Knowledge Article


ท้องเสียเฉียบพลัน จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะหรือไม่ ?


นศภ. ณัชชา อรัชพร
นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
14,874 View,
Since 2014-10-05
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/2keeklpw
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

ท้องเสียเฉียบพลัน คืออะไร?

ท้องเสียเฉียบพลัน คือภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำอย่างน้อย3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง (หรือถ่ายบ่อยกว่าปกติ) หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากอย่างน้อย 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมงโดยจะมีอาการดังกล่าวไม่เกิน 14 วัน

ท้องเสียเฉียบพลันสามารถแบ่งตามอาการนำเด่นได้ดังนี้

1. กลุ่มที่มีอาการอาเจียนเป็นอาการเด่นได้แก่

- อาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้น ซึ่งเป็นสารพิษ

ที่ทนต่อความร้อนจึงพบได้แม้ในอาหารที่ปรุงสุกแล้ว มักมีอาการหลังรับประทานอาหาร 6-24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นอาหารที่ทิ้งไว้นานแล้วโดยจะเริ่มด้วยอาการอาเจียนรุนแรง ตามด้วยท้องเสียแต่ไม่รุนแรง อาการดังกล่าวสามารถหายได้เองใน 1-2วัน กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เนื่องจากไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวเชื้อ

- ท้องเสียจากเชื้อไวรัส  มักพบในเด็กโดยจะมีอาการของหวัดนำมาก่อน ต่อมาจะอาเจียน ตามด้วย

ท้องเสียไม่มีเลือดปน อาการดังกล่าวมักหายได้เองใน 3-4 วัน กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เนื่องจากมีสาเหตุมากจากเชื้อไวรัส ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

2. กลุ่มที่มีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ได้แก่

- กลุ่มที่ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ  ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก อาจเป็นสีขาวขุ่นคล้ายน้ำซาว

ข้าว มักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่สร้างสารพิษได้ กรณีนี้ต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

- กลุ่มที่ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด  ให้สังเกตอาการของบิด

กรณีมีอาการของบิด (รู้สึกปวดเบ่งที่ทวารหนัก แต่ถ่ายไม่สุด)

- บิดไม่มีตัว จะมีไข้ร่วมด้วย ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น norfloxacin

- บิดมีตัว จะไม่มีไข้ร่วมด้วย ควรได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องก่อนการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

กรณีไม่มีอาการของบิด โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยกเว้นผู้ป่วยบางกลุ่ม

เช่น สูงอายุ, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

3. อื่นๆเช่น ท้องเสียในนักเดินทาง

“ท้องเสีย”เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อหรือสารพิษ โดยกำจัดออกทางอุจจาระและการอาเจียน ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุดคือให้ร่างกายขับเชื้อหรือสารพิษออกมาจนหมด ยกเว้นกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และไม่ควรใช้ยาหยุดถ่าย เนื่องจากจะทำให้เชื้อหรือสารพิษเหลือค้างอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลงได้แต่ควรรักษาตามอาการ เช่น ทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป

อันตรายที่เกิดจากท้องเสียเฉียบพลัน

หากมีอาการท้องเสียเฉียบพลัน จะทำให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับการอาเจียนและอุจจาระ หากมีการสูญเสียปริมาณมากจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำขึ้น ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็ก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องประเมินภาวะขาดน้ำ อาการที่บ่งบอกถึงภาวะขาดน้ำ เช่น ปากคอแห้ง กระหายน้ำ ผิวหนังแห้ง (หากดึงหนังขึ้นจะไม่คืนตัวทันที) หรืออาจทดสอบโดยการกดเล็บ ซึ่งโดยปกติแล้วเล็บจะกลับมาเป็นสีชมพูอีกครั้งภายในเวลา 2 วินาทีแต่หากมีภาวะขาดน้ำจะใช้เวลามากกว่า 2 วินาที เป็นต้น สำหรับเด็กเล็กอาจมีอาการ เช่น ร้องไห้ไม่มีน้ำตา กระหม่อมบุ๋ม

การรักษาภาวะขาดน้ำ ทำได้โดยการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป โดยทั่วไปจะให้ Oral rehydration salts (ORS) ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือ โซเดียมและกลูโคส รับประทานร่วมกับน้ำ ค่อยๆจิบจนหมด โดยจะรับประทานมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นกับความรุนแรงของภาวะขาดน้ำ

 

เอกสารอ้างอิง

1. สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่. 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2546.

2. Guerrant RL, Gilder TV, Steiner TS, Thielman NM, Slutsker L, Tauxe RV. et al. Practice guidelines for the management of infectious diarrhea. CID 2001; 32: 331-51.

3. World Health Organization. The treatment of diarrhoea: a manual for physicians and other senior health workers. Geneva; 2005.

4. Hatchette TF, Farina D. Infectious diarrhea: when to test and when to treat. CMAJ 2011; 183(3): 339-44.

 

Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.