เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาลดไขมันในเลือด


ผุ้ช่วยอาจารย์ ภญ. วิภารักษ์ บุญมาก ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 400,827 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 05/11/2557
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ในยุคปัจจุบันที่ความรู้ทางการแพทย์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มีการรักษาและการใช้ยาที่มีคุณภาพมากขึ้น ประชากรทั่วโลกจึงมีอายุขัยยาวนานขึ้น แต่ก็ปรากฎว่า โรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (non-communicable disease หรือ NCD) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคเบาหวาน เป็นต้น ได้กลายมาเป็นเพื่อนร่วมทางของประชากรในช่วงอายุที่เรียกว่า “วัยกลางคน” ไปจนถึง “วัยชรา” และก่อภาระทางสุขภาพและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งเราจะได้ยินได้อ่านเรื่องราวของโรค NCD นี้ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือจากข่าววิทยุโทรทัศน์ เนืองๆ โรคนี้เป็นโรคที่ไม่สามารถหายขาดได้ จำเป็นต้องใช้ยาในการควบคุมโรคไปตลอด อีกทั้งโรคเหล่านี้เมื่อเป็นแล้วก็จะมีการดำเนินไปของโรคที่จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มักจะไม่แสดงอาการออกมา จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าหายแล้วและอาจหยุดรับประทานยา ซึ่งเป็นผลให้การดำเนินไปของโรครุดหน้าไปอีก และเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องใช้ยาหลายชนิด หรือรับประทานยาวันละหลายครั้ง ผู้ป่วยอาจเกิดความเบื่อหน่าย หรือเป็นกังวลกับการรับประทานยาต่อเนื่องว่าจะปลอดภัยหรือไม่ โดยเฉพาะยาลดไขมันในเลือด ซึ่งเป็นยาชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยโรค NCD มักจะได้รับ 
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับไขมันต่างๆ ในเลือดกันก่อน หากแบ่งอย่างคร่าวๆ ไขมันจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ โคเลสเตอรอล และ ไตรกลีเซอไรด์ หากค่าไขมันทั้งสองชนิดนี้สูงกว่าเกณฑ์ปกติก็ถือว่าเป็นโรคไขมันในเลือดผิดปกติ 
โคเลสเตอรอลในเลือดยังแบ่งได้อีกหลายชนิด แต่มีอยู่ 2 ชนิดที่ควรรู้จัก คือ LDL (low density lipoprotein) -cholesterol หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่า ไขมันตัวร้าย เนื่องจากพบว่า LDL ที่มากเกินไปจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในหลอดเลือด นำไปสู่การสะสมของไขมันทำให้เกิดการอุดตันหลอดเลือดได้ ส่วนไขมันตัวดี หรือ HDL (high density lipoprotein) -cholesterol มีหน้าที่ทำความสะอาดหลอดเลือดจากการสะสมของโคเลสเตอรอลที่มากเกินไป จึงช่วยปกป้องหลอดเลือดจากกระบวนการอักเสบและการอุดตัน ดังนั้น หากมี LDL ในเลือดสูงกว่าปกติจะถือว่าผิดปกติ แต่หากมี HDL ในเลือดน้อยกว่าค่าปกติจึงจะถือว่าผิดปกติ 
โรคไขมันในเลือดผิดปกติหรือ dyslipidemia เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรค NCD ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีระดับไขมันในเลือดต่างไปจากเกณฑ์ปกติ เมื่อมีไขมันชนิดต่างๆ เหล่านี้ในเลือดผิดปกติ สิ่งที่ตามมาคือ กระบวนการอักเสบในหลอดเลือด เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ซึ่งเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือดอันจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ (medical emergency) เนื่องจากเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย และต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน 
หัวใจสำคัญของการรักษาโรคไขมันในเลือดผิดปกติ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการใช้ยาลดไขมันในเลือดโดยมีเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว เป้าหมายของการรักษาจะเปลี่ยนเป็นการใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ 
