Knowledge Article


“นิโคติน” สารทดแทนช่วยเลิกบุหรี่


นศภ. สิรภัทร เกียรติศรีสินธพ
นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก. อัญชลี จินตพัฒนากิจ)
ภาพประกอบจาก : https://ebmpodcast.com/files/2017/09/quit_smoking_fist-2000x1200.jpg
59,227 View,
Since 2020-06-25
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2r3t4hhl
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การติดบุหรี่เกิดได้จากการติดทางจิตใจและการติดทางกาย ซึ่งการติดทางจิตใจเป็นความเคยชินจากการสูบบุหรี่ โดยอาจเกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อสูบบุหรี่จะทำให้สมองแล่น ผ่อนคลาย จึงต้องการที่จะสูบบุหรี่ ส่วนการติดทางร่างกายเกิดจากสารในบุหรี่ที่ชื่อว่า “นิโคติน” โดยนิโคตินเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับระบบรางวัลในสมอง ทำให้ผู้สูบมีความสุข คลายกังวล จึงมีการใช้นิโคตินอย่างต่อเนื่อง หากหยุดสูบบุหรี่หรือไม่ได้รับนิโคตินอย่างกะทันหัน จะทำให้เกิดอาการถอนบุหรี่ (withdrawal symptoms) โดยจะมีอาการสำคัญคืออยากสูบบุหรี่ หงุดหงิด กระวนกระวาย ซึมเศร้า กังวล นอนไม่หลับ ดังนั้นจึงมีการนำนิโคตินมาใช้ช่วยเลิกบุหรี่ หรือที่เรียกว่าการให้นิโคตินทดแทน (nicotine replacement therapy; NRT) โดยเป็นการให้นิโคตินเข้าสู่ร่างกายอย่าง ช้า ๆ และค่อย ๆ ลดขนาดลงจนสามารถเลิกใช้นิโคตินได้ ซึ่งมีข้อดีคือมีโอกาสติดน้อยกว่าการสูบบุหรี่(1, 2)

ในปัจจุบันมีการผลิตนิโคตินทดแทนออกมาในรูปแบบ หมากฝรั่ง แผ่นแปะ สเปรย์พ่นจมูก ยาสูดพ่น และลูกอม แต่ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ หมากฝรั่งนิโคตินและแผ่นแปะนิโคติน(3)



ภาพจาก : https://assets.apomeds.com/s3r/apomeds/images/Articles/Article5/73e3b6.png

หมากฝรั่งนิโคติน (nicotine gum)

หมากฝรั่งนิโคตินมี 2 ขนาด ได้แก่ 2 มิลลิกรัม และ 4 มิลลิกรัม(3) โดยแนะนำให้หยุดสูบบุหรี่ทันทีเมื่อจะใช้หมากฝรั่งช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งขนาดที่ใช้ขึ้นอยู่กับจำนวนบุหรี่ที่สูบ

หากสูบบุหรี่ไม่เกิน 24 มวน/วันแนะนำให้เคี้ยวหมากฝรั่งขนาด 2 มิลลิกรัม

หากสูบบุหรี่ 25 มวนขึ้นไป/วันแนะนำให้เคี้ยวหมากฝรั่งขนาด 4 มิลลิกรัม โดยเคี้ยวเมื่อมีอาการอยากบุหรี่ หรือทุก 1-2 ชั่วโมง แต่ไม่เกินวันละ 30 ชิ้นสำหรับขนาด 2 มิลลิกรัมและไม่เกินวันละ 15 ชิ้นสำหรับขนาด 4 มิลลิกรัม(4) หรือใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร วิธีการใช้(5)
  1. เคี้ยวหมากฝรั่งช้า ๆจนเริ่มมีรสเผ็ดซ่า
  2. เมื่อรู้สึกถึงรสเผ็ดซ่าให้หยุดเคี้ยว แล้วนำหมากฝรั่งไปพักไว้ที่กระพุ้งแก้มข้างใดข้างหนึ่ง
  3. เมื่อรสเผ็ดซ่าหายไปให้นำหมากฝรั่งมาเคี้ยวใหม่
  4. เคี้ยวหมากฝรั่งจนมีรสเผ็ดซ่าแล้วนำไปพักไว้ที่กระพุ้งแก้มเช่นเดิม สลับกันไป ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
  5. ห่อหมากฝรั่งด้วยกระดาษให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อป้องกันเด็กหรือสัตว์เลี้ยงนำไปเคี้ยวและอาจเกิดอันตรายได้จากนิโคตินที่ค้างอยู่ในหมากฝรั่ง
ข้อควรระวังและข้อแนะนำ(4, 5)
  • ควรงดเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด เช่น กาแฟ น้ำส้ม น้ำอัดลม 15 นาทีก่อนเคี้ยวหมากฝรั่ง เนื่องจากทำให้การดูดซึมนิโคตินลดลง
  • ควรกลืนน้ำลายช้า ๆ ไม่กลืนน้ำลายมากเกินเพื่อลดการระคายเคืองทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีปัญหาทางทันตกรรม, แผลในทางเดินอาหาร
แผ่นแปะนิโคติน (nicotine patch)

