หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปริมาณเอสโตรเจนในยาคุมกำเนิดมีปริมาณน้อยกว่าทีร่างกายผลิตจริงหรือไม่ หากกินยาคุมแล้วมีภาวะเลือดออกกะปริดกะปรอย จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร จะต้องเพิ่มปริมาณเอสโตรเจนไหม

ถามโดย โอ๋ เผยแพร่ตั้งแต่ 11/01/2010-00:51:10 -- 136,048 views
 

คำตอบ

ปริมาณเอสโตรเจนที่ร่างกายผลิตจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและช่วงเวลาของการมีประจำเดือน ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมออกฤทธิ์โดยการทำให้เกิด negative feedback ซึ่งมีผลยับยั้งการหลั่ง GnRH จาก hypothalamus และยับยั้งการหลั่ง FSH และ LH จากต่อม pituitary ส่งผลให้เกิดการยับยั้งการตกไข่ในที่สุด ปริมาณฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดนี้จะมีมากเพียงพอในการทำให้เกิด negative feedback อย่างต่อเนื่อง ยาคุมกำเนิดที่ผลิตออกมาในช่วงแรกจะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ค่อนข้างสูงซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้มาก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เลือดประจำเดือนมามาก เป็นต้น ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงสูตรโดยพยายามลดปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนลงเพื่อลดผลข้างเคียงข้างต้น ซึ่งก็พบว่าได้ผลดี แต่ในขณะเดียวกันกลับพบการเกิดภาวะเลือดออกกะปริบกะปรอยซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำเกินไปได้ในผู้หญิงบางราย ภาวะเลือดออกกะปริบกะปรอย (spotting) สามารถเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined oral contraceptives; COCs) ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาระบุว่า การเกิดเลือดออกสามารถเกิดขึ้นได้ใน 30% ของผู้หญิงที่เริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (และเหลือน้อยกว่า 10% หลังจากรับประทานไปแล้ว 3 เดือน) หรือหลังจากรับประทานไปแล้วหลายเดือน การแก้ปัญหาจะต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดออกก่อน และแก้ที่สาเหตุนั้นๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกกะปริบกะปรอย เช่น - การรับประทานฮอร์โมนไม่ถูกวิธี เช่น ลืมรับประทาน หรือรับประทานฮอร์โมนในเวลาที่ต่างกันในแต่ละวัน เป็นผลให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติส่งผลให้เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ ดังนั้นการแก้ไข คือ พยายามรับประทานฮอร์โมนในเวลาเดียวกันของทุกวันและไม่ลืมที่จะรับประทานฮอร์โมน - ปริมาณและชนิดของฮอร์โมน จากการศึกษาพบว่าปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลต่อการเกิดเลือดออกได้ โดยเฉพาะยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำ (ethinyl estradiol 20 microgram ต่อเม็ด) ซึ่งพบการเกิดเลือดออกได้บ่อยกว่าการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดที่มีปริมาณ ethinyl estradiol สูงกว่า (30-35 microgram ต่อเม็ด) - ความผิดปกติของเยื่อบุมดลูกหรือมดลูก ในกรณีนี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติมจากแพทย์ การจัดการปัญหาเรื่องการเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยนั้น หากเกิดตั้งแต่การใช้ยาแผงแรก และอาการไม่รุนแรง ควรเฝ้าระวังอาการไปก่อน เนื่องจากปัญหาอาจดีขึ้นได้เองเมื่อรับประทานไปประมาณ 3 เดือนดังข้อมูลที่ระบุไว้ข้างต้น และในระหว่างที่รอดูผล จำเป็นที่จะต้องสำรวจและปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานยาคุมกำเนิดให้ถูกต้อง หลังจากนั้นหากยังมีอาการอยู่ อาจเปลี่ยนมารับประทานยาคุมกำเนิดชนิดที่มีปริมาณของเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น ยกเว้นในกรณีที่อาการเลือดออกมีความรุนแรงมากขึ้นหรือผิดปกติไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ควรเข้ารับการตรวจหาความผิดปกติของมดลูก-ผนังมดลูก ต่อไป ในกรณีที่เปลี่ยนมารับประทานยาคุมกำเนิดชนิดที่มีปริมาณของเอสโตรเจนสูงขึ้นแล้วอาการเลือดออกยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมต่อไปครับ อย่างไรก็ดีก่อนการรับประทานฮอร์โมนชนิดใหม่ ควรตรวจสอบการตั้งครรภ์เพื่อให้แน่ใจก่อน ในกรณีที่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นควรหยุดรับประทานยาคุมกำเนิดทันที

Reference:
1. Edelman A, Kaneshiro B. Management of unscheduled bleeding in women using contraception. [Online]. 2009 Nov 15. Available from: UpToDate Online 17.3;2010.[cited 2010 Jan 12].
2. Odell WD, Molitch ME. The pharmacology of contraceptive agents. Annu Rev Pharmacol 1974;14:413-34.

Keywords:
-





ฮอร์โมน

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้