หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Tirzepatide…ช่วยลดความเสี่ยงของ HFpEF

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤศจิกายน ปี 2567 -- อ่านแล้ว 389 ครั้ง
 
ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) เป็นกลุ่มอาการทางคลินิกที่เกิดจากหัวใจห้องล่างไม่สามารถรับเลือด (ventricular filling) และบีบเลือด (ventricular ejection) ออกจากหัวใจได้ตามปกติ ดังนั้นจึงมีการแบ่งประเภทของภาวะหัวใจล้มเหลวตามความสามารถในการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้าย (left ventricular ejection fraction; LVEF) โดยผู้ป่วยที่มี LVEF >50% จะเรียกว่าภาวะหัวใจล้มเหลวชนิด heart failure with preserved ejection fraction (HFpEF) ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดการพัฒนาเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวชนิด HFpEF ได้แก่ โรคอ้วน (obesity) เนื่องจากโรคอ้วนเป็นภาวะที่มีการอักเสบเรื้อรังที่กระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดรวมถึงฮอร์โมน จนส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดในที่สุด

Tirzepatide เป็นยากลุ่ม GIP (glucose-dependent insulinotropic polypeptide) และ GLP-1 (glucagon-like peptide-1) receptor agonist บริหารยาโดยฉีดผ่านชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) สัปดาห์ละครั้ง ปัจจุบันได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ใน 2 ชื่อการค้า ได้แก่ Mounjaro®️ สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และ Zepbound®️ สำหรับโรคอ้วน (BMI ≥30 kg/m2) ภาวะน้ำหนักเกิน (BMI ≥27 kg/m2) และโรคร่วมที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนัก (weight-related comorbid condition) อีกทั้งปัจจุบันได้มีการนำ tirzepatide มาศึกษาถึงการลดความเสี่ยงจากภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเป็นการศึกษาแบบ multi-center, randomized, double-blind, placebo-controlled phase 3 study ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวชนิด HFpEF และมีโรคอ้วน (SUMMIT trial) ซึ่งกลุ่มที่ได้รับ tirzepatide จะได้รับขนาดยาสูงสุดที่ผู้ป่วยสามารถทนต่อยาได้ (maximum tolerated dose) ได้แก่ 5, 10, และ 15 mg ซึ่งผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ tirzepatide สามารถลดอัตราเสี่ยงในการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากกว่ายาหลอกถึงร้อยละ 38 [HR 0.62, 95% CI 0.41 to 0.95; p=0.026] อีกทั้งยังสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวดีขึ้นและทำกิจกรรมได้มากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของคะแนนเฉลี่ยที่วัดด้วย KCCQ-CSS ในส่วนของความปลอดภัยของยาพบว่ามีความสอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้า (SURMOUNT, SURPASS) โดยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ท้องเสีย ท้องผูก และคลื่นไส้อาเจียน

เอกสารอ้างอิง

1. Golla MSG, Shams P. Heart Failure with Preserved Ejection Fraction (HFpEF). StatPearls [Internet]. 2024 [cited 2024 Aug 9]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK599960/.

2. สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์. แนวทางเวชปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว พ.ศ. 2562. สมุทรปราการ: เนคสเตป ดีไซน์; 2562.

3. McGovern G. Tirzepatide Meets Both Primary End Points in Phase 3 SUMMIT Trial [Internet]. 2024 [cited 2024 Aug 9]. Available from: https://www.pharmacytimes.com/view/tirze-patide-meets-both-primary-end-points-in-phase-3-summit-trial.

4. Lilly. Lilly’s tirzepatide successful in phase 3 study showing benefit in adults with heart failure with preserved ejection fraction and obesity [Internet]. 2024 [cited 2024 Aug 9]. Available from: https://investor.lilly.com/news-releases/news-release-details/lillys-tirze

patide-successful-phase-3-study-showing-benefit.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Tirzepatide ภาวะหัวใจล้มเหลว
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้