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวกับการรักษาโรคนี้คือ แนวทางในการรักษากำลังมีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากความรู้และหลักฐานทางวิชาการที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีมุ่งไปที่ระดับ LDL และใช้ยากลุ่มใดก็ได้เพื่อให้ได้ LDL อยู่ในระดับที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล กลายมาเป็นมุ่งเน้นการใช้ยากลุ่มที่มีชื่อว่า HMG-CoA reductase inhibitors หรือยากลุ่มที่มีชื่อลงท้ายว่า statin (สะแตติน) ในขนาดที่เหมาะสมกับแต่ละความเสี่ยงของผู้ป่วยเนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการรองรับชัดเจนในแง่การลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ แม้ว่าจะยังมีข้อถกเถียงกันในรายละเอียดและอาจจะต้องรอหลักฐานทางวิชาการที่กำลังจะออกมาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันแนวคิดนี้ ยากลุ่ม statin ก็ได้กลายมาเป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดผิดปกติที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน 
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่สามารถลดปริมาณไขมันตัวร้าย รวมถึงมีความสามารถในการลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์และเพิ่มปริมาณไขมันตัวดีได้ด้วย ยากลุ่มนี้ยังมีฤทธิ์เพิ่มเติมอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการลดไขมัน เช่น ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยให้เส้นเลือดขยายตัว ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ 
สมาชิกของยาในกลุ่มนี้มีด้วยกันหลายชนิด เช่น atorvastatin (อะทอร์วาสะแตติน), fluvastatin (ฟลูวาสะแตติน), pitavastatin (พิทาวาสะแตติน), pravastatin (พราวาสะแตติน), rosuvastatin (โรซูวาสะแตติน) และ simvastatin (ซิมวาสะแตติน) ซึ่งมีชื่อการค้าต่างๆ กันไป ยาแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันในแง่ของประสิทธิภาพในการลด LDL, cholesterol ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของยา วิธีการในการทำลายและขับยาออกจากร่างกาย รวมถึงความมากน้อยของการเกิดผลข้างเคียงและปฏิกิริยาระหว่างยา จึงเป็นข้อดีที่แพทย์ผู้ใช้ยาสามารถเลือกยาได้อย่างหลากหลายตามลักษณะและปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย 
ยากลุ่มสะแตตินนี้เป็นยาเม็ด โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เนื่องจากกระบวนการสร้างโคเลสเตอรอลจะเกิดขึ้นมากในช่วงเวลากลางคืน (ช่วงเที่ยงคืนในผู้ป่วยที่มีเวลาการตื่นนอนและเข้านอนเป็นปกติ) อย่างไรก็ตามยาลดไขมันรุ่นใหม่บางชนิดมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่ยาวนานเพียงพอที่จะใช้ในเวลาอื่นๆได้ เช่น หลังอาหารเช้า เป็นต้น ดังนั้น แนะนำให้รับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยให้ปรึกษาเภสัชกร เมื่อรับประทานยาจนได้ระดับของไขมันในเลือดเป็นที่น่าพอใจแล้ว ผู้ป่วยก็ต้องรับประทานยาลดไขมันนั้นๆ ต่อไป เนื่องจากไขมันในเลือดที่เห็นเป็นผลมาจากการรับประทานยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยนั่นเอง นอกจากนี้อาจจะต้องระวังการใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพรที่โฆษณาว่าช่วยลดไขมันในเลือด เนื่องจากอาหารเสริมหรือสมุนไพรบางชนิดอาจรบกวนการออกฤทธิ์ของยา รวมถึงเพิ่มผลข้างเคียงได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้สมุนไพรหรืออาหารเสริมใดๆ ร่วมด้วย 
หากก่อนนอน ลืมรับประทานลดไขมัน แล้วนึกได้ในเวลาเช้าของอีกวัน ให้รับประทานยาของวันนั้นตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา เนื่องจากประสิทธิภาพของการลดไขมันโดยรวมจะไม่กระทบมากนัก การรับประทานยาเกินขนาดกลับจะเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น 
ในกรณีที่รับประทานยาลดไขมันตอนเช้าอยู่แล้ว และนึกได้ในวันเดียวกัน สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากนึกได้ในวันถัดไปก็ให้รับประทานยาของวันนั้นตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา 
