Knowledge Article


ไขมันในเลือดสูง แม้ผอมหุ่นเพรียว .. ทำไม ??


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์
(สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : รศ.ดร.ภก.ศุภโชค มั่งมูล)
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://images.shape.mdpcdn.com/sites/shape.com/
files/styles/facebook_og_image/public/media/
woman-tree-pose-breach-yoga.jpg?itok=uXPgPAve
90,115 View,
Since 2016-05-11
Last active: 2m ago
https://tinyurl.com/2bnhxj5p
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


คงมีหลายคนที่รูปร่างสวยเพรียว หรือ ผอม แต่เมื่อตรวจร่างกายพบว่ามีไขมันในเลือดสูง ทำให้สงสัยว่า ตรวจผิดหรือเปล่า มันไม่น่าเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนอยากเรียนว่า คนที่รูปร่างสวยเพรียว หรือ ผอมก็มีไขมันในเลือดสูงได้ … ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ???

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านว่า การที่เราบอกว่าคนๆหนึ่งมีรูปร่างสวยเพรียว หรือ ผอมนั้น เรามองจากรูปลักษณ์ภายนอก และประเมินด้วยสายตาว่าคนๆนั้นมีไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังในส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มาก แต่ไขมันในเลือดเป็นส่วนของไขมันที่ละลายอยู่ในกระแสเลือด เป็นคนละส่วนกับไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ฉะนั้นคนอ้วนจึงไม่จำเป็นต้องมีไขมันในเลือดสูงเสมอไป และ คนผอมก็อาจจะมีไขมันในเลือดสูง ได้

ไขมันในร่างกายประกอบด้วย ไขมันในหลอดเลือด ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง

ไขมันเหล่านี้มาจากไหนไขมันในร่างกายมาจาก 2 แหล่งด้วยกัน คือ จากอาหารที่บริโภคและ จากการที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง ไขมันจะถูกนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน นำไปสร้างฮอร์โมน นำไปสร้างน้ำดีเพื่อช่วยในการดูดซึมอาหารไขมัน และ ใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างเนื้อเยื่อของเซลล์

ไขมันในเลือด อยู่ในรูปไลโปโปรตีน คือ เป็นสารประกอบของไขมันและโปรตีน ซึ่งไลโปโปรตีนที่อยู่ในเลือดสามารถผสมเข้ากันกับส่วนประกอบต่างๆของเลือดได้ ส่วนของไขมันไลโปโปรตีนมีทั้งที่เป็น โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟลิปิด และ กรดไขมันอิสระ ไขมันแต่ละชนิดมีหน้าที่ต่างๆกัน คือ โคเลสเตอรอลเป็นไขมันที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ และได้รับจากอาหารที่รับประทาน ไขมันชนิดนี้เป็นสารตั้งต้นที่นำไปสร้างน้ำดี เพื่อช่วยในการดูดซึมอาหารไขมันและใช้สร้างฮอร์โมนบางชนิด ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้และได้จากอาหารที่รับประทานเข้าไปโดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง หรืออาหารที่มีรสหวาน ไขมันชนิดนี้เป็นแหล่งพลังงานที่ร่างกายสะสมไว้ใช้ ฟอสโฟลิปิดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ ส่วนกรดไขมันอิสระเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย

