หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อยากทราบในเรื่องการเปรียบเทียบประสิทธิภาพและผลของของยาในกลุ่ม proton pump inhibitors แต่ละตัวว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ข้อดีหรือข้อเสียที่ต่างกันในแต่ละตัวบ้างเมื่อเทียบกับราคาที่ค่อนข้างแตกต่างกัน และการใช้ยาในกลุ่มนี้ในระยะยาวส่งผลในด้านใด และส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมเมื่อใช้ไปในระยะยาวจริงหรือไม่

ถามโดย จีจี้ เผยแพร่ตั้งแต่ 30/03/2025-13:28:58 -- 110 views
 

คำตอบ

ยากลุ่ม proton pump inhibitors (PPIs) เป็นยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารโดยการจับและยับยั้ง H⁺/K⁺ ATPase pump ปัจจุบันประเทศไทยมียากลุ่มนี้ทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ dexlansoprazole, esomeprazole, lansoprazole, omeprazole, pantoprazole และ rabeprazole ซึ่งมีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคที่หลากหลายและให้ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันมากนัก (1) เช่น การศึกษาเทียบประสิทธิภาพของ PPIs ในการรักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (ไม่มีการเทียบกับ dexlansoprazole) พบว่าอัตราการหายของแผลไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง PPIs แต่ละชนิด (2) ส่วนในการรักษาโรคกรดไหลย้อนที่ไม่มีการอักเสบของหลอดอาหาร (ไม่มีการเทียบกับ pantoprazole) พบว่า PPIs ทุกชนิดสามารถเพิ่มอัตราการบรรเทาอาการได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (3) โดยทั้งสองการศึกษาพบว่าผลข้างเคียงไม่แตกต่างกันระหว่าง PPIs แต่ละชนิด สะท้อนถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ใกล้เคียงกันในกลุ่มยานี้ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาโอกาสการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (drug-drug interactions, DDIs) พบว่า omeprazole มีความเสี่ยงต่อการเกิด DDIs สูงสุดในกลุ่ม (5) เนื่องจากสามารถยับยั้งเอนไซม์ CYP2C19 ได้มากกว่ายาอื่น แต่มีข้อดีคือราคาต่ำที่สุด (4) ขณะที่ยาชนิดอื่นในกลุ่มมีความเสี่ยงต่อการเกิด DDIs ต่ำกว่า แต่มีราคาสูง (5,6) การใช้ PPIs ในระยะยาวพบว่ามีข้อมูลสนับสนุนว่าอาจสัมพันธ์กับความเสี่ยงในบางด้าน เช่น การติดเชื้อ Clostridioides difficile และโรคลำไส้อักเสบ รวมถึงการดูดซึมแร่ธาตุและวิตามินบกพร่อง เช่น แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินบี 12 นอกจากนี้ยังรวมถึงโรคไตและภาวะลูปัสจาก ยา ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรใช้ PPIs เฉพาะกรณีมีข้อบ่งใช้ และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น (1) สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ PPIs กับภาวะสมองเสื่อม การวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากหลายการศึกษาทางคลินิกสรุปผลว่าไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการใช้ PPIs เพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม อย่างไรก็ตามยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อสรุปดังกล่าวต่อไป (7)

Reference:
1. Uptodate. Proton pump inhibitors: Overview of use and adverse effects in the treatment of acid related disorders [Internet].2025 [cited 2025 May 7]. Available from: https://www.uptodate.com.
2. Hu ZH, Shi AM, Hu DM, Bao JJ. Efficacy of proton pump inhibitors for patients with duodenal ulcers: A pairwise and network meta-analysis of randomized controlled trials. Saudi J Gastroenterol. 2017;23(1):11-9.
3. Chen L, Chen Y, Li B. The efficacy and safety of proton-pump inhibitors in treating patients with non-erosive reflux disease: a network meta-analysis. Sci Rep. 2016;6:32126.
4. DMSIC. Drug Information Search: Omeprazole [Internet]. 2025 [cited 2025 May 7]. Available from: https://dmsic.moph.go.th/index/drugsearch/3.
5. Wedemeyer RS, Blume H. Pharmacokinetic drug interaction profiles of proton pump inhibitors: an update. Drug Saf. 2014;37(4):201-11.
6. Goh KL, Choi MG, Hsu PI, Chun HJ, Mahachai V, Kachintorn U, et al. Pharmacological and Safety Profile of Dexlansoprazole: A New Proton Pump Inhibitor - Implications for Treatment of Gastroesophageal Reflux Disease in the Asia Pacific Region. J Neurogastroenterol Motil. 2016;22(3):355-66.
7. Ahn N, Nolde M, Krause E, Güntner F, Günter A, Tauscher M, et al. Do proton pump inhibitors increase the risk of dementia? A systematic review, meta-analysis and bias analysis. Br J Clin Pharmacol. 2023;89(2):602-16.

Keywords:
PPIs, efficacy, dementia





ทางเดินอาหาร

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้