หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คือ ดิฉันเป็นรู้สึกว่าจะเป็นโรคเข่าเสื่อมน่ะค่ะ เพราะเจ็บแปปๆ ที่หัวเข่าเป็นประจำ ควรทานแคลเซียม ชนิดไหน อย่างไรคะ

ถามโดย หนิง เผยแพร่ตั้งแต่ 04/08/2013-01:14:37 -- 16,584 views
 

คำตอบ

ภาวะข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis of knee) เป็น ภาวะที่เกิดจากความเสื่อมในข้อ ตำแหน่งที่มักพบความเสื่อม คือกระดูกอ่อนผิวข้อ เยื่อบุข้อ หรืออาจมีการหนาตัวขึ้นในกระดูกบริเวณใกล้เคียง ซึ่งภาวะข้อเข่าเสื่อมมักพบได้ในผู้สูงอายุ อาการที่สำคัญของข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ ปวดข้อ ข้อฝืด มีปุ่มกระดูกงอก มีเสียงดังกรอบแกรบเมื่อเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวได้ลดลง ซึ่งอาการปวดในข้อเข่าเสื่อม มักมีลักษณะปวดตื้อๆ ทั่วๆ ไปบริเวณข้อ ระบุตําแหน่งไม่ได้ชัดเจน มักเป็นเรื้อรังและปวดมากขึ้นเมื่อใช้งานในท่างอเข่า การขึ้นลงบันได หรือลงน้ำหนักบนข้อนั้นๆ และทุเลาลงเมื่อพักการใช้งาน หากการดําเนินโรครุนแรงขึ้นอาจปวดตลอดเวลา แม้เวลากลางคืนหรือขณะพัก บางรายมีอาการปวดตึงบริเวณพับเข่าด้วย (1) ซึ่งจากกรณีของผู้ถามนั้นการจะวินิจฉัยข้อเสื่อมจำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติเพิ่มเติมหรือตรวจวินิจฉัยให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น จึงควรพบแพทย์และทำการรักษาด้วยยาหรือวิธีการอื่นๆ ต่อไป ความเข้าใจผิดที่มักพบบ่อยๆ เกี่ยวกับแคลเซียมคือ แคลเซียมไม่ได้เป็นยาที่แนะนำให้ใช้ในกรณีเพื่อรักษาหรือป้องกันภาวะข้อเข่าเสื่อม แต่แคลเซียมเป็นยาที่มีประโยชน์ในกรณีใช้รักษาหรือป้องกันโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดได้มากขึ้นเพื่ออายุเพิ่มสูงขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงวัยหมดประจำเดือน ขนาดแคลเซียมที่แนะนำให้รับประทานแต่ละวันก็จะแตกต่างกันไป โดยทั่วไปปริมาณแคลเซียมที่แนะนำในผู้ใหญ่จะเป็น 800 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากอายุมากกว่า 50 ปี แนะนำเป็น 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แคลเซียมส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป หากพบว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปมีปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอ ก็อาจรับประทานแคลเซียมเสริมได้ ซึ่งแคลเซียมมีหลายชนิดโดยจะแตกต่างกันตรงชนิดของเกลือแคลเซียม เช่น calcium carbonate, calcium phosphate, calcium acetate, calcium citrate และ calcium gluconate โดยเกลือแคลเซียมแต่ละชนิดจะแตกตัวให้ปริมาณแร่ธาตุแคลเซียมแตกต่างกัน ซึ่ง calcium carbonate จะเป็นเกลือชนิดที่แตกตัวให้ปริมาณแคลเซียมมากที่สุด (1,000 มิลลิกรัม calcium carbonate แตกตัวให้แคลเซียม 400 มิลลิกรัม) การเลือกรับประทานแคลเซียมจะเลือกรับประทานชนิดใดก็ได้ แต่ควรต้องคำนึงถึงปริมาณแคลเซียมที่แตกตัวได้ หรืออาการข้างเคียงหรือข้อควรระวังของแคลเซียมแต่ละชนิด เช่น calcium phosphate จะเพิ่มปริมาณฟอสฟอรัสในร่างกาย แต่จำเป็นต้องระวังในผู้ป่วยไตเสื่อม (2) ดังนั้นแล้วในกรณีของผู้ถามหากต้องการรับประทานแคลเซียมสามารถเลือกรับประทานได้หลายชนิดดังข้อมูลข้างต้น แต่จะเป็นผลดีต่อการป้องกันภาวะกระดูกพรุน ไม่ได้มีผลดีต่อภาวะข้อเข่าเสื่อม ด้านการรักษาข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ใช้ยา เริ่มแรกจะเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรม และการลดน้ำหนัก ส่วนยาที่ใช้จะเป็นยาบรรเทาปวดตามอาการ หรือยาที่มีผลต่อกระดูกอ่อน หรือน้ำไขข้อ เช่น glucosamine ซึ่งการจะรับประทานยาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง Key words: calcium, osteoarthritis of knee, osteoporosis, แคลเซียม, ข้อเข่าเสื่อม, กระดูกพรุน

Reference:
1. ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย. แนวปฏิบัติบริการดูแลรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม พ.ศ. 2553 [internet]. กรุงเทพ: [cited 2013 Aug 10]. Available from: http://www.rcost.or.th/thai/data/2010/Guideline__knee_Edit_Nov_30_2010.pdf
2. ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล. ตำรากระดูกพรุน 2. กรุงเทพ: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง; 2552.

Keywords:
-





กล้ามเนื้อและข้อต่อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้