Knowledge Article


ยาต้านไซโตไคน์กับการรักษาโควิด-19


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://images.ctfassets.net/cnu0m8re1exe/5ypCS1s0V66LXlWpVZyTaz/cb077d667b85440c5afe62a94ac7942a/1200px-Cytokine_release.jpg?w=650&h=433&fit=fill
29,648 View,
Since 2020-05-15
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “SARS-CoV-2” เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ปัจจุบันยังคงมีการระบาดในบางประเทศ ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก ขณะนี้ยังไม่มียาใดที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 และไม่มีวัคซีนใช้ การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน แม้จะมีการนำยาบางชนิดที่ให้ผลการศึกษาในหลอดทดลองดีในการต้านไวรัสที่ก่อโรค (SARS-CoV-2) แต่การนำมาใช้รักษาผู้ป่วยยังให้ผลไม่ชัดเจน นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงพบว่าระดับไซโตไคน์ (cytokines) หลายชนิดในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมากซึ่งคาดว่าเกิด “พายุไซโตไคน์ (cytokine storm)” ไซโตไคน์เป็นสารที่สร้างและหลั่งโดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ไซโตไคน์หลายชนิดมีบทบาทในการก่อการอักเสบ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 จึงนำยาต้านไซโตไคน์บางชนิดมาทดลองใช้รักษาเพื่อเป็นการช่วยชีวิตตามความจำเป็น (compassionate use) อย่างไรก็ตามผลการรักษายังไม่อาจสรุปได้ ยาบางชนิดดูเหมือนให้ผลดี แต่บางชนิดทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการแย่ลง ขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังเร่งทำการศึกษายาต้านไซโตไคน์ทั้งชนิดที่ใช้เป็นยารักษาโรคอื่นอยู่แล้วและยาใหม่ที่ยังไม่เคยวางจำหน่ายมาก่อน การศึกษาส่วนใหญ่เริ่มแล้วในช่วงเดือนเมษายน 2563 บางการศึกษาคาดว่าจะเริ่มประเมินผลเบื้องต้นได้ในเดือนมิถุนายน 2563 ในบทความนี้จะให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ “พายุไซโตไคน์”, “พายุไซโตไคน์” ในผู้ป่วยโควิด-19, ข้อควรคำนึงในการใช้ยาต้านไซโตไคน์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และการศึกษาถึงการใช้ยาต้านไซโตไคน์รักษาผู้ป่วยโควิด-19

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ “พายุไซโตไคน์”

ไซโตไคน์เป็นสารที่สร้างและหลั่งโดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน มีบทบาทเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันและบทบาทด้านอื่นรวมถึงการเกิดการอักเสบ ซึ่งการอักเสบเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งของร่างกายในการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม ตัวอย่างไซโตไคน์ เช่น อินเตอร์เฟียรอน-แกมมา (interferon-gamma หรือ IFN-γ), อินเตอร์ลิวคิน-1 (interleukin-1 หรือ IL-1), อินเตอร์ลิวคิน-6 (interleukin-6 หรือ IL-6), ทีเอนเอฟ-แอลฟา (tumor necrosis factor-alpha หรือ TNF-α) แม้ว่าไซโตไคน์เหล่านี้จะมีบทบาทในการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันตามปกติเมื่อมีแปลกปลอมมากระตุ้น แต่บางกรณีร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรงหรือมากเกินไปทำให้มีการหลั่งไซโตไคน์หลายชนิดสู่กระแสเลือดทันทีพร้อมกันในปริมาณมาก (hypercytokinemia) จะทำให้เกิด “พายุไซโตไคน์” และเป็นอันตรายได้ พายุไซโตไคน์เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ (รวมถึงไวรัสโควิด-19), ภาวะภูมิต้านตนเอง, การรักษาโรคมะเร็งด้วยอิมมูโนรีเซพเตอร์ (chimeric antigen receptor T-cell therapy หรือ CAR T-cell therapy) กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากพายุไซโตไคน์มีหลายอย่าง เช่น ไข้สูง คลื่นไส้ อาการอ่อนล้ามาก การอักเสบของอวัยวะบางแห่งซึ่งอาจรุนแรงจนทำให้อวัยวะนั้นทำงานล้มเหลว กลุ่มอาการดังกล่าวอาจเกิดแตกต่างกันได้ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดพายุไซโตไคน์ เนื่องจากสาเหตุที่ต่างกันอาจส่งผลในการกระตุ้นการหลั่งไซโตไคน์ต่างชนิดกันและในปริมาณที่ต่างกัน

