Knowledge Article


ลูกดูดนมยาก - ภาวะลิ้นติดในทารก


อาจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร
ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.breastfeedingbasics.com/wp-content/uploads/2011/08/BFB-Tongue-Tie-III.jpe
35,649 View,
Since 2016-09-04
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/yy7yp4hp
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เมื่อทารกน้อยลืมตาขึ้นมาดูโลกแล้ว นมแม่นับว่าเป็นอาหารที่สำคัญต่อทารกเพราะอุดมไปด้วยคุณประโยชน์นานับประการ เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนทางด้านโภชนาการและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การให้ทารกได้รับนมแม่เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงของทารกแล้ว ช่วงเวลาให้นมยังถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขของลูกน้อยที่ได้รับไออุ่นจากอ้อมอกของแม่ อย่างไรก็ตามมีทารกจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาไม่สามารถดูดนมแม่เหมือนกับทารกทั่วไป เนื่องจากประสบปัญหาจาก “ภาวะลิ้นติด” เพื่อให้คุณแม่มือใหม่มีความเข้าใจกับความผิดปกติดังกล่าว ผู้เขียนขออธิบายรายละเอียดของความผิดปกติดังต่อไปนี้



ภาวะลิ้นติดในทารกคืออะไร ?

ภาวะลิ้นติดในทารก (tongue tie) เกิดจากการยึดตัวของพังผืดใต้ลิ้นมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า lingual frenulum โดยทารกที่มีภาวะลิ้นติดเกิดจากมีพังผืดชนิดนี้มากกว่าปกติ ข้อมูลทางสถิติของการศึกษาผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่าทารกแรกเกิดมีพังผืดใต้ลิ้นสูงถึง16%

พังผืดใต้ลิ้นคืออะไร ?

ภาวะลิ้นติดในทารก (tongue tie) เนื้อเยื่อพังผืดใต้ลิ้นคือเยื่อบาง ๆ บริเวณโคนลิ้นเป็นเนื้อเยื่อปกติที่พบได้ในทารกทุกราย แต่ในทารกที่มีภาวะลิ้นติดจะมีพังผืดมากกว่าปกติ บางรายอาจปกคลุมมาถึงบริเวณปลายลิ้นทำให้เกิดปัญหาการขยับปลายลิ้นหรือการเคลื่อนไหวของลิ้นไม่ดี เป็นที่ทราบกันว่าลิ้นมีหน้าที่สำคัญสำหรับทารกอยู่หลายประการโดยเฉพาะหน้าที่ในการช่วยดูดนมจากเต้านมของมารดา ขั้นตอนการดูดนม ทารกจะแลบลิ้นเล็กน้อยไปที่ฐานหัวนม ริมฝีปากของทารกและปลายลิ้นจะทำให้เกิดแรงดูดแบบสูญญากาศและลิ้นทำหน้าที่สำคัญในการรูดน้ำนมเข้าช่องปาก ดังนั้นหากทารกมีพังผืดใต้ลิ้นมากเกินไปจะทำให้ปลายลิ้นของทารกขยับออกมาได้ยากกว่าปกติและไม่สามาถทำงานประสานงานกับริมฝีปากได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการดูดนมแม่ ทารกที่มีภาวะลิ้นติดบางรายอาจปรับตัวโดยใช้เหงือกในการช่วยดูดนม ซึ่งลักษณะทางกายวิภาคของเหงือกจะแข็งกว่าลิ้นทำให้แม่เกิดอาการเจ็บปวดจากภาวะหัวนมแตกและเป็นอุปสรรคต่อการให้นมทารก

พังผืดยึดใต้ลิ้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

ภาวะลิ้นติดในทารก (tongue tie) ภาวะที่ทารกมีพังผืดยึดใต้ลิ้นเป็นภาวะที่เกิดมาโดยกำเนิด โดยปกติไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่ถ้าหากทารกแรกเกิดมีพังผืดยึดในบริเวณปลายลิ้นมากจนไม่สามารถขยับปลายลิ้นหรือเคลื่อนไหวลิ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบปัญหาในการดูดนมแม่ แพทย์วินิจฉัยว่าทารกกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา

คุณแม่มือใหม่จะสังเกตภาวะลิ้นติดในลูกน้อยได้อย่างไร ?

