Knowledge Article


คลอโรฟีลล์มีประโยชน์จริงหรือ?


พนิดา ใหญ่ธรรมสาร
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
92,281 View,
Since 2015-01-09
Last active: 8m ago
https://tinyurl.com/y7k5kxue
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

คลอโรฟีลล์เป็นสารสีเขียวที่พบได้ในพืชผักทั่วไปและในสาหร่ายสีเขียว (chlorella) สารคลอโรฟีลล์ในธรรมชาติจะอยู่ในรูปของคลอโรฟีลล์ที่ละลายในน้ำมัน ส่วนคลอโรฟีลล์ที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะเป็นสารสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า โซเดียมคอปเปอร์คลอโรฟีลลิน (Sodium copper chlorophyllin) ซึ่งเป็นการดัดแปลงโครงสร้างคลอโรฟีลล์ตามธรรมชาติ ทำให้ได้สารคลอโรฟีลลินที่ยังคงมีสีเขียวอยู่ แต่มีความคงตัวและสามารถละลายน้ำได้ดี สามารถนำมาผสมในอาหารและเครื่องดื่มได้
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า คลอโรฟีลล์ ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของคลอโรฟีลล์ มีฤทธิ์ยับยั้งเนื้องอกที่เต้านม ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งตับ ช่วยเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาว ช่วยลดกลิ่นตัว กลิ่นของอุจจาระ และกลิ่นของปัสสาวะ ช่วยให้รอยแผลบริเวณผิวหนังซึ่งเกิดจากการฉายแสงเพื่อรักษามะเร็งหายเร็วขึ้น และช่วยขับสารพิษ อย่างไรก็ตาม การได้รับคลอโรฟีลล์มากเกินไปอาจเกิดการสะสมและมีผลเสียต่อตับและไตได้
สำหรับข้อมูลด้านความปลอดภัย PDR (Physicians, Desk Reference) for Health มีข้อกำหนดดังนี้
ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้หรือไวต่อสิ่งกระตุ้นที่มีคลอโรฟีลล์และคลอโรฟีลลินเป็นส่วนประกอบ
ข้อควรระวัง: การรับประทานคลอโรฟีลล์และคลอโรฟีลลินเสริมนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตร
ผลข้างเคียง: การรับประทานคลอโรฟีลล์และคลอโรฟีลลินเสริม อาจทำให้ปัสสาวะและอุจจาระมีสีเขียว ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกือบดำ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดอาการแพ้สารคลอโรฟีลลิน โดยอาจพบผื่นแพ้ขึ้นตามตัว มีอาการเวียนศีรษะ เหงื่อออกมากและความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็วได้
ขนาดที่ใช้: โดยทั่วไปขนาดที่นิยมใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคือ 100 มก./วัน
ในอเมริกากำหนดความปลอดภัยของสารคลอโรฟีลลินในผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารหรือใช้เป็นสีผสมอาหารได้ไม่เกิน 300 มก./วัน สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป สามารถรับประทานคลอโรฟีลลินได้ในขนาด 90 มก./วัน
จากข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวกับคลอโรฟีลล์ และคลอโรฟีลลิน จะเห็นได้ว่าคลอโรฟีลล์มีประโยชน์พอสมควร แต่ในการบริโภคนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ความปลอดภัย ความจำเป็นที่ต้องใช้คุณภาพและราคา เป็นต้น ซึ่งหากสามารถบริโภคผักใบเขียวได้ คงไม่จำเป็นที่จะต้องบริโภคคลอโรฟีลล์ที่เป็นสารสังเคราะห์ แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้ ควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม และสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เพื่อสุขภาพของตัวท่านเอง
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับคลอโรฟีลล์เพิ่มเติมได้ใน จุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับปีที่ 24 ฉบับที่ 2


Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.