ภาวะพายุไซโตไคน์ในผู้ป่วยโควิด-19

ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก หากเป็นไม่รุนแรงภายหลังได้รับการรักษาแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานจะดีขึ้นและสามารถกลับบ้านได้ ส่วนผู้ที่มีอาการปานกลางโดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือมีโรคอื่นอยู่แล้วหรือเริ่มเกิดโรคแทรกซ้อน หลังพ้นสัปดาห์แรกไปแล้วอาจมีอาการรุนแรงขึ้น แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพดีพอที่จะประเมินระดับความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตามพบว่าในช่วงแรกจะเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์น้อยในเลือด (lymphocytopenia) ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นตามอาการ ประมาณว่ามีผู้ป่วยราว 5% เข้าสู่ขั้นวิกฤติ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสิ่งบ่งชี้ถึงการเกิดภาวะอักเสบของอวัยวะอย่างรุนแรง เช่น ที่ปอด หัวใจ (ดูรูป) ในเลือดพบค่าผิดปกติหลายอย่าง เช่น เฟอร์ริติน (ferritin) เพิ่มขึ้น เกล็ดเลือดลดลง ระดับเอนไซม์หลายชนิดสูงขึ้น บางรายพบระดับไซโตไคน์หลายชนิดในเลือดสูงผิดปกติซึ่งแสดงถึงการเกิดพายุไซโตไคน์ ไซโตไคน์ที่พบมีทั้งชนิดก่อการอักเสบและชนิดต้านการอักเสบ สำหรับชนิดที่ก่อการอักเสบมีหลายชนิด รวมถึงอินเตอร์ลิวคิน-1, อินเตอร์ลิวคิน-6, ทีเอนเอฟ-แอลฟา ซึ่งไซโตไคน์เหล่านี้พบได้ในโรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นอกจากนี้ยังพบไวรัสที่อวัยวะอื่นนอกเหนือจากปอด เช่น หัวใจและหลอดเลือด ไต ทางเดินอาหาร สมอง สิ่งที่ตรวจพบข้างต้นสอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยระยะรุนแรง เช่น เกิดกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome), การทำงานของหัวใจล้มเหลว, ภาวะช็อกจากการติดเชื้อ, การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เกิดจับก้อนง่ายและอุดหลอดเลือดที่อวัยวะต่าง ๆ ทำให้อวัยวะหลายอย่างทำงานล้มเหลว, อาจมีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง (เช่น อาการชัก)



ข้อควรคำนึงในการใช้ยาต้านไซโตไคน์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ในการนำยาต้านไซโตไคน์มาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีข้อควรคำนึงหลายอย่างดังนี้ (1) ไซโตไคน์มีบทบาทในปฏิกิริยาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งการอักเสบเป็นปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งในการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม ด้วยเหตุนี้การใช้ยาต้านไซโตไคน์ (ดูตัวอย่างชื่อยาในหัวข้อ “การศึกษาถึงการใช้ยาต้านไซโตไคน์รักษาผู้ป่วยโควิด-19”) แม้จะช่วยลดการอักเสบของอวัยวะได้ แต่ส่งผลกระทบต่อการกำจัดไวรัสซึ่งต้องอาศัยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเป็นหลัก ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงขึ้นเนื่องจากไวรัสมีจำนวนเพิ่มขึ้น ประกอบกับขณะนี้ยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพดีในการกำจัดไวรัสโควิด-19, (2) พายุไซโตไคน์ที่เกิดขึ้นมีการหลั่งไซโตไคน์หลายชนิดและรูปแบบการหลั่ง (ทั้งชนิดและปริมาณ) ในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันได้ การใช้ยาต้านไซโตไคน์ซึ่งออกฤทธิ์เจาะจงต่อไซโตไคน์ชนิดใดชนิดหนึ่งจึงอาจให้ผลดีเฉพาะกับผู้ป่วยบางราย, (3) การพบไวรัสที่อวัยวะอื่นนอกเหนือจากปอด (เช่น ไต หัวใจ) ดังที่กล่าวข้างต้น และที่อวัยวะเหล่านั้นพบตัวรับเอซีอี 2 (angiotensin-converting enzyme 2 หรือ ACE2) ซึ่งเป็นช่องทางที่ไวรัสโควิด-19 ใช้เพื่อเข้าสู่ภายในเซลล์ จึงเป็นไปได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนผู้ป่วยเสียชีวิตไม่ได้เป็นเพราะพายุไซโตไคน์เท่านั้น อาจเกิดจากไวรัสเอง ที่ผ่านมาภาวะหัวใจล้มเหลวและภาวะไตวายเป็นส่วนหนึ่งของการเสียชีวิตในผู้ป่วยโควิด-19 และ (4) ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์เจนัสไคเนส (Janus kinase หรือ JAK) (ชื่อยามีกล่าวต่อไป) จะรบกวนประสิทธิภาพของอินเตอร์เฟียรอนในการออกฤทธิ์ต้านไวรัสซึ่งต้องอาศัยเอนไซม์นี้ (ผ่านทาง JAK–STAT signaling pathway) ด้วยเหตุนี้การใช้ยาต้านไซโตไคน์อาจไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร

