หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มีอาการผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จ่าย ยาanti-histamine เช่น CPM,cetririzine กินแล้ว 2 wks อาการยังไม่หาย และเคยเห็นหมอสั่งจ่ายยา Ranitidineร่วมกับAtarax ให้คนไข้รายอื่น จะสามารถซื้อมารับประทานเองได้หรือไม่ค่ะ ?

ถามโดย นิว เผยแพร่ตั้งแต่ 07/12/2009-22:21:20 -- 22,284 views
 

คำตอบ

Ranitidine เป็นยาที่ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารโดยออกฤทธิ์ยับยั้ง histamine 2 receptor (H2 receptor antagonist) ข้อบ่งใช้ของยานี้ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแล้ว ได้แก่ gastric ulcer, duodenal ulcer หรือใช้สำหรับป้องกัน stress-induced ulcer เป็นต้น อย่างไรก็ดี มีการใช้ยา ranitidine สำหรับข้อบ่งใช้อื่นซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา คือ การใช้เป็นยาเสริมในการรักษา anaphylaxis หรือผื่นแพ้บริเวณผิวหนัง เนื่องจากที่บริเวณผิวหนังจะมี H2 receptor อยู่ด้วย (ประมาณ 15%) และมีผลต่อการทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกับ H1 receptor ดังนั้นการให้ยาเพื่อยับยั้ง receptor ทั้ง 2 ชนิดอาจทำให้ปฏิกิริยาการแพ้บรรเทาได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีการศึกษาหลายชิ้นที่สนับสนุนผลดังกล่าวรวมถึงในทางปฏิบัติก็ให้ผลการรักษาที่ดีเช่นกัน การเพิ่มยา ranitidine เข้าไปในการรักษาอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เหมาะสม เนื่องจากการเพิ่มยาที่รับประทานเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา เช่น การแพ้ยา หรือ การเกิด drug interaction ระหว่าง ranitidine กับยาอื่นๆที่คุณนิวรับประทานอยู่ เป็นต้น วิธีการรักษาอาการแพ้นั้น นอกจากใช้ยาแล้ว การกำจัดสาเหตุของอาการแพ้ก็มีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว เพราะหากร่างกายยังสัมผัสกับสิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้อยู่ อาการแพ้ก็จะไม่มีทางหายไปได้แม้ว่าจะรับประทานยาแล้วก็ตาม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยามากที่สุด คุณนิวไม่ควรซื้อยามารับประทานเองก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ รวมถึงควรสำรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อเป็นการป้องกันตนเองในระยะยาวด้วยครับ

Reference:
1. Ranitidine. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2009 Oct 12. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2009. [cited 2009 Dec 8].
2. Amar SM, Dreskin SC. Urticaria. Prim Care Clin Office Pract 2008;35:141–157.
3. Dhanya NB, Rai R, Srinivas CR. Histamine 2 blocker potentiates the effects of histamine 1 blocker in suppressing histamine-induced wheal. Indian J Dermatol Venereol Leprol 2008;74:475-7.

Keywords:
-





ผิวหนังและเครื่องสำอาง

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้