Knowledge Article


กินเห็ด เสริมภูมิ ต้านโรค


รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์
ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย
ที่ปรึกษาสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อดีตอาจารย์ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://nearfarms.com/wp-content/uploads/2018/11/Brown-Mush.png
32,842 View,
Since 2020-03-22
Last active: 4h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


"สถานการณ์ในขณะนี้ที่โควิด-19 (COVID-19) ระบาด เรามาเสริมภูมิต้านทานของร่างกายด้วยการรับประทานเห็ด ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งทางด้านโภชนาการและเพื่อสุขภาพที่ดี เห็ดหลายชนิดมีข้อมูลการศึกษาในคนที่พบว่ามีฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย สามารถใช้ในการป้องกันและรักษาโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน การรับประทานเห็ดมีความปลอดภัย ยกเว้น ผู้ที่แพ้เห็ดหรือสปอร์เห็ด และห้ามรับประทานเห็ดพิษ หรือเห็ดที่ไม่เคยใช้เป็นอาหารหรือเป็นยามาก่อน"

ในสถานการณ์ช่วงนี้ ทั่วโลกมีการระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 หรือโควิด -19 นอกจากที่เราจะต้องป้องกันตนเองโดย กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ และออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ แล้ว อาหารที่รับประทานทุกวันก็มีความสำคัญยิ่ง ถ้าเรารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคก็จะยิ่งดีมาก

"เห็ด" ถือได้ว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย เราสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น ต้มจืด ต้มข่าไก่ ยำเห็ด เห็ดย่าง แกงคั่วเห็ด ผัดเห็ด หรือน้ำต้มเห็ด เป็นต้น ตัวอย่างเห็ดที่เราหาซื้อได้ในตลาด หรือจะเพาะเองก็ไม่ยาก เช่น เห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดนางรมหลวงหรือเห็ดออริจิ เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดเข็มทอง เห็ดเปาหื้อ เห็ดแชมปิญอง แต่ก็ต้องระวังเห็ดบางชนิดที่เป็นเห็ดพิษ ซึ่งรับประทานแล้วอาจจะทำให้เสียชีวิตได้

"เห็ด" เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่ามากทางโภชนาการ เห็ดแต่ละชนิดจะมีคุณค่าทางโภชนาการแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของเห็ด โดยส่วนใหญ่เห็ดจะมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับผัก นั่นคือ มีวิตามิน เกลือแร่ และโปรตีน แต่เห็ดจะมีโปรตีนที่มีคุณภาพดีกว่าในผัก แต่ก็จัดเป็นโปรตีนพวกที่ไม่สมบูรณ์บางส่วน เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ ดังนั้น การปรุงอาหารจากเห็ดให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพจึงควรมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และผักชนิดอื่นร่วมด้วย

"เห็ด" หลายชนิดมีคุณค่าทางยา โดยมีสารประกอบที่มีสรรพคุณช่วยเสริมให้ร่างกายมีภูมิต้านทานมากขึ้น ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันถือเป็นปราการด่านสำคัญของสุขภาพ ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีจึงควรใส่ใจในเรื่องระบบภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น

สารสำคัญในเห็ดคือ สารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์ (beta-glucans : เป็นสารเชิงซ้อนกลุ่มโพลีแซคคาไรด์) สารกลุ่มนี้พบได้มากใน เห็ด รา ยีสต์ และพืช สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ปรับเสริมภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ

บทความนี้ จะกล่าวถึงงานวิจัยที่สนับสนุนสรรพคุณของเห็ดบางชนิดที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน



