หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Olaparib สำหรับรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลามที่ี่ไม่ตอบสนองต่อการยับยั้งฮอร์โมนเพศชาย

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กันยายน ปี 2566 -- อ่านแล้ว 1,553 ครั้ง
 
มะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate cancer) เป็นโรคที่พบบ่อยในเพศชาย โดยผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะบ่อย รู้สึกปัสสาวะไม่สุด และอาจมีปัสสาวะแสบขัดร่วมกับเป็นเลือดได้ โดยการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากจะแตกต่างกันตามระยะของโรคทั้ง 3 ระยะ คือมะเร็งต่อมลูกหมากเฉพาะที่ (localized prostate cancer) มะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม (metastatic prostate cancer) และมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ไม่ตอบสนองต่อการยับยั้งฮอร์โมนเพศชาย (castrated resistant prostate cancer, CRPC) โดยกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลามแบบ CRPC ยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ enzalutamide และ abiraterone ร่วมกับ prednisolone ทั้งนี้ผู้ป่วย CRPC บางรายอาจพบการกลายพันธุ์ของยีนหลายชนิดร่วมด้วย เช่น homologous recombinant repair (HRR) และ breast cancer gene (BRCA)[1]

Olaparib เดิมนั้นได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) สำหรับใช้รักษา CRPC ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน HRR ที่ดื้อต่อการรักษาด้วย enzalutamide หรือ abiraterone ร่วมกับ prednisolone มาก่อน[2] จนกระทั่งวันที่ 1 มิถุนายน 2566 USFDA ได้อนุมัติให้สามารถใช้ olaparib เพื่อรักษา CRPC ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ได้ โดยใช้ร่วมกับ abiraterone และ prednisolone ทั้งนี้กลไกคาดว่ามาจากมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA นั้นจำเป็นต้องใช้โปรตีนที่ชื่อว่า PARP ในการซ่อมแซมสารพันธุกรรมที่ได้รับความเสียหาย (damaged DNA) เพื่อให้สามารถแพร่กระจายต่อไปได้ และเมื่อ olaparib ยับยั้งโปรตีน PARP ทำให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากไม่สามารถซ่อมแซมสารพันธุกรรมได้ และมีแนวโน้มที่จะตายไป[2,3] โดยข้อมูลประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยานั้นอ้างอิงจาก PROpel trial ที่ทำการศึกษาในผู้ป่วย CRPC ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ผลพบว่าการให้ olaparib ร่วมกับ abiraterone และ prednisolone ทำให้อัตราการอยู่รอดโดยโรคสงบ และอัตราการอยู่รอดโดยรวมมากกว่าการให้ยาหลอกร่วมกับ abiraterone และ prednisolone อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับผลข้างเคียงที่มักพบในกลุ่มที่ได้รับยา olaparib ร่วมกับยา abiraterone และ prednisolone คือ โลหิตจาง อ่อนเพลีย และคลื่นไส้อาเจียน[4]

เอกสารอ้างอิง

1. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. แนวทางการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก. กรุงเทพฯ: โฆสิตการพิมพ์; 2560.

2. Olaparib gains brca-mutated prostate cancer indication [Internet]. Medscape. [cited 2023 Jun 5]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/992661.

3. Olaparib [Internet]. Prostate Cancer UK. [cited 2023 Jun 5]. Available from: https:// prostatecanceruk.org/prostate-information-and-support/treatments/olaparib/

4. Clarke NW, Armstrong AJ, Thiery-Vuillemin A, Oya M, Shore N, Loredo E, et al. Abiraterone and olaparib for metastatic castration-resistant prostate cancer. NEJM Evid. 2022;1(9). Available from: http://dx.doi.org/10.1056/evidoa2200043.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
olaparib prostate cancer CRPC BRCA
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้