แม้ว่าระดับไขมันในเลือดจะลดลงด้วยการรับประทานยาลดไขมัน แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยก็ยังคงมีความสำคัญ กล่าวคือ ผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมการลดลงของ LDLและ cholesterol แล้วยังช่วยให้สุขภาพร่างกายโดยรวมแข็งแรงมากขึ้น และระบบการเผาผลาญในร่างกายดีขึ้นด้วย นอกจากการออกกำลังกายแล้ว ผู้ป่วยควรเลิกสูบบุหรี่ (ในรายที่สูบบุหรี่) เพราะจากการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่ส่งเสริมให้กระบวนการอักเสบของร่างกายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ได้รับประโยชน์ในแง่ของการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคไขมันในเลือดสูงที่ได้รับจากยาลดลง อีกทั้งการรับประทานอาหารที่เหมาะสม (เน้นรับประทานผักและผลไม้, ไขมันต่ำ) และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก็มีความสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการควบคุมไขมันในเลือดได้ดีมากยิ่งขึ้น 
มีความเข้าใจว่าไขมันในเลือดสูงทำให้อ้วน จึงรับประทานยาลดไขมันเพื่อลดความอ้วน ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้องเพราะไขมันในเลือดสูงและอ้วนเกิดจากเหตุปัจจัยที่ต่างกัน 
โรคไขมันในเลือดสูงเป็นปัญหาที่เกิดจากการมีโคเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์มากเกินไปในเลือด ผลเสียที่ตามมาคือการอุดตันของหลอดเลือดต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ความอ้วนเกิดจากการสะสมของ “เนื้อเยื่อไขมัน” ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเนื้อเยื่อไขมันเหล่านี้จะสร้างสารที่กระตุ้นให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้น ทำให้เซลล์และอวัยวะบางชนิดทำงานผิดปกติ เหนี่ยวนำให้ตับอ่อนหลั่งอินสุลินลดลงและอาจจะตามมาด้วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูงก็ไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างอ้วน และการใช้ยาลดไขมันก็ไม่สามารถทำให้การสะสมของเนื้อเยื่อไขมันลดลงในคนอ้วนได้ 
กล่าวโดยสรุป โรคไขมันในเลือดสูงเป็นโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องใช้ยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการควบคุมโรค ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีเป้าหมายของการรักษาและชนิดของยาที่ใช้แตกต่างกันไป การดูแลตนเองและรับประทานยาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้ดี นอกจากนี้ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อติดตามผลของการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ อย่าเบื่อหน่ายการรับประทานยา เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถควบคุมโรคไขมันในเลือดสูงได้


 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Stone NJ, Robinson J, Lichtenstein AH, Merz NB, Blum CB, Eckel RH, et al. 2013 ACC/AHA Guideline on the Treatment of Blood Cholesterol to Reduce Atherosclerotic Cardiovascular Risk in Adults: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines. J Am Coll Cardiol. 2014 Jul 1;63(25 Pt B):2889-934.
  2. Reiner Z, Catapano AL, Backer GD, Graham I, Taskinen M, Wiklund O, et al. ESC/EAS guidelines for the management of dyslipidemias. Eur Heart J 2011;32:1769-1818.
  3. Bonetti PO, Lerman LO, Napoli C, Lerman A. Statin effects beyond lipid lowering--are they clinically relevant? Eur Heart J 2003;24:225–48.
  4. Saito Y, Yoshida S, Nakaya N, Hata Y, Goto Y. Comparison between morning and evening doses of simvastatin in hyperlipidemic subjects. A double-blind comparative study. Arterioscler Thromb. 1991 Jul-Aug;11(4):816-26.
  5. Martin PD, Mitchell PD, Schneck DW. Pharmacodynamic effects and pharmacokinetics of a new HMG-CoA reductase inhibitor, rosuvastatin, after morning or evening administration in healthy volunteers. Br J Clin Pharmacol. Nov 2002;54(5):472–7.
  6. Plakogiannis R, Cohen H, Taft D. Effects of morning versus evening administration of atorvastatin in patients with hyperlipidemia. Am J Health Syst Pharm. 2005 Dec 1;62(23):2491-4.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาลดไขมันในเลือด 1 วินาทีที่แล้ว
ดอกคาโมมายล์ 13 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้