ไลโปโปรตีนแบ่งตามความหนาแน่นของโมเลกุลได้เป็นหลายชนิด แต่ที่เรารู้จักกันดี คือ
  • แอลดีแอล (Low density lipoprotein – LDL) เป็น ไลโปโปรตีนที่มีโคเลสเตอรอลประกอบอยู่ถึง 60% ไลโปโปรตีนชนิดนี้จึงมีหน้าที่นำเอาโคเลสเตอรอลไปยังเซลล์ที่ต้องการใช้โคเลสเตอรอล แต่หากมีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูงจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และหากมีโรคเบาหวานหรือมีโรคหัวใจร่วมด้วยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น
  • วีแอลดีแอล (Very low density lipoprotein – VLDL) เป็น ไลโปโปรตีนที่สร้างจากตับประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ 45-60% จึงมีหน้าที่นำไตรกลีเซอไรด์ไปเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานโดยเอมซัยม์ LPL จะสลาย ไตรกลีเซอไรด์ใน VLDL ให้เป็นกรดไขมันอิสระที่พร้อมจะถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย ภาวะ VLDL ในเลือดสูงก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน
  • เอชดีแอล (High density lipoprotein – HDL) เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย มีหน้าที่นำโคเลสเตอรอลที่สะสมตามผนังหลอดเลือดหรือที่เนื้อเยื่ออื่นๆไปทำลายที่ตับ ดังนั้นถ้าระดับ HDL ในเลือดสูง จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง การออกกำลังกายทำให้ค่า HDL ในเลือดเพิ่มมากขึ้นได้
จะเห็นได้ว่าร่างกายมีทั้งกระบวนการสร้างและย่อยสลายไขมัน ตลอดจนกระบวนการนำไขมันที่สะสมในบริเวณที่ไม่สมควรกลับเข้าสู่ตับ แต่ภาวะไขมันในเลือดสูงก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ปัจจุบันภาวะไขมันในเลือดสูงจัดเป็นหนึ่งภาวะของกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome ซึ่งประกอบด้วย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และ ภาวะไขมันในเลือดสูง) ฉะนั้นคนอ้วน (สตรีที่มีเส้นรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ80 เซนตเมตร และผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวมากกวาหรือ เท่ากับ 90เซนติเมตร) ก็น่าจะมีโอกาสเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้มากกว่า ทั้งนี้เพราะไขมันในช่องท้องจะทำให้เกิดกลไกการเผาผลาญน้ำตาลที่ผิดปกติมากกว่าไขมันที่กระจายอยู่บริเวณอื่นในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น และเมื่อเป็นโรคเบาหวานก็จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงและภาวะไขมันในเลือดสูงด้วย

ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง เกิดจากการสะสมของน้ำตาลที่แปรสภาพเป็นไขมัน แล้วไปเกาะอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย หรือที่เห็นเป็นชั้นหนา ๆของไขมันบริเวณหน้าท้องนั่นเอง ไขมันชั้นนี้ไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงมากนัก เพราะเป็นไขมันที่สามารถกำจัดได้ง่ายกว่าไขมันในส่วนอื่น

ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) ก็เป็นไขมันใต้ชั้นผิวหนังเช่นกัน เกิดจากการสะสมตัวของสารอาหารประเภทไขมันในอาหารที่ร่างกายเผาผลาญเป็นพลังงานไม่หมด ทำให้ไปเกาะอยู่ตามบริเวณระหว่างกล้ามเนื้อท้องกับอวัยวะภายในช่องท้องในลักษณะแทรกตัวอยู่ตามเนื้อเยื่อของเซลล์ต่าง ๆ ฉะนั้นเมื่อมองจากภายนอกแล้วเห็นเป็นหน้าท้องยื่นออกมา แต่ถ้าหากลองอัลตร้าซาวด์ดูจะพบว่าอวัยวะภายในถูกห่อหุ้มไว้ด้วยถุงไขมันสีเหลือง ไขมันในช่องท้องเป็นไขมันที่อันตรายมากเมื่อเทียบกับไขมันบริเวณอื่นของร่างกาย เพราะไขมันชนิดนี้จะสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระ สามารถละลายเข้าสู่กระแสเลือดไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ ดังเช่นการไปสะสมที่ตับจนเกิดภาวะไขมันพอกตับ เป็นต้น นอกจากนี้ไขมันในช่องท้อง ยังเผาผลาญออกให้หมดยากกว่าไขมันในบริเวณอื่นด้วย ผลเสียที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งคือกรดไขมันอิสระในกระแสเลือดที่เพิ่มขึ้นจะไปยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง

จากชนิดต่างๆของไขมันจะเห็นได้ว่า การที่จะบอกว่าคนๆหนึ่งผอมหรืออ้วน ประเมินจากการสะสมของไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง แต่การจะบอกว่าคนๆหนึ่งมีไขมันในเลือดสูงหรือไม่นั้น ไม่สามารถประเมินด้วยตาเปล่า ต้องรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทราบว่ามีไขมันในเลือดสูงหรือไม่

นั่นคือ คนผอม หุ่นดีก็มีภาวะไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาลดไขมันในเลือดได้จากบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เรื่อง ยาลดไขมันในเลือด

เอกสารอ้างอิง
  1. http://www.anamai.moph.go.th/occmed/hburee/lipidguideline.html access 26/04/20162.
  2. บทความจาก website สสส เรื่อง ไขมันช่องท้อง อันตรายอย่างไร access 26/04/2016
  3. บทความจาก website สสส เรื่อง ความรู้เรื่องไขมันในร่างกาย access 26/04/2016

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.