Knowledge Article


การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 2 : เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) และยาอื่น


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.fda.gov/files/Vaccines-Vials-Syringe-1600x900.png
29,784 View,
Since 2020-03-26
Last active: 4h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19 (COVID-19)” ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ขณะนี้ยังไม่มียาใดที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 และไม่มีวัคซีนใช้ การรักษาโควิด-19 เป็นแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน สำหรับรายที่มีอาการรุนแรงซึ่งวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานไม่เพียงพอที่จะช่วยชีวิต และเพื่อมนุษยธรรมอาจมีความจำเป็นต้องนำยาที่คาดว่ามีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติทะเบียนยาในข้อบ่งใช้นี้มาใช้ก่อนเพื่อเป็นการช่วยชีวิต (compassionate use) ยาที่นำมาใช้มีทั้ง ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir), เรมเดซิเวียร์ (remdesivir), ยาต้านไวรัสชนิดอื่นอีกหลายชนิด, คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate) เป็นต้น โดยอาจใช้ยาแต่ละชนิดโดยลำพังหรือใช้ยาร่วมกัน ขณะนี้มียาบางอย่างที่กล่าวข้างต้นอยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิกเพื่อนำมาใช้รักษาโควิด-19 โดยเฉพาะฟาวิพิราเวียร์และเรมเดซิเวียร์ ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปถึงการค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19, ข้อมูลทั่วไปของยาเรมเดซิเวียร์, แผนการศึกษาทางคลินิกของยาเรมเดซิเวียร์ในการรักษาโควิด-19 และข้อมูลเกี่ยวกับยาอื่นที่นำมาใช้รักษาโควิด-19



ภาพจาก : https://dp9bxf2pat5uz.cloudfront.net/wp-content/uploads/shutterstock_1624413559.jpg

การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19

โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “SARS-CoV-2” ซึ่งโคโรนาไวรัสทั้งหลายจัดอยู่ในกลุ่มอาร์เอนเอไวรัส (มีสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอนเอ) เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ปัจจุบันมีการระบาดอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ผู้ป่วยมีอาการที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากการหายใจล้มเหลวและอาการแทรกซ้อนอื่น ขณะนี้ยังไม่มียาใดที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 และไม่มีวัคซีนใช้ การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ผู้ป่วยแต่ละรายจะได้รับการรักษาแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรค สำหรับรายที่มีอาการรุนแรงและเพื่อมนุษยธรรมอาจมีความจำเป็นต้องนำยาที่คาดว่ามีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติทะเบียนยาในข้อบ่งใช้นี้มาใช้ก่อนเพื่อเป็นการช่วยชีวิต (compassionate use ตามที่กล่าวข้างต้น)

ในการค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 อาจทำโดยการคัดกรองยาหรือสารอื่นจากฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเลือกยาหรือสารที่คาดว่าจะมีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 มาทำการศึกษา หรือทำการคิดค้นยาใหม่ตั้งแต่ต้น หรือนำยาต้านไวรัสที่มีใช้อยู่แล้วในโรคอื่นมาทำการศึกษาเพิ่มเติม ในเบื้องต้นข้อมูลจากการศึกษาในหลอดทดลองหรือในสัตว์ทดลองพบว่ายาบางชนิดมีศักยภาพที่จะใช้รักษาโควิด-19 โดยเฉพาะยาต้านไวรัสชนิดที่มีฤทธิ์กว้าง (broad-spectrum antiviral drugs) ที่ให้ผลดีในการยับยั้งไวรัสโรคซาร์ส (SARS-CoV), ไวรัสโรคเมอร์ส (MERS-CoV), ไวรัสอีโบลา (Ebola virus) และไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) ตัวอย่างยาที่มีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 เช่น ฟาวิพิราเวียร์, เรมเดซิเวียร์, โลพินาเวียร์ที่ให้ร่วมกับริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir), ไรบาวิริน (ribavirin), อินเตอร์เฟียรอน (interferon-alpha หรือ interferon-beta), อาร์บิดอล (arbidol), คลอโรควินฟอสเฟต และรวมถึงยาแผนจีน (Chinese medicine) บางตำรับ ยาเหล่านี้ผ่านการทดลองใช้กับผู้ป่วยโรคซาร์ส โรคเมอร์ส หรือโรคจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคเหล่านั้น ในกรณีที่มีการระบาดของโควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน แม้ยาเหล่านี้ยังไม่ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 แต่มีการนำมาให้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงตามความจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิต การที่ยาใดจะได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโควิด-19 ต้องมีผลการศึกษาทางคลินิกมาสนับสนุนทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา ขณะนี้มียาบางชนิดอยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิกเพื่อใช้รักษาโควิด-19 เช่น ฟาวิพิราเวียร์, เรมเดซิเวียร์



