การฝัง etonogestrel สองแท่ง อาจเพิ่มประสิทธิภาพการคุมกำเนิดในผู้ที่ใช้ efavirenz
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤศจิกายน ปี 2567 -- อ่านแล้ว 297 ครั้ง
ยาคุมกำเนิดชนิดฝังสามารถออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี โดยให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดถึง 99% ยาชนิดนี้มีตัวยาสำคัญ คือ ฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสติน (progestins) ได้แก่ levonorgestrel และ etonogestrel ออกฤทธิ์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (progesterone) โดยยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้น อสุจิจึงเคลื่อนผ่านเข้าไปยังโพรงมดลูกได้ยาก สำหรับยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่ประกอบด้วยตัวยา etonogestrel 68 mg มีขนาดที่ใช้ปกติ คือ ฝังใต้ผิวหนัง 1 แท่งและให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดนานถึง 5 ปี แต่มีข้อมูลว่าการใช้ยาด้วยขนาดแนะนำนี้ในผู้ป่วย HIV ที่ได้รับยาต้านไวรัสสูตรที่มี efavirenz เป็นองค์ประกอบจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงผ่านกลไกที่ efavirenz กระตุ้นการทำงานของ CYP3A4 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เปลี่ยนแปลง etonogestrel ให้อยู่ในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์เพื่อขับออกจากร่างกาย ทำให้ระดับยา etonogestrel ในเลือดลดลงถึง 82% เพิ่มความเสี่ยงของการตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้น
จากการศึกษาแบบ randomized, open-label ในผู้ป่วย HIV เพศหญิงชาวยูกันดาที่ได้รับยา efavirenz 600 mg/day ที่มีรอบเดือนปกติ และไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยจำนวน 72 คน อายุเฉลี่ย 31 ปี ถูกสุ่มให้ได้รับยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่มีตัวยา etonogestrel 68 mg จำนวน 1 แท่ง หรือ 2 แท่ง (ปริมาณ etonogestrel รวม 136 mg) กลุ่มละ 36 คน ทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 48 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาคุมกำเนิด 2 แท่งมีอัตราของการตกไข่ซึ่งวัดจากการที่ความเข้มข้นของ progesterone ในเลือดมากกว่า 3 ng/mL น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาคุมกำเนิด 1 แท่ง (เดือนที่ 3: 0% vs 31%; เดือนที่ 6: 0% vs 49%; เดือนที่ 12: 6% vs 56% ตามลำดับ ผลทุกเดือนแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ, p<0.001) โดยยาคุมกำเนิด 2 แท่งสามารถลดอัตราการตกไข่ได้ถึง 97.7% (95% CI, 90.1-99.5) ผลการศึกษาทางเภสัชจลนศาสตร์พบว่าความเข้มข้นของ etonogestrel ในเลือดที่สัปดาห์ที่ 48 ของกลุ่มที่ได้รับยาคุมกำเนิด 2 แท่งมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาคุมกำเนิด 1 แท่งถึง 2 เท่า (geometric mean ratio 2.83, 90%CI, 1.85-3.35) โดยทั้งสองกลุ่มมีผลข้างเคียงจากยาไม่แตกต่างกัน ได้แก่ ประจำเดือนมาผิดปกติ คลื่นไส้ ปวดหัว น้ำหนักขึ้น สิวขึ้น เจ็บบริเวณเต้านม ดังนั้นการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่มีตัวยา etonogestrel 68 mg จำนวนสองแท่งอาจเพิ่มประสิทธิภาพการคุมกำเนิดในผู้ป่วย HIV ที่มีการใช้ยาต้านไวรัสสูตรที่มี efavirenz เป็นองค์ประกอบ
เอกสารอ้างอิง
1. MIMS Online Thailand. Doubled etonogestrel dose linked to enhanced contraception in HIV-positive women on efavirenz [Internet]. 2024 [cited 2024 August 9]. Available from: https://www.mims.com/specialty/topic/doubled-etonogestrel-dose-linked-to-enhanced-contraception-in-hiv-positive-women-on-efavirenz.
2. Chappell CA, Lamorde M, Nakalema S, Kyohairwe I, Byakika-Kibwika P, Meyn LA, et al. A randomized trial of double vs single-dose etonogestrel implant to overcome the interaction with efavirenz-based antiretroviral therapy. Am J Obstet Gynecol. 2024; 231(2):242.e1-242.e9.
3. National Health Service. what is the contraceptive implant? [Internet]. 2024 [cited 2024 August 10]. Available from: https://www.nhs.uk/contraception/methods-of-contraception/contraceptive-implant/what-is-it/.
4. Horvath S, Schreiber CA, Sonalkar S. Contraception [Internet]. 2018 [cited 2024 August 10]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279148/.
5. Chappell CA, Lamorde M, Nakalema S, Chen BA, Mackline H, Riddler SA, et al. Efavirenz decreases etonogestrel exposure: a pharmacokinetic evaluation of implantable contraception with antiretroviral therapy. AIDS. 2017; 31(14):1965-72.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง
etonogestrel
efavirenz
HIV