หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การกินdiethylcabamazepineและalbendazoleต้องกินก่อนตรวจเลือดเพื่อดูว่าติดโรคเท้าช้าง ก่อนกี่ชั่วโมง และทำไมต้องกินยานั้น และหากลืมเจาะเลือด ต้องกินยาดังกล่าวอีกหรือไม่

ถามโดย นัด เผยแพร่ตั้งแต่ 25/05/2010-14:41:55 -- 17,993 views
 

คำตอบ

โรคเท้าช้าง (lymphatic filariasis) ที่พบในไทย เกิดจากเชื้อพยาธิตัวกลม 2 ชนิด คือ วูเชอรีเรีย แบนครอฟไต (Wuchereria bancrofti) พบในจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับพม่า และ บรูเกีย มาลาไย (Brugia malayi) พบทางภาคใต้ของไทย ซึ่งทั้งสองชนิดมียุงเป็นพาหะนำโรค โดยพยาธิจะไปเจริญเติบโตในระบบน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ท่อน้ำเหลืองอุดตันเรื้อรัง ส่งผลให้แขน ขา หรืออวัยวะเพศบวมโต การวินิจฉัยโรคจะอาศัยการตรวจหาเชื้อฟิลาเรียจากเลือดของผู้ป่วย(blood smear) และผลทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก ยาที่ใช้ในการรักษาโรคเท้าช้าง ได้แก่ diethylcarbamazine, albendazole , ivermectin และ doxycycline แต่ในประเทศไทยนิยมให้การรักษาด้วย Diethylcarbamazine ขนาด 6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ร่วมกับ albendazole 400 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง (single dose) เท่านั้น มาตรการในการควบคุมโรคเท้าช้างในประเทศไทย จะเน้นให้การรักษาคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่แพร่เชื้อพร้อมๆ กัน (mass treatment) โดยให้ยา diethylcarbamazine Citrate กับ albendazole ควบคู่ไปกับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อพยาธิในเลือดทุกราย ซึ่งมาตรการนี้ใช้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่แพร่เชื้อและแรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาทำงานในไทย ตอบคำถาม: โดยธรรมชาติของเชื้อ microfilaria นั้น จะสามารถพบเชื้อในกระแสเลือดได้มากในบางช่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเวลากลางคืน ทำให้การเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อต้องทำในเวลากลางคืนเป็นหลัก ดังนั้นจึงมีการนำยา diethylcarbamazine มาใช้เพื่อทำให้เชื้อ microfilaria เข้าสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจพบเชื้อได้ง่ายแม้ว่าจะเป็นการตรวจเลือดในตอนกลางวัน จากการค้นข้อมูลพบรายงานการใช้ยา diethylcarbamazine ขนาด 50 มก. (เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี) หรือ 100 มก. (อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป) ก่อนการตรวจเลือด 30-45 นาที 3 ซึ่งให้ประสิทธิภาพที่ดีในการตรวจหาเชื้อ นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่ระบุขนาดยา diethylcarbamazine ไว้ที่ 2 มก./กก. ของน้ำหนักตัว5 ด้วยเช่นกัน(ข้อมูลจากการศึกษาของ Fan 4 ระบุว่าเมื่อให้ผู้ป่วยรับประทานยา diethylcarbamazine ในขนาด 100 มก. 150 มก. หรือ 200 มก. ก่อนการตรวจเลือดนั้น จะสามารถตรวจพบเชื้อได้ตั้งแต่ 45 วินาทีหลังจากรับประทานยา และพบปริมาณเชื้อสูงสุด (peak count) ได้ตั้งแต่ 1 นาที – 40 นาที หลังจากรับประทานยา) ผู้ป่วยควรได้รับการเจาะเลือดก่อนการได้รับยาเสมอ ดังนั้นในกรณีที่ยังไม่ได้มีการเจาะเลือด ควรทำการเจาะเลือดก่อนเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ และอาจจำเป็นต้องรับประทานยา diethylcarbamazine ก่อนการตรวจเลือดในตอนกลางวันตามปกติ (ยกเว้นว่าจะใช้เครื่องมือหรือวิธีการตรวจอื่นๆ ที่มีความไวมากกว่า)

Reference:
1. Leder K, Weller PF. Diagnosis, treatment, and prevention of
lymphatic filariasis. In: UpToDate Online 17.3. [Online]. 2010 Jan.
Available from: UpToDate, Inc.; 2010. [cited 2010 Apr 26].
2. สิริจิต วงศ์กำชัย.โรคเท้าช้างและโรคไข่ช้าง [Online]. 2010 Apr 28
[cited 2010 May 26]. Available from: URL:
http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/parasitology/articledetail
.asp?ac_id=3&pageno=1.
3. Mak JW. Recent advances in the laboratory diagnosis of filariasis.
Malaysian J Pathol 1989;11:1-5.

4. Fan PC. Determination of the earliest appearance and peak count of microfilariae of Wuchereria bancrofti and Brugia malayi after taking a single dose of diethylcarbamazine at noon. J Helminthol 1994;68:301-4. (Abstract)
5. Sabry M. A quantitative analysis of the diagnostic value of
diethylcarbamazine provocation in endemic Wuchereria bancrofti
infection. Trans R Soc Trop Med Hyg 1988;82(1):117-21.
(Abstract)

Keywords:
-





ภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้