ข้อมูลทั่วไปของยาเรมเดซิเวียร์

เรมเดซิเวียร์ (ชื่ออื่นคือ GS-5734 ขณะนี้ยังไม่มีชื่อการค้า) เป็นนิวคลีโอไทด์แอนะล็อก (nucleotide analog) ยายังไม่มีฤทธิ์ (อยู่ในรูป monophosphoramidate prodrug) ต้องถูกเปลี่ยนเป็นสารออกฤทธิ์ คือ GS-441524 (ดูรูป) ยานี้ค้นพบโดยบริษัทไกลีดไซเอนซ์ (Gilead Sciences) ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2558 และในปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมามีผลการศึกษาออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาในหลอดทดลองและการศึกษาในสัตว์ทดลองที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของยาในการรักษาโรคจากโคโรนาไวรัสชนิดต่าง ๆ เช่น โรคซาร์ส (SARS หรือ severe acute respiratory syndrome), โรคเมอร์ส (MERS หรือ Middle East respiratory syndrome) และโรคจากไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease หรือ Ebola haemorrhagic fever) ในตอนแรกคาดว่าผลิตยานี้มาเพื่อใช้รักษาโรคจากไวรัสอีโบลา ซึ่งได้นำยานี้มาใช้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของโรคอีโบลา อย่างไรก็ตามผลการศึกษาทางคลินิกในการรักษาผู้ป่วยโรคอีโบลาจำนวน 175 คน ให้ผลไม่ดีนัก ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 นี้ ได้ทดลองนำยามาใช้รักษาผู้ป่วยบางรายซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ ในด้านผลไม่พึงประสงค์ของยาในช่วงที่ทำการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคอีโบลาและผลจากการทดลองใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ขณะนี้ยาดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ใด

อย่างไรก็ตามในช่วงที่รอผลการศึกษาทางคลินิกนี้บางประเทศอาจมีการพิจารณาอนุมัติทะเบียนยาในลักษณะเป็นยากำพร้า (orphan drug) เพื่อใช้รักษาโควิด-19

เภสัชวิทยาของยาเรมเดซิเวียร์

เรมเดซิเวียร์เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้อย่างกว้างขวาง (broad-spectrum antiviral drug) มีประสิทธิภาพดีต่ออาร์เอนเอไวรัสหลายชนิดรวมถึงไวรัสก่อโรคอีโบลาและโคโรนาไวรัสชนิดต่าง ๆ ในกรณีของโคโรนาไวรัสนั้น ผลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่ายาเรมเดซิเวียร์มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโรคซาร์ส (SARS-CoV), ไวรัสโรคเมอร์ส (MERS-CoV) และไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) โดยสารออกฤทธิ์ คือ GS-441524 จะขัดขวางการทำงานของเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA polymerase) เอนไซม์นี้มีความสำคัญในการเพิ่มจำนวนไวรัส ดังนั้นเมื่อเอนไซม์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส นอกจากนี้ยายังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย คาดว่ายานี้มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างอื่นอีกรวมถึงอาจออกฤทธิ์ในขั้นตอนยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ในร่างกายคน

ยาเรมเดซิเวียร์ให้เข้าสู่ร่างกายโดยการหยดเข้าหลอดเลือดดำ จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง (cynomolgus monkey) ยากระจายไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้แม้ในสมอง ในพลาสมาค่าครึ่งชีวิต (หมายความว่าทุก ๆ ช่วงเวลาที่ระบุไว้นี้ปริมาณยาในพลาสมาจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง) ของยาเรมเดซิเวียร์เท่ากับ 0.39 ชั่วโมง ส่วนค่าครึ่งชีวิตของสารออกฤทธิ์ (GS-441524) เท่ากับ 14 ชั่วโมง ในคนค่าครึ่งชีวิตของสารออกฤทธิ์ประมาณ 20 ชั่วโมง