การศึกษาถึงการใช้ยาต้านไซโตไคน์รักษาผู้ป่วยโควิด-19

ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ได้นำยาต้านไซโตไคน์บางชนิดมาทดลองใช้รักษาผู้ป่วยเพื่อเป็นการช่วยชีวิตตามความจำเป็น ซึ่งผลการรักษายังไม่อาจสรุปได้ ขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังเร่งทำการศึกษายาต้านไซโตไคน์ทั้งชนิดที่ใช้เป็นยารักษาโรคอื่นอยู่แล้วและยาใหม่ที่ยังไม่เคยวางจำหน่ายมาก่อน สำหรับยาที่มีใช้อยู่แล้วส่วนใหญ่เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เช่น อะนาคินรา (anakinra), โทซิลิซูแมบ (tocilizumab), ซาริลูแมบ (sarilumab), อะดาลิมูแมบ (adalimumab), โทฟาซิทินิบ (tofacitinib), บาริซิทินิบ (baricitinib) ส่วนยาที่ใช้ในโรคอื่น (นอกเหนือจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) หรือยาใหม่ที่นำมาศึกษามีหลายชนิดเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ซิลทูซิแมบ (siltuximab), รูโซลิทินิบ (ruxolitinib), แคนาคินูแมบ (canakinumab), มาวริลิมูแมบ (mavrilimumab) การศึกษาส่วนใหญ่เริ่มต้นช่วงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังสามารถหาผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการได้เป็นจำนวนมาก และบางการศึกษาจะเริ่มประเมินผลเบื้องต้นได้ในเดือนมิถุนายน 2563 ดังตัวอย่างยาและการศึกษาที่กล่าวถึงข้างล่างนี้

โทซิลิซูแมบ (ชื่อการค้าคือ Actemra และ RoActemra ยานี้เป็น humanized IL-6 receptor monoclonal antibody) เป็นยาต้านอินเตอร์ลิวคิน-6 ในการศึกษามีการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยแบบสุ่ม ปกปิดชื่อยาและมีกลุ่มยาหลอกเพื่อเปรียบเทียบ (randomized, double-blind, placebo-controlled trial) เป็นการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 (phase 3 clinical study) ที่ทำร่วมกันหลายหน่วยงานในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และอีกหลายประเทศในยุโรป เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัย (รวมถึงศึกษาด้านเภสัชพลศาสตร์และเภสัชจลนศาสตร์) ของยาโทซิลิซูแมบในการรักษาโรคปอดอักเสบรุนแรงจากโควิด-19 ในผู้ป่วยจำนวน 330 คน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ขนาดยาที่ให้คือ 8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัม) โดยการหยดเข้าหลอดเลือดดำ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงสามารถให้ยาได้อีกไม่เกิน 1 ครั้ง การศึกษานี้เริ่มเมื่อต้นเดือนเมษายน 2563 กำหนดประเมินผลเบื้องต้นสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์สิ้นเดือนกันยายน 2563

รูโซลิทินิบ (ชื่อการค้าคือ Jakafi ยานี้เป็น Janus kinase inhibitor ชนิด JAK1/JAK2 inhibitor) เป็นยายับยั้งเอนไซม์เจนัสไคเนสซึ่งเอนไซม์นี้ทำงานเกี่ยวข้องกับตัวรับของไซโตไคน์ ในการศึกษามีการเปิดเผยชื่อยาและไม่มีการเปรียบเทียบกับยาใด (single arm open-label clinical trial) เป็นการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 ทำในประเทศแคนาดา เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยารูโซลิทินิบในการรักษาโรคปอดอักเสบจากโควิด-19 ในผู้ป่วยจำนวน 64 คน อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ขนาดยาที่ให้คือ 10 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน ตามด้วยขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 วัน และขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 1 วัน การศึกษานี้เริ่มเมื่อพ้นกลางเดือนเมษายน 2563 กำหนดประเมินผลเบื้องต้นสิ้นเดือนตุลาคม 2563 และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์สิ้นเดือนมกราคม 2564

