Knowledge Article


บิ๊กอาย อันตรายถึงตาบอด


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. มัลลิกา ชมนาวัง
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
36,270 View,
Since 2011-02-21
Last active: 2h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


คงปฏิเสธไม่ได้ถึงแฟชั่นยอดฮิต....บิ๊กอายที่แพร่หลายอยู่ในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงาน ด้วยความที่หาซื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นทางร้านค้าออนไลน์หรือแม้แต่ตามตลาดนัดทั่วไป อันที่จริงแล้วบิ๊กอายเป็นคอนแทกเลนส์แฟชั่น ใส่แล้วทำให้ตาดำดูใหญ่ขึ้น แถมยังมีลูกเล่นสีและลวดลายต่างๆ ตามเทรนด์เกาหลี และที่สำคัญราคายังไม่แพงอีกด้วย ซึ่งจริงๆแล้วผลิตภัณฑ์นี้จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น การผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย จึงจำเป็นจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนเท่านั้น

ในระยะที่ผ่านมามีข่าวผู้ป่วยติดเชื้อที่ตาเนื่องจากการใช้บิ๊กอายหลายราย เชื้อที่เป็นสาเหตุ คือ ซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า (Pseudomonas aeruginosa) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไป เชื้อนี้เป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกของการติดเชื้อที่กระจกตาในผู้ใช้คอนแทกเลนส์ นั่นหมายความว่า ไม่ใช่แค่คนที่ใช้บิ๊กอายเท่านั้นแต่หมายรวมถึงคนใช้คอนแทกเลนส์ทั่วไปด้วย หากยังจำกันได้ เชื้อชนิดเดียวกันนี้เคยเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนางงามชาวบราซิลวัย 20 ปี ที่ติดเชื้อแบคทีเรียตัวเดียวกันนี้ที่กระเพาะปัสสาวะในขณะอยู่โรงพยาบาล ภายหลังเข้ารับการรักษาผ่าตัดนิ่วที่ไต ซึ่งในที่สุดคณะแพทย์ต้องตัดมือและเท้าทั้ง 2 ข้างออกเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเข้าสู่กระแสเลือด และได้เสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงเดือนเศษเท่านั้น หรือในประเทศไทยเองก็เกิดเป็นข่าวดังจากการติดเชื้อดังกล่าวที่กระจกตาเมื่อมารับการผ่าตัดในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยบางรายถึงขั้นตาบอด

ทำไมเชื้อชนิดเดียวกันนี้จึงก่อให้เกิดโรคในลักษณะที่แตกต่างกันได้หลายโรค ?????????คำตอบนั้นอยู่ที่ตัวเชื้อนี้เป็นแบคทีเรียแกรมลบที่จัดเป็นเชื้อประเภทฉวยโอกาส นั่นหมายความว่า เชื้อนี้มักไม่ก่อโรคในคนที่มีสุขภาพดี แต่มักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งรวมไปถึงผู้ป่วยที่อยู่ในอาการโคม่าหรือผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล แบคทีเรียชนิดนี้สามารถแพร่กระจายและก่อโรคได้หลายระบบ อาทิเช่น การติดเชื้อที่กระจกตา ระบบประสาทส่วนกลาง เยื้อหุ้มหัวใจ ปอด ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน ทางเดินปัสสาวะ ปัญหาสำคัญของเชื้อนี้ คือ มักก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เชื้อตัวยังมีความสามารถในการดื้อยาสูงและเชื้อบางสายพันธุ์ของกลุ่มนี้สามารถดื้อยาหลายขนาน หรือที่รู้จักกันว่า Multi-Drug Resistance (MDR)

สำหรับการติดเชื้อที่กระจกตาจากการใช้คอนแทกเลนส์นั้น ดังที่กล่าวแล้วไม่ใช่แต่เพียงผู้ใช้บิ๊กอายเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคอนแทกเลนส์ทั่วไปด้วย สิ่งที่ต้องระวังก็คือ บิ๊กอายที่นำเข้ามาโดยไม่ถูกกฎหมาย ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ยิ่งตัวเลนส์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าตาดำของชาวเอเชียแล้ว ยิ่งอาจก่อความระคายเคืองเกิดรอยถลอก ทำให้โอกาสที่เชื้อผ่านชั้น เยื่อบุผิวตาดำ ไปสู่กระจกตามีมากยิ่งขึ้น เชื้อนี้ยังสามารถสร้างเอนไซม์หลายชนิด เช่น เอ็นไซม์ที่ใช้ย่อยโปรตีนซึ่งสามารถทำลายเยื่อบุผิวตาดำได้ นอกจากนี้ยังมีอาวุธประจำกายอื่นๆ ที่หลากหลายในการทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจจัดแบ่งออกได้เป็นดังนี้

  1. การเข้าเกาะติดเนื้อเยื่อและทวีจำนวนเชื้อ
  2. การเข้าบุกรุกทำลายเซลล์
  3. สร้างเอนไซม์และท็อกซินที่เป็นพิษต่อเนื้อเยื่อ

เชื้อนี้ยังมีความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ผลิตสารที่ทำลายกระจกตาได้ นอกจากนี้ยังกระตุ้นตัวรับ (receptor) เยื่อบุผิวตาดำให้จับตัวเชื้อแล้วกระตุ้นให้เซลล์สร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ที่จะดึงดูดเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้ามาที่กระจกตา เกิดการทำลาย เยื่อบุผิวตาดำ ก่อให้เกิดอันตรายจนอาจทำให้ตาบอดถาวรได้ ดังนั้น ก่อนเลือกใช้คอนแทกเลนส์ จึงควรตรวจสอบว่าผ่านการรับรองจากอย. หรือไม่ และควรดูแลทำความสะอาดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจุลินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Veesenmeyer JL, Hauser AR, Lisboa T, Rello J. Pseudomonas aeruginosa virulence and therapy: evolving translational strategies. Crit Care Med.2009;  37(5):1777-1786.
  2. Willcox MDP. Pseudomonas aeruginosainfection and inflammation during contact lens wear: a review.Optom Vis Sci. 2007;

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.