หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Tezepelumab...thymic stromal lymphopoietin (TSLP) blocker สำหรับรักษาโรคหืด

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน มกราคม ปี 2565 -- อ่านแล้ว 3,148 ครั้ง
 

โรคหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบของทางเดินหายใจ เมื่อเยื่อบุทางเดินหายใจถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค มลพิษและสิ่งอื่น เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจจะสร้างและหลั่ง thymic stromal lymphopoietin (TSLP) ซึ่งเป็นไซโตไคน์ที่ชักนำให้เกิดการอักเสบ โดย TSLP จะกระตุ้นให้เซลล์บางชนิดที่เยื่อบุทางเดินหายใจหลั่ง inflammatory cytokines ส่งผลให้ทางเดินหายใจเกิดการอักเสบ ทำให้หลอดลมไวต่อการหดตัวและเกิดการกำเริบของโรคหืด (ดูรูป) TSLP ยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการอักเสบของโรคอื่น เช่น atopic dermatitis เมื่อเร็ว ๆ นี้มียาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง TSLP คือ tezepelumab (ชื่ออื่น: tezepelumab-ekko) ออกวางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ ยานี้เป็น human IgG2λ monoclonal antibody ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ TSLP สำหรับใช้เป็นยาที่ให้เสริมยาอื่นในการรักษาโรคหืดรุนแรงในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ผลิตในรูปยาน้ำใสสำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีตัวยา 210 มิลลิกรัมในปริมาตร 1.91 มิลลิลิตร มีทั้งชนิดบรรจุในขวดยาฉีดและในหลอดยาฉีดพร้อมใช้ ที่บรรจุสำหรับการใช้ครั้งเดียว ขนาดยาที่แนะนำคือ 210 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 4 สัปดาห์

การที่ tezepelumab ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้นเนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกแบบ randomized, double-blind, parallel group, placebo-controlled trial นาน 52 สัปดาห์ จำนวน 2 การศึกษามาสนับสนุน เป็นการศึกษาในผู้ป่วยโรคหืดรุนแรงที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป จำนวน 1,609 คน โดยการศึกษาแรกคือ PATHWAY ทำในผู้ป่วยผู้ใหญ่ 550 คน ให้ยาขนาด 70 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 4 สัปดาห์, 210 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 4 สัปดาห์ และ 280 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 2 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับยาหลอก ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งคือ NAVIGATOR ทำในผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป จำนวน 1,059 คน ให้ยาขนาด 210 มิลลิกรัม หรือยาหลอก ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 4 สัปดาห์ ทั้งสองการศึกษาประเมินผลด้วยอัตราการกำเริบของโรคหืดตลอด 52 สัปดาห์ โดยดูจากความต้องใช้ corticosteroids (ไม่ว่าชนิดรับประทานหรือชนิดฉีด เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน หรือต้องการ corticosteroids ชนิด depo-injection จำนวน 1 ครั้ง) และ/หรือ เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลแบบฉุกเฉิน พร้อมทั้งได้รับ corticosteroids ชนิดรับประทานหรือชนิดฉีด และ/หรือ ต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล ผลการศึกษาพบว่าอัตราโรคหืดกำเริบใน 1 ปีของกลุ่มที่ได้รับ tezepelumab ลดลงกว่ากลุ่มยาหลอก ระยะเวลาก่อนเริ่มเกิดการกำเริบครั้งแรกนานกว่ากลุ่มยาหลอก และเมื่อสิ้นสุดการศึกษาค่า FEV1 (forced expiratory volume in one second) ก่อนได้รับยาขยายหลอดลมในกลุ่มที่ได้รับยามีค่าสูงกว่ากลุ่มยาหลอก ส่วนการประเมินเกี่ยวกับการควบคุมอาการของโรคหืดและคุณภาพชีวิตเทียบกับก่อนได้รับการรักษาโดยใช้แบบสอบถาม ACQ-6 (Asthma Control Questionnaire 6) และ AQLQ(S)+12 (Standardized Asthma Quality of Life Questionnaire for ages 12 and older) พบว่ากลุ่มที่ได้รับ tezepelumab ควบคุมอาการของโรคหืดได้ดีกว่าและมีคุณภาพชีวิตดีขี้นมากกว่ากลุ่มยาหลอกในทั้งสองการศึกษา สำหรับผลไม่พึงประสงค์ของ tezepelumab ที่พบได้บ่อยที่สุด (≥3%) ช่วงที่ทำการศึกษาทางคลินิก ได้แก่ คออักเสบ, ปวดข้อ และปวดหลัง

อ้างอิงจาก:

(1) Tezspire (tezepelumab-ekko) injection, for subcutaneous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4907025, revised: 12/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/761224s000lbl.pdf; (2) Menzies-Gow A, Wechsler ME, Brightling CE. Unmet need in severe, uncontrolled asthma: can anti-TSLP therapy with tezepelumab provide a valuable new treatment option? Respir Res 2020. doi: 10.1186/s12931-020-01505-x; (3) Dorey-Stein ZL, Shenoy KV. Tezepelumab as an emerging therapeutic option for the treatment of severe asthma: evidence to date. Drug Des Devel Ther 2021;15:331-8.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้