โทฟาซิทินิบ (ชื่อการค้าคือ Xeljanz ยานี้เป็น Janus kinase inhibitor ชนิด JAK1/JAK3 inhibitor) เป็นยายับยั้งเอนไซม์เจนัสไคเนสซึ่งเอนไซม์นี้ทำงานเกี่ยวข้องกับตัวรับของไซโตไคน์ ในการศึกษามีการเปิดเผยชื่อยาและไม่มีการเปรียบเทียบกับยาใด (prospective single cohort open trial) เป็นการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2 เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาโทฟาซิทินิบ ในการรักษาโรคปอดอักเสบจากโควิด-19 ระยะเริ่มเป็น ในผู้ป่วยจำนวน 50 คน อายุ 18-65 ปี ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ขนาดยาที่ให้คือ 10 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน การศึกษานี้เริ่มต้นก่อนกลางเดือนเมษายน 2563 กำหนดประเมินผลเบื้องต้นหลังพ้นกลางเดือนมิถุนายน 2563 และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก่อนกลางเดือนกรกฎาคม 2563

เอกสารอ้างอิง
  1. Ye Q, Wang B, Mao J. The pathogenesis and treatment of the 'cytokine storm' in COVID-19. J Infect 2020. doi:10.1016/j.jinf.2020.03.037. Accessed: May 12, 2020.
  2. Akhmerov A, Marbán E. COVID-19 and the Heart. Circ Res 2020. doi:10.1161/circresaha.120.317055. Accessed: May 12, 2020.
  3. Zhang C, Wu Z, Li JW, Zhao H, Wang GQ. The cytokine release syndrome (CRS) of severe COVID-19 and Interleukin-6 receptor (IL-6R) antagonist tocilizumab may be the key to reduce the mortality. Int J Antimicrob Agents 2020. doi:10.1016/j.ijantimicag.2020.105954. Accessed: May 12, 2020.
  4. Mehta P, McAuley DF, Brown M, Sanchez E, Tattersall RS, Manson JJ. COVID-19: consider cytokine storm syndromes and immunosuppression. Lancet 2020; 395:1033-4.
  5. Sarzi-Puttini P, Giorgi V, Sirotti S, Marotto D, Ardizzone S, Rizzardini G, et al. COVID-19, cytokines and immunosuppression: what can we learn from severe acute respiratory syndrome? Clin Exp Rheumatol 2020; 38:337-42.
  6. Conti P, Ronconi G, Caraffa A, Gallenga CE, Ross R, Frydas I, et al. Induction of pro-inflammatory cytokines (IL-1 and IL-6) and lung inflammation by Coronavirus-19 (COVI-19 or SARS-CoV-2): anti-inflammatory strategies. J Biol Regul Homeost Agents 2020. doi:10.23812/CONTI-E. Accessed: May 12, 2020.
  7. Moore JB, June CH. Cytokine release syndrome in severe COVID-19. Science 2020; 368:473-4.
  8. Diamanti AP, Rosado MM, Pioli C, Sesti G, Laganà B. Cytokine release syndrome in COVID-19 patients, a new scenario for an old concern: the fragile balance between infections and autoimmunity. Int J Mol Sci 2020. doi:10.3390/ijms21093330. Accessed: May 12, 2020.
  9. Benucci M, Damiani A, Infantino M, Manfredi M, Quartuccio L. Old and new antirheumatic drugs for the treatment of COVID-19. Joint Bone Spine 2020; 87:195-7.
  10. Kupferschmidt K, Cohen J. Race to find COVID-19 treatments accelerates. Science 2020; 367:1412-3.
  11. Mountfort K. Treatments for COVID-19 – an update on current clinical trials. https://www.touchophthalmology.com/insight/treatments-for-covid-19-an-update-on-current-clinical-trials/. Accessed: May 12, 2020.
  12. Lythgoe MP, Middleton P. Ongoing clinical trials for the management of the COVID-19 pandemic. Trends Pharmacol Sci 2020. doi:10.1016/j.tips.2020.03.006. Accessed: May 12, 2020
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.