แผนการศึกษาทางคลินิกของยาเรมเดซิเวียร์ในการรักษาโควิด-19

ที่ผ่านมาแม้ว่ายาเรมเดซิเวียร์ยังไม่ได้รับอนุมัติทะเบียนยาในข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโควิด-19 แต่มีการให้ยานี้กับผู้ป่วยโควิด-19 บางราย ทั้งนี้เป็นการให้เพื่อมนุษยธรรมในรายที่มีอาการรุนแรงซึ่งวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานไม่เพียงพอที่จะช่วยชีวิต ส่วนการที่จะได้รับอนุมัติทะเบียนยาในข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโควิด-19 นั้นต้องมีการศึกษาทางคลินิกมาสนับสนุนทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา ขณะนี้มีการศึกษาทางคลินิกของยาดังกล่าวในระยะที่ 2 (phase 2 clinical study) และระยะที่ 3 (phase 3 clinical study) หลายการศึกษา จำนวนไม่น้อยกว่า 5 การศึกษา เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาเรมเดซิเวียร์ชนิดฉีด ในจำนวนนี้มีไม่น้อยกว่า 3 การศึกษาที่วางรูปแบบการศึกษาโดยมีการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยแบบสุ่มเพื่อให้ยาเรมเดซิเวียร์หรือยาหลอก อีกทั้งมีการปกปิดไม่ให้ผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลการรักษารู้ว่าเป็นยาเรมเดซิเวียร์หรือยาหลอกทั้งนี้เพื่อลดอคติ (randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial) เริ่มการศึกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 คาดว่าส่วนหนึ่งจะสรุปผลได้ในราวปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 การศึกษาดังกล่าวทำในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1 การศึกษา (โดย University of Nebraska Medical Center ใน Omaha) ยังไม่ได้กำหนดจำนวนผู้ป่วยที่แน่นอน ผู้ป่วยที่เข้าร่วมในการศึกษานี้ส่วนหนึ่งมาจากเรือสำราญ Diamond Princess ที่เคยจอดเทียบท่าที่เมืองโยโกฮามาในประเทศญี่ปุ่น ส่วนอีก 2 การศึกษาทำในประเทศจีน คาดว่าจะรับผู้ป่วยรวมทั้งหมด 760 คน ขนาดยาเรมเดซิเวียร์เริ่มด้วย 200 มิลลิกรัมในวันแรก ให้แบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ จากนั้นให้ในขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 9 วัน (รวมทั้งหมด 10 วัน) ผู้ป่วยทุกรายทั้งในกลุ่มที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์และกลุ่มยาหลอกจะได้รับการรักษาอาการตามวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ส่วนอีก 2 การศึกษา (จากทั้งหมด 5 การศึกษาที่กล่าวถึงข้างต้น) ทำโดยบริษัทไกลีดไซเอนซ์ เป็นการศึกษาแบบเปิดเผยชื่อยา (open-label trial) โดยมีการศึกษาหนึ่งที่เปรียบเทียบกับยาหลอกด้วย ขณะนี้การศึกษาที่กล่าวมาทั้งหมดกำลังดำเนินอยู่

ยาอื่นที่นำมาใช้รักษาโควิด-19

แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มียาใดที่ได้รับอนุมัติทะเบียนยาในข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโควิด-19 แต่มียาหลายชนิดที่มีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 ตามที่กล่าวมาข้างต้น (ดูหัวข้อ "การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19") โดยอาจใช้ยาแต่ละชนิดโดยลำพังหรือใช้ยาร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการใช้ร่วมกับยาแผนจีน ในช่วงที่เกิดโรคระบาดของโควิด-19 นี้มีความจำเป็นที่ต้องนำยาบางอย่างมาใช้รักษาผู้ป่วย ในประเทศจีนได้วางแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาโรคปอดอักเสบจากโควิค-19 ไว้ ซึ่งได้มีการปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงฉบับที่ 7 (Chinese Clinical Guidance for COVID-19 Pneumonia Diagnosis and Treatment, 7th edition–March 4, 2020) ในแนวทางดังกล่าวได้ระบุถึงยาที่นำมาใช้ไว้หลายตำรับดังข้างล่างนี้ (ขนาดยาที่ระบุไว้เป็นขนาดสำหรับผู้ใหญ่) ได้แก่
  1. อินเตอร์เฟียรอน-แอลฟา ขนาด 5 ล้านยูนิต (หรือเทียบเท่า) เติมน้ำปราศจากเชื้อปริมาตร 2 มิลลิลิตร สูดวันละ 2 ครั้ง
  2. โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ขนาด 400 มิลลิกรัม/100 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง ไม่เกิน 10 วัน
  3. ไรบาวิริน แบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 หรือ 3 ครั้ง (แนะนำให้ใช้ร่วมกับอินเตอร์เฟียรอน หรือร่วมกับโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์) ไม่เกิน 10 วัน
  4. คลอโรควินฟอสเฟต หากมีน้ำหนักตัวเกิน 50 กิโลกรัม รับประทานในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน หากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม รับประทานในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ใน 2 วันแรก จากนั้นรับประทานในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน (ในวันที่ 3-7)
  5. อาร์บิดอล รับประทานในขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ไม่เกิน 10 วัน
ทั้งนี้ในการใช้ยาดังกล่าวข้างต้น ให้คำนึงถึงข้อควรระวังในการใช้ยา ข้อห้ามใช้ อาการไม่พึงประสงค์ และปฏิกิริยาระหว่างยา ของยาแต่ละชนิดซึ่งมีแตกต่างกันไป หากใช้ในหญิงมีครรภ์ให้เลือกยาที่เหมาะสมและคำนึงถึงอายุครรภ์ด้วย ขณะใช้ยาหากเกิดผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยทนไม่ได้ให้หยุดใช้ยานั้น นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้ยาร่วมกันเกิน 2 ชนิด

