หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Zanubrutinib ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด CLL หรือ SLL

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน เมษายน ปี 2566 -- อ่านแล้ว 1,692 ครั้ง
 
Zanubrutinib (Brukinsa) เป็นยาในกลุ่ม bruton tyrosine kinase (BTK) inhibitor ที่เดิมมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด mantle cell lymphoma (MCL) เท่านั้น แต่ล่าสุดคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้ zanubrutinib ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด chronic lymphocytic leukemia (CLL) และชนิด small lymphocytic lymphoma (SLL) อีกด้วย ทั้งนี้ยาที่เป็นมาตรฐานเดิมสำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด CLL หรือ SLL คือ ibrutinib ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม BTK inhibitor เช่นกัน แต่เนื่องจาก ibrutinib มีผลข้างเคียงที่รุนแรงซึ่งรวมถึงภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากต้องหยุดใช้ยาและนำมาสู่ผลการรักษาที่ล้มเหลว

ข้อมูลประสิทธิผลของ zanubrutinib ได้มาจาก 2 การศึกษา ได้แก่ SEQUOIA และ ALPINE โดย SEQUOIA เป็นการทดลองแบบสุ่ม ไม่ปกปิดข้อมูล ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด CLL หรือ SLL จำนวน 479 ราย ที่ไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน และมีความผิดปกติของแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 17 แบ่งเป็น 241 ราย ได้รับ zanubrutinib ในขณะที่ 238 ราย ได้รับสูตรยาในการรักษามาตรฐานของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด CLL หรือ SLL คือ bendamustine (alkylating agent) เป็นระยะเวลา 6 รอบการให้ยาร่วมกับ rituximab (humanized monoclonal antibody against CD20) ในวันแรกของการให้ยารอบแรก ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้ zanubrutinib มีอัตราการตอบสนองต่อโรคโดยรวม 94.6% (95% CI 91.0%-97.1%) ซึ่งดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 85.3% (95% CI 80.1%-89.5%) ในกลุ่มที่ได้ bendamustine ร่วมกับ rituximab ส่วนการศึกษา ALPINE เป็นการทดลองแบบสุ่มในผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด CLL หรือ SLL จำนวน 652 ราย มีผู้ได้รับ zanubrutinib 327 ราย และได้รับ ibrutinib 325 ราย ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้ zanubrutinib มีอัตราการตอบสนองต่อโรค 80% ซึ่งมากกว่าในกลุ่มที่ได้ ibrutinib ที่พบ 73% อีกทั้งในการศึกษา ALPINE ยังพบอัตราการหยุดใช้ยา เนื่องมาจากผลข้างเคียงหรือพบการลุกลามของโรคในกลุ่มที่ใช้ zanubrutinib เพียง 26% ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ ibrutinib ที่พบ 41.2% โดยทั้งสองการศึกษาได้รายงานถึงผลข้างเคียงของ zanubrutinib ที่พบได้บ่อย ได้แก่ จำนวนเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลล์ลดลง การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน จำนวนเกล็ดเลือดลดลง ภาวะเลือดออก และอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อ

ทั้งนี้ขนาดยาของ zanubritinib ที่แนะนำ คือ 160 mg วันละสองครั้ง หรือ 320 mg วันละครั้ง จนกว่าโรคจะมีการลุกลามหรือจนกว่าผู้ป่วยจะทนผลข้างเคียงของยาไม่ได้

เอกสารอ้างอิง

1. Tam CS, Brown JR, Kahl BS, Ghia P, Giannopoulos K, Jurczak W, Šimkovič M, Shadman M, Österborg A, Laurenti L, Walker P. Zanubrutinib versus bendamustine and rituximab in untreated chronic lymphocytic leukaemia and small lymphocytic lymphoma (SEQUOIA): a randomised, controlled, phase 3 trial. Lancet Oncol. 2022 Aug 1; 23(8):1031-1043.

2. Brown JR, Eichhorst B, Hillmen P, Jurczak W, Kaźmierczak M, Lamanna N, O’Brien SM, Tam CS, Qiu L, Zhou K, Simkovic M. Zanubrutinib or ibrutinib in relapsed or refractory chronic lymphocytic leukemia. N Engl J Med. 2022 Dec 13; 388(4):319-332.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
zanubrutinib Brukinsa CLL SLL
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้