Knowledge Article


โรคคอตีบ


อาจารย์ ดร. ภญ. ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
74,829 View,
Since 2013-05-25
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2aa2jk6y
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

โรคคอตีบเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัสกับน้ำลาย เช่น การไอ จาม หรือพูดคุยในระยะประชิด หรือบางครั้งการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น ช้อนหรือแก้วน้ำ หรือการเล่นร่วมกันในเด็กเล็กจะทำให้เชื้อเข้าสู่ผู้รับได้ทางปากหรือทางการหายใจ ผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ หรือมีอาการรุนแรงซึ่งอาจทำให้พิการหรือถึงแก่ชีวิตได้
อาการของโรคนั้นแบ่งเป็น 2 ระยะคือ
- ระยะฟักตัว จะอยู่ที่ประมาณ 2 – 5 วันหรืออาจจะนานกว่านี้ ในบางกรณีผู้ติดเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการใดๆ ซึ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อซึ่งไม่แสดงอาการเหล่านี้มักจะพบว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ
- ระยะแสดงอาการ อาการจะเริ่มด้วยมีอาการเจ็บคอ มีไข้ต่ำ มีอาการคล้ายไข้หวัดในระยะแรก มีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายอาการคออักเสบ บางรายจะพบอาการต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณลำคอ และจะมีการพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณต่อมทอนซิลและลิ้นไก่ ซึ่งแผ่นเยื่อนี้เกิดการเจริญเติบโตของกลุ่มเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีการสร้างสารพิษออกมาเป็นผลให้เนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบตายลงและซ้อนทับกัน
อาการแทรกซ้อนที่สามารถพบได้เช่น ไซนัสอักเสบหรือหูชั้นในอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงสารพิษที่เชื้อแบคทีเรียสร้างออกมายังสามารถทำให้เกิดเส้นประสาทอักเสบหรือหัวใจอักเสบได้ นอกจากนี้อาจเกิดทางเดินหายใจตีบตันซึ่งเกิดจากแผ่นเยื่อลามลงไปในลำคอและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การระบาดในแต่ละครั้งของโรคคอตีบมักจะพบในเด็กที่ยังไม่ได้วัคซีนหรือยังได้วัคซีนไม่ครบ และในกลุ่มคนที่มีประวัติได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วนหรือไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันโรคได้ โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เกิดการระบาดของโรคคอตีบ โดยพบมากที่สุดในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและรองลงมาคือทางภาคใต้ ถึงแม้ว่าอัตราการพบผู้ติดเชื้อจะเหลือเพียงไม่กี่ราย แต่โรคคอตีบเป็นโรคที่รุนแรง โดยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีและในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 40 ปี จะมีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่น
แนวทางการรักษาโรคคอตีบในปัจจุบัน เมื่อต้องสงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ แพทย์จะรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและให้อยู่ในห้องแยกโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย แนวทางการรักษาคือการให้ยาต้านสารพิษของเชื้อและการให้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนั้นต้องเฝ้าระวังเรื่องระบบทางเดินหายใจและภาวะแทรกซ้อนในระบบไหลเวียนโลหิตอย่างใกล้ชิด
วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน (แบบ DTP หรือ dT) ซึ่งถ้าเคยได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วนั้น ควรมีการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี แต่ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ให้เริ่มรับการฉีดวัคซีนทันที อาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดได้ในเด็กเล็กจากการฉีดวัคซีนนั้นเช่น การปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งมักจะมีอาการไม่เกินสองวัน ส่วนอาการที่อาจเกิดได้ในเด็กโตและผู้ใหญ่มักไม่รุนแรง ในบางรายอาจมีปฏิกิริยาเฉพาะที่
นอกจากนี้การป้องกันโรคคอตีบด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับผู้ป่วย วิธีการเหล่านี้ยังช่วยลดการระบาดได้อีกด้วยดังนั้นแล้วนอกจากการรับวัคซีนและการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อแล้ว หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคคอตีบให้รีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาและลดการแพร่เชื้อสู่ชุมชน

หมายเหตุ
   - DTP คือวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน, dT คือ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก
   - เด็กที่อายุมากกว่า2 เดือนแต่น้อยกว่า 6 ปีสามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้ โดยฉีดให้อย่างน้อยอีก 2 ครั้งห่างกัน 2 เดือน และกระตุ้นอีก 1 ครั้ง หลังฉีดครบชุดแล้ว 1 ½ ปี

เอกสารอ้างอิง

  1. Pan American Health Organization. Diphtheria. Control of Diphtheria, Pertussis, Tetanus, Haemophilus influenza type b, and Hepatitis B FIELD GUIDE. 2005.
  2. คณะทํางานด้านการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยคณะแพทยศาสตร์. ร่างแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อของโรคคอตีบฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2555.
  3. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทยhttp://pidst.or.th/userfiles/64_%20การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในประเทศไทย.pdf

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.