA 2020;323(22):2249-51.
  8. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Myths and Facts about COVID-19 Vaccines (updated 7 July 2021). Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/facts.html
  9. U.S. Food & Drug Administration. Antibody (Serology) Testing for COVID-19: Information for Patients and Consumers. Available from: https://www.fda.gov/medical-devices/coronavirus-covid-19-and-medical-devices/antibody-serology-testing-covid-19-information-patients-and-consumers?fbclid=IwAR2BEEZ8pkKbnlEVY9ih9wrn97nADuEDQPimolRg2j6bvjI4-1HLe_RlKDA#understanding
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.