เอกสารอ้างอิง
  1. Ko WC, Rolain JM, Lee NY, Chen PL, Huang CT, Lee PL, et al. Arguments in favour of remdesivir for treating SARS-CoV-2 infections. Int J Antimicrob Agents 2020. doi:10.1016/j.ijantimicag.2020.105933. Accessed: March 21, 2020.
  2. Al-Tawfiq JA, Al-Homoud AH, Memish ZA. Remdesivir as a possible therapeutic option for the COVID-19. Travel Med Infect Dis 2020. doi:10.1016/j.tmaid.2020.101615. Accessed: March 21, 2020.
  3. Lowe D. Covid-19 small molecule therapies, updated: March 18 2020. https://blogs.sciencemag.org/pipeline/archives/2020/03/06/covid-19-small-molecule-therapies-reviewed. Accessed: March 23, 2020.
  4. Dong L, Hu S, Gao J. Discovering drugs to treat coronavirus disease 2019 (COVID-19). Drug Discov Ther 2020. doi:10.5582/ddt.2020.01012. Accessed: March 21, 2020.
  5. Lu H. Drug treatment options for the 2019-new coronavirus (2019-nCoV). Biosci Trends 2020; 14:69-71.
  6. Wang M, Cao R, Zhang L, Yang X, Liu J, Xu M, et al. Remdesivir and chloroquine effectively inhibit the recently emerged novel coronavirus (2019-nCoV) in vitro. Cell Res 2020; 30:269-71.
  7. Martinez MA. Compounds with therapeutic potential against novel respiratory 2019 coronavirus. Antimicrob Agents Chemother 2020. doi:10.1128/AAC.00399-20. Accessed: March 21, 2020.
  8. Morse JS, Lalonde T, Xu S, Liu WR. Learning from the past: possible urgent prevention and treatment options for severe acute respiratory infections caused by 2019-nCoV. Chembiochem 2020; 21:730-8.
  9. Cennimo DJ. Coronavirus disease 2019 (COVID-19) treatment & management, updated: Mar 16, 2020. https://emedicine.medscape.com/article/2500114-treatment. Accessed: March 23, 2020.
  10. Cascella M, Rajnik M, Cuomo A, Dulebohn SC, Napoli RD. Features, evaluation and treatment coronavirus (COVID-19), updated: March 8, 2020. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing. Accessed: March 21, 2020.
  11. Guo YR, Cao QD, Hong ZS, Tan YY, Chen SD, Jin HJ, et al. The origin, transmission and clinical therapies on coronavirus disease 2019 (COVID-19) outbreak - an update on the status. Mil Med Res 2020. doi:10.1186/s40779-020-00240-0. Accessed: March 21, 2020.
  12. NIH clinical trial of remdesivir to treat COVID-19 begins, study enrolling hospitalized adults with COVID-19 in Nebraska. News Releases, February 25, 2020. https://www.nih.gov/news-events/news-releases/nih-clinical-trial-remdesivir-treat-covid-19-begins. Accessed: March 23, 2020.
  13. Chinese Clinical Guidance for COVID-19 Pneumonia Diagnosis and Treatment (7th edition). http://kjfy.meetingchina.org/msite/news/show/cn/3337.html. Accessed: March 23, 2020.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.