แผ่นแปะนิโคตินในประเทศไทยมีขนาดที่จำหน่ายอยู่ได้แก่ 17.5 มิลลิกรัม 35 มิลลิกรัมและ 52.5 มิลลิกรัม ซึ่งจะปลดปล่อยนิโคติน 7 มิลลิกรัม 14 มิลลิกรัม และ 21 มิลลิกรัมต่อวันตามลำดับ(6-8) โดยแนะนำให้หยุดบุหรี่เมื่อต้องการใช้แผ่นแปะนิโคตินเช่นเดียวกันกับหมากฝรั่ง ติดแผ่นแปะทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงแม้ว่าจะอาบน้ำหรือนอน เปลี่ยนแผ่นใหม่ในเวลาเดียวกันของทุกวัน หากมีอาการนอนไม่หลับให้นำแผ่นแปะออกก่อนนอนและแปะแผ่นใหม่เมื่อตื่นนอน หรือแปะแผ่นแปะวันละ 16 ชั่วโมง(5) ขนาดที่แนะนำให้ใช้ขึ้นกับจำนวนบุหรี่ที่สูบโดย หากสูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวน/วัน ใช้ขนาด 14 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์ แล้วตามด้วย 7 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์หากสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน/วัน ใช้ขนาด 21 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์ ตามด้วย 14 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์ และต่อด้วย 7 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์(4)

วิธีการใช้(5)
  1. ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง
  2. ลอกแผ่นใสที่คลุมส่วนเหนียวที่มีตัวยาอยู่ออก
  3. ติดแผ่นแปะในบริเวณที่ไม่มีขน ไม่มีบาดแผล โดยติดระหว่างบริเวณคอและสะโพก หรือต้นแขนด้านนอก
  4. กดแผ่นไว้ประมาณ 10 วินาทีเพื่อให้แผ่นติดแน่น
  5. ล้างมือให้สะอาด
ข้อควรระวังและข้อแนะนำ(5)
  • หลีกเลี่ยงการทาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บริเวณที่ต้องการแปะแผ่น เนื่องจากทำให้แผ่นติดที่ผิวหนังไม่ดี
  • ควรเปลี่ยนตำแหน่งที่ติดทุกวันเพื่อลดการระคายเคือง
จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่านิโคตินถูกนำมาใช้เป็นสารช่วยในการเลิกบุหรี่ โดยนิโคตินทดแทนทั้ง 2 รูปแบบมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งหมากฝรั่งนิโคตินมีข้อดีคือ ให้ความรู้สึกคล้ายกับการสูบบุหรี่ สามารถปรับขนาดการใช้ได้ง่ายแต่ก็จำเป็นต้องเคี้ยวบ่อยตลอดทั้งวัน ส่วนแผ่นแปะนิโคตินมีข้อดีคือ สามารถใช้ได้สะดวกแปะวันละ 1 ครั้ง ลดอาการอยากบุหรี่ในตอนเช้า สามารถแปะใต้ร่มผ้าได้ทำให้ไม่เป็นจุดสังเกต แต่ก็มีข้อเสียคือไม่สามารถปรับขนาดได้ อาจระคายเคืองผิว ซึ่งการเลือกใช้นิโคตินทดแทนแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับความสะดวกและความพึงพอใจของผู้ใช้ อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด สตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้นิโคติน(4)

เอกสารอ้างอิง
  1. Benowitz NL. Nicotine addiction. N Engl J Med. 2010;362(24):2295-303.
  2. Sandhu A HS, Hosseini SA, Saadabadi A. Nicotine. StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2020.
  3. กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา. ข้อมูลยา [Internet]. 2559 [cited 20 May 2020]. Available from: http://ndi.fda.moph.go.th/drug_info/index?name=nicotine&brand=&rctype=&drugno=.
  4. เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการบำบัดรักษาโรคติดบุหรี่ในประเทศไทย ปี พ.ศ.2552 สำหรับแพทย์และบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ2552.
  5. คณะอนุกรรมการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (สมรรถนะร่วม) พ.ศ. 2562. นนทบุรี: เอช อาร์ พริ้นซ์ แอนด์ เทรนนิ่ง; 2562.
  6. Healthcare GC. Nicotinell TTS 10 Transdermal Patches 2019 [cited 2020 May 20]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/390/smpc.
  7. Healthcare GC. Nicotinell TTS 20 Transdermal Patches 2019 [cited 2020 May 20]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/389.
  8. Healthcare GC. Nicotinell TTS 30 Transdermal Patches 2019 [cited 2020 May 20]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/388.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.