Knowledge Article


อ่านฉลากยาดีๆ มีประโยชน์


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ชะอรสิน สุขศรีวงศ์
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://www.dogilike.com/content/vettalk/1980/
99,907 View,
Since 2016-06-26
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2alkcxbq
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การใช้ยาถึงแม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ยาอย่างผิดวิธี ทำให้ส่งผลเสียต่อการรักษาและรวมไปถึงสุขภาพของผู้ใช้ยา บางครั้งผู้ใช้ยาอาจลืมวิธีการใช้ยาแต่ก็ละเลยที่จะอ่านฉลากยา ซึ่งจริงๆ แล้วการอ่านฉลากเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งและมีประโยชน์เป็นอย่างมาก





ฉลากยาที่พบได้บ่อย คือ ฉลากยาจากบริษัทผู้ผลิต และ ฉลากยาจากสถานพยาบาล/คลินิก/ร้านขายยา ดังตัวอย่างในรูปที่ 1 ซึ่งรายละเอียดจะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ทั้งนี้การให้ข้อมูลมีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อให้ผู้บริโภคใช้ยาได้อย่างถูกต้อง และมีความปลอดภัยจากการใช้ยา



ข้อมูลแสดงบนบรรจุภัณฑ์

ยาทุกชนิดทุกประเภทจำเป็นต้องมีฉลากและเอกสารกำกับยาติดอยู่ในขวดหรือในกล่องยา เพราะฉลากและเอกสารกำกับยาเหล่านี้คือแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะแนะนำให้ผู้บริโภครู้ไว้เพื่อประกอบในการใช้ยา ในเอกสารกำกับยาจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับยาเอาไว้หลายประเด็น ไม่เพียงแต่ทำให้เราทราบชื่อยา ข้อบ่งใช้ หรือสรรพคุณของยาเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ ดังนั้นการใช้ยาอย่างถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาพยาบาล เพราะหากใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องอาจนำไปสู่โทษอย่างมหันต์ได้ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ความในมาตรา 25 กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันต้องจัดให้มีฉลากตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ โดยจะต้องปิดไว้ที่ภาชนะและหีบห่อบรรจุยาหรือฉลากและเอกสารกำกับยา ดังตัวอย่างในรูปที่ 2 ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้



ชื่อยาบนฉลาก ซึ่งจะมีทั้งชื่อสามัญทางยาและชื่อทางการค้า จึงเป็นที่มาของยาชนิดเดียวกันอาจมีชื่อการค้าหลายชื่อหรือมีหลายยี่ห้อ ผู้ใช้ยาจึงควรทราบสูตร ส่วนประกอบ หรือ ชื่อสามัญทางยาของยาที่ใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงตัวยาที่แพ้ หรือ การใช้ยาซ้ำซ้อน อันเป็นสาเหตุของการใช้ยาเกินขนาดที่อาจจะเป็นอันตรายได้

วันผลิตและวันหมดอายุ ช่วยให้หลีกเลี่ยงอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพเนื่องจากการใช้ยาที่หมดอายุแล้ว วันหมดอายุของยาจึงบอกช่วงเวลาที่ควรใช้หรือจ่ายยา บางครั้งผู้ผลิตอาจจะใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษแทนข้อความภาษาไทย เช่น

MFG. date หรือ MFd ย่อมาจากคำว่า manufacturing date แปลว่าวันที่ผลิต เช่น
  • MFd 22/6/16 หมายถึง ยานี้ผลิตเมื่อวันที่ 22 เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016 หรือ พ.ศ. 2559
  • MFG. date 15.12.58 หมายถึง ยานี้ผลิตเมื่อวันที่ 15 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2558
  • MFd AUG.15 หมายถึง ยานี้ผลิตเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558
EXP หรือ Exp. date ย่อมาจากคำว่า expiration date แปลว่า วันที่หมดอายุ เช่น
  • EXP JUL 17 หมายถึง ยานี้หมดอายุเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2017 หรือ พ.ศ. 2560
  • Exp. date 15.12.61 หมายถึง ยานี้หมดอายุวันที่ 15 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561
ผลข้างเคียงของยา ข้อห้ามใช้และคำเตือน เป็นข้อความที่ผู้ใช้ยาควรให้ความใส่ใจและให้ความสำคัญ เนื่องจากยานั้นอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ได้ เช่น รับประทานยานี้แล้วอาจทำให้ง่วงนอนไม่ควรใช้เครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ ยานี้จะระคายเคืองกระเพาะอาหาร ถ้ารับประทานขณะท้องว่างอาจจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคตับ หรือโรคไต ไม่ควรใช้ยาใด หากผู้ใช้ยาไม่เข้าใจข้อความในเอกสารกำกับยา สามารถขอคำปรึกษาจากเภสัชกรได้

เลขทะเบียนตำรับยาบนบรรจุภัณฑ์มักจะมีคำว่า Reg. No หรือเลขทะเบียนที่ หรือทะเบียนยา สิ่งนี้แสดงให้ผู้บริโภคทราบว่า ยานั้นได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วว่ามีผลในการรักษาจริง

ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้ใช้ทราบว่ายาดังกล่าวมีข้อควรระวังในการใช้ยามากน้อยแค่ไหน หรือควรใช้ยานี้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร โดยมากจะแสดงข้อความด้วยอักษรสีแดงบนบรรจุภัณฑ์

ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญโดยเฉพาะกรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับยาของบริษัทนั้นๆ ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อร้องเรียนได้ถูกต้อง โดยระบุเลขที่หรือครั้งที่ผลิตของยานั้นเพื่อให้หน่วยงานรับเรื่องทำการตรวจสอบได้ถูกต้องและรวดเร็ว

ชื่อและนามสกุลของผู้ป่วย ฉลากยาจากสถานพยาบาลจะแสดงชื่อและนามสกุลของผู้ป่วยกำกับทุกครั้ง นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการส่งมอบยาให้ผู้ป่วยถูกรายแล้ว ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งเพื่อเตือนใจผู้ป่วย คือ ไม่ควรแบ่งยาให้ผู้อื่นหรือรับประทานยาของผู้อื่น เนื่องจากแต่ละคนอาจมีโรคที่แตกต่างกัน หรือยามีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางราย ความรุนแรงของโรคต่างกัน รวมถึงขนาดยาที่ใช้แตกต่างกัน นอกจากจะไม่ช่วยในการรักษา อาจส่งผลเสียต่อผู้อื่นได้

การอ่านฉลากยานับเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยรักษาประโยชน์และให้ความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นแหล่งที่เราศึกษาหาความรู้ด้านยาด้วย

เอกสารอ้างอิง
  1. http://www.health-pmk.org/
  2. https://www.doctor.or.th/ask/detail/4711
  3. http://www.pharmacistchitchat.com/2015/05/05
  4. http://matt-thai.blogspot.com/p/blog-page.html

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.