หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยา ฟาร์เท็ค และยา แอคติเฟด เป็นกลุ่มยาที่รักษาป้องกันอาการเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล เหมือนกันหรือไม่คะ การรับประทานยา ควรต้องแยกออกจากกัน หรือทานร่วมกันได้คะ ขอบคุณค่ะ

ถามโดย พิมพ์ปวีณ์ พรพงศ์รุ่งเรือง เผยแพร่ตั้งแต่ 10/07/2009-14:48:01 -- 238,637 views
 

คำตอบ

ยาฟาเทค (Fatec® )เป็นชื่อการค้าของยา cetirizine dihydrochloride ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ มีข้อบ่งใช้ สำหรับ บรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ทางจมูก(allergic rhinitis), อาการผื่นแพ้ทางผิวหนังทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ยาแอคติเฟด(Actifed®) เป็นยาที่มีส่วนผสมของ tripolidine hydrochloride ที่เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ และ Pseudoephedrine hydrochloride ซึ่งเป็นยาที่ช่วยลดอาการคัดจมูก [1] ยา Actifed® มีข้อบ่งใช้ คือ บรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ทางจมูก (allergic rhinitis), ไข้ละอองฟาง (hay fever), อาการคัดจมูก(nasal congestion) และ หวัด (common cold) [1] ดังนั้นจะเห็นได้ว่ายาทั้งสองตัวใช้ได้ทั้งป้องกันและรักษาโรคภูมิแพ้จมูก แต่ Fatec® จะไม่ช่วยรักษาหรือไม่ช่วยป้องกันอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จามจากโรคหวัด (โรคหวัดจะมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เหมือนภูมิแพ้จมูก แต่จะมีไข้ด้วย เพราะโรคหวัดเป็นโรคติดเชื้อไวรัส ในขณะที่ภูมิแพ้จมูกเกิดจากการแพ้ ไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย) ดังนั้นหากผู้ถามต้องการรักษาโรคหวัด ต้องเลือก Actifed® หรือยาอื่นๆ ที่มีสูตรเดียวกันกับ Actifed® เช่น Nasolin®, Actiplex®, Adulfed®, Actil® เป็นต้น อย่างไรก็ตาม Actifed® ก็ไม่สามารถใช้ป้องกันโรคหวัดได้ การป้องกันโรคหวัดทำได้โดยการหลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหวัด การใช้หน้ากากสวมเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วยที่จามใส่ การล้างมือเป็นระยะเพื่อป้องกันไม่ให้เผลอนำเชื้อที่ติดมื้อเข้าตัวเรา การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อแตกต่างระหว่างยา Fatec® และ Actifed® คือ 1. ยา Fatec® มีผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงซึมน้อยกว่า Actifed® ดังนั้นการใช้ Actifed® ต้องระมัดระวังการขับรถ หรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะอาจเผลอเรอเกิดอุบัติเหตุได้ 2. ยา Fatec® ไม่สามารถลดอาการคัดจมูกได้เหมือน Actifed® และเนื่องจาก Actifed® สามารถใช้รักษาโรคหวัดได้เท่านั้น จึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ Fatec® ร่วมด้วย นอกจากนี้ การเลือกใช้ยาตัวใดจะขึ้นกับปัจจัยของผู้ที่รับประทานยาในแต่ละกรณี เช่น ประวัติแพ้ยา ประวัติโรคประจำตัวที่อาจทำให้ใช้ยาบางชนิดไม่ได้ ประวัติยาที่รับประทานประจำที่อาจจะตีกับยาที่จะเริ่มใช้ เป็นต้น จึงควรจะปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งก่อนจะเริ่มใช้ยา

Reference:
1. MIMs 114th 2009, P. 106,443

Keywords:
-





ทางเดินหายใจและหูตาคอจมูก

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้