ภาพจาก : http://www.yukon-news.com/media/images/2010/august/06/LIFEmushrooms.jpg

  1. เห็ดสกุลนางรม (Pleurotus Mushrooms) เช่น เห็ดนางรมภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดนางรมหลวง และเห็ดนางรม โดยเห็ดสกุลนี้โดยเฉพาะ เห็ดนางรม (Oyster Mushroom) มีงานวิจัยในคนที่พบว่า เด็กก่อนวัยเรียนที่ได้รับประทานสารสกัดเบต้ากลูแคนส์ที่สกัดได้จากเห็ดนางรม ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน มีส่วนช่วยให้ความถี่ของการเป็นโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (1-2)
  2. เห็ดแชมปิญอง (Champigon Mushroom) มีงานวิจัยในคนที่พบว่า อาสาสมัครที่รับประทานเห็ดแชมปิญองสดที่ลวกน้ำร้อน ขนาด 100 กรัม ก่อนอาหารมื้อเย็น 5 นาที ทุกวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ร่างกายจะมีการหลั่งสารภูมิต้านทานออกมาในน้ำลายหรือที่ผิวของอวัยวะที่เป็นโพรง เช่น ช่องปาก ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าร่างกายมีการสร้างภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น การรับประทานเห็ดแชมปิญองจึงมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้ (3)
  3. เห็ดหอม มีงานวิจัยในคนที่พบว่า การรับประทานเห็ดหอม ขนาด 5 กรัม หรือ 10 กรัม ทุกวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ร่างกายจะมีภูมิต้านทานสูงขึ้น โดยเพิ่มระดับของสารที่จะคอยทำลายสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ของร่างกายและลดระดับสารที่จะสร้างการอักเสบ
นอกจากเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว สารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์ที่ได้จากยีสต์ (baker’s yeast; Saccharomyces cerevisiae) หรือข้าวโอ๊ต ก็มีรายงานวิจัยในคนที่พบว่า การรับประทานสารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์จากยีสต์ ในขนาด 250 มิลลิกรัม หรือ 500 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3-7 เดือน มีส่วนช่วยรักษาผู้ป่วยที่เป็นหวัดให้มีอาการหวัดลดลง (1) เช่นเดียวกับงานวิจัยที่พบว่าผู้สูงอายุ (อายุ 50-70 ปี) รับประทาน สารเบต้ากลูแคนส์จากยีสต์ ขนาด 250 มิลลิกรัม ทุกวัน เป็นเวลา 3 เดือน มีส่วนช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และช่วยลดความรุนแรงของอาการเมื่อมีการติดเชื้อได้ (5)

สรุป

บทความนี้ต้องการที่จะสื่อให้เรารับประทานเห็ดเป็นอาหาร เพื่อให้มีคุณประโยชน์ช่วยเสริมภูมิต้านทาน ทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง ต่อสู้กับโรคร้ายต่าง ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อสารสกัดเบต้ากลูแคนส์ มารับประทาน ข้อมูลข้างต้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเห็ดเกือบทุกชนิดมีสารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์ที่มีประโยชน์ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ฉะนั้นการรับประทานเห็ดก็จะได้รับสารเบต้ากลูแคนส์

เอกสารอ้างอิง
  1. Jesenak M, Urbancikova I, Banovcin P. Respiratory tract infections and the role of biologically active polysaccharides in their management and prevention. Nutrients. 2017;9:779; doi:10.3390/nu9070779
  2. Jesenak M, Majtan J, Rennerova Z, Kyselovic J, Banovcin P, Hrubisko M. Immunomodulatory effect of pleuran (beta-glucan from Pleurotus ostreatus) in children with recurrent respiratory tract infections. Int Immunopharmacol. 2013;15:395–399.
  3. Jeong SC, Koyyalamudi SR, Pang G. Dietary intake of Agaricus bisporus white button mushroom accelerates salivary immunoglobulin A secretion in healthy volunteers. Nutrition. 2012;28:527–531.
  4. Dai X, Stanilka JM, Rowe CA, Esteves EA, Nieves C Jr, Spaiser SJ, Christman MC, Langkamp-Henken B, Percival SS. Consuming Lentinula edodes (Shiitake) mushrooms daily improves human immunity: a randomized dietary intervention in healthy young adults. J Am Coll Nutr. 2015;34(6):478-487.
  5. Fuller R, Moore MV, George Lewith G, Stuart BL, Ormiston RV, Fisk HL, Noakes PS, Calder PC. Yeast-derived b-1,3/1,6 glucan, upper respiratory tract infection and innate immunity in older adults. Nutrition. 2017;39–40:30–35.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.