1.กินยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว 4 กล่อง ในเวลา 2 เดือน กล่องล่าสุดเพิ่งกินไปวันที่ 9 กย.แล้วมีเลือดออกวันที่ 10 กย. อยากทราบว่าใช่เลือดประจำเดือนมั้ยคะ
2.เพิ่งมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ถุงแต่หลั่งข้างนอก แต่อยากกินยาคุมฉุกเฉินอีก จะเป็นไรมั้ยคะเพราะกินบ่อยแล้ว
3.เริ่มทานยาคุม 28 เม็ดแผงแรกในชีวิต วันที่ 10 กย. แต่ไม่มั่นใจว่าเลือดที่ออกมาเป็นประจำเดือนรึป่าว อยากทราบว่ายาจะได้ผลในวันแรกที่ทานเลยมั้ยคะ ตอนนี้กังวลว่าจะตั้งครรภ์ เพราะกลัวยาคุมยังไม่ออกฤทธิ์
ถามโดย สมหญิง เผยแพร่ตั้งแต่ 23/09/2013-10:35:24 -- 78,834 views
คำตอบ
1. การมีเลือดไหลจากช่องคลอดกะปริบกะปรอย เป็นอาการข้างเคียงหนึ่งที่มีโอกาสเกิดได้จากการรับประทานยาคุมกำเนิด ตามปกติจะหายเองใน 1-2 วัน อาการข้างเคียงนี้มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย โดยเป็นผลจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งจะสามารถกลับสู่ปกติเองได้ ดังนั้นเลือดที่ออกมาวันที่ 10 ก.ย. น่าจะเป็นอาการข้างเคียงจากยามากกว่าเลือดประจำเดือน แต่ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ รวมไปถึงมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยอย่างรุนแรงหลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน เป็นความผิดปกติที่ค่อนข้างอันตราย ควรรีบพบแพทย์ทันที
2. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย คือ ยา Levonorgestrel 750 ไมโครกรัม ซึ่ง 1 กล่องจะประกอบด้วยยา 2 เม็ด ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีวัตถุประสงค์ให้ใช้ในกรณีที่ฉุกเฉินเท่านั้น เช่น กรณีมีความผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ยินยอมหรือจากการถูกประทุษร้าย หรือการลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดแผงตามปกติ ดังนั้นจากวัตถุประสงค์ของการใช้ยา จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินบ่อยๆ เพื่อคุมกำเนิดระยะยาว และไม่แนะนำให้รับประทานยาเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่อง ต่อเดือน การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินบ่อยๆ อาจมีผลรบกวนรอบเดือนปกติ ระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นในร่างกายจากการกินยาอาจส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดยังต่ำกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดแบบปกติอีกด้วย
3. ตามปกติ การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกตินั้นจะแนะนำให้เริ่มรับประทานวันแรกของการมีประจำเดือน แต่อย่างไรก็ตามสามารถเริ่มรับประทานวันใดก็ได้เช่นกัน แต่แนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังจากเริ่มรับประทานยาหรือให้ใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย ส่วนการหลั่งข้างนอกนั้นไม่ถือเป็นวิธีคุมกำเนิด
Key words: emergency contraceptive, oral contraceptive pill, breakthrough bleeding, spotting, side effect, effectiveness, ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน, ยาคุมกำเนิด, เลือดออก กะปริบกะปรอย, อาการข้างเคียง, ประสิทธิภาพ
Reference:
Schrager S. Abnormal Uterine Bleeding Associated with Hormonal Contraception. Am Fam Physician 2002 May 15;65(10):2073-2081.
U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 2013. MMWR 2013; 62 (5):1-60.
Keywords:
-
ระบบสืบพันธุ์
ฮอร์โมน
ดูคำถามทั้งหมด