คุณแม่ควรมีความใส่ใจในลูกน้อยแรกเกิด หากพบว่าทารกดูดนมแม่ไม่ดีพอควร สามารถสังเกตอาการทารกดังต่อไปนี้ ทารกงับหัวนมไม่ติด มีแรงดูดสูญญากาศเบา ดูดนมไม่เป็นจังหวะ ดูดนมบ่อย น้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามเกณฑ์ปกติ มีอาการตัวเหลือง ส่วนอาการที่คุณแม่มือใหม่จะสังเกตได้อย่างชัดเจนคือการเจ็บขณะที่ทารกดูดนมทั้งที่ฟันน้ำนมของทารกยังไม่ขึ้น อาจมีอาการหัวนมแตกเป็นแผลและส่งผลต่อภาวะเต้านมอักเสบได้

ภาวะทารกลิ้นติดควรเข้ารับการรักษาหรือไม่ ?

ในยุคหลายสิบปีที่ผ่านมา คุณแม่มือใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากนัก และเมื่อพบว่าทารกไม่ค่อยดูดนม อาจคิดว่าตนเองมีน้ำนมน้อยไม่พอเลี้ยงทารกหรืออาจคิดว่าทารกไม่แข็งแรงพอที่จะดูดนม คุณแม่อาจแก้ไขโดยการเลี้ยงทารกด้วยนมขวดหรือนมวัวแทน แต่ในปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เลี้ยงทารกด้วยนมแม่มากขึ้น เนื่องจากมีการยืนยันทางการแพทย์ถึงคุณประโยชน์ของนมมารดา คุณแม่ยุคใหม่มีการปรับตัว ปั้มนมเก็บสะสมแช่แข็งไว้เพื่อจะเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเองให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ จากสาเหตุดังกล่าวนี้ทำให้คุณแม่ยุคใหม่ตื่นตัวกับความผิดปกติในการดูดนมของทารกกันมากขึ้น โดยแท้จริงแล้วภาวะพังผืดใต้ลิ้นอาจไม่ต้องมาเข้ารับการรักษา เพราะทารกยังสามารถดูดนมจากขวดที่ปั้มมาจากนมแม่ได้ แต่อาจจะขาดไออุ่นรักจากอ้อมอกแม่ในช่วงเวลาให้นม

ภาวะทารกลิ้นติดมีการรักษาอย่างไร ?

หากทารกมีพังผืดมากและปกคลุมมาถึงบริเวณปลายลิ้นอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ในอดีตการผ่าตัดในทารกจำเป็นต้องให้ยาสลบ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้คุณพ่อคุณแม่ทารกอย่างมาก แม้ว่าจะทีมแพทย์จะเฝ้าระวังความปลอดภัยของทารกอย่างดีก็ตาม แต่ก็อาจเกิดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ นอกจากนั้นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1-2 วัน ปัจจุบันวงการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น สามารถใช้ยาชาเฉพาะที่แทนการดมยาสลบและทารกสามารถกลับบ้านได้หลังจากการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าภาวะลิ้นติดในทารกอาจไม่ใช่ภาวะที่ร้ายแรงต่อทารกน้อย แต่ในมุมมองของผู้เป็นพ่อแม่ แม้ยุงกัดเพียงตัวเดียวหรือตุ่มแดงเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในทารกย่อมสร้างความวิตกกังวลมิใช่น้อย ภาวะลิ้นติดอาจมีส่วนในการบั่นทอนพัฒนาการของลูกได้ หากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ยังขาดความเข้าใจกับภาวะนี้ เนื่องจากอาจส่งผลต่ออาหารที่ทารกควรได้รับ พ่อแม่ควรสังเกตการดูดนมของลูกน้อยและถ้าพบปัญหาการดูดนมควรพิจารณาให้นมแม่จากขวดนมหรือมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะลิ้นติดเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีครับ สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่าเนื้อหาสาระของบนความนี้จะให้ความรู้กับผู้สนใจและเช่นเดิมครับ พบกันได้ใหม่ในบทความเพื่อแม่และทารกน้อยอีกครั้งในคราวหน้า ”สวัสดีครับ”

เอกสารอ้างอิง
  1. http://www.breastfeedingthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=345949
  2. http://tonguetie.net/breastfeeding/
  3. ภาวะลิ้นติดกับการดูดนมมารดา นพ.มงคล เลาหเพ็ญแสง 99 ปี ศัลยศาสตร์ศิริราช “สุขภาพน่ารู้สู่ประชาชน” 2559

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.