หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Tisotumab vedotin...tissue factor inhibitor สำหรับรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ตุลาคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 2,746 ครั้ง
 
โรคมะเร็งปากมดลูก (cervical cancer) พบได้บ่อยในผู้หญิง ผู้ที่โรคกลับมาเป็นซ้ำหรือโรคอยู่ในระยะแพร่กระจายจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต ยาที่เลือกใช้ในการรักษา ได้แก่ bevacizumab ร่วมกับยาเคมีสังเคราะห์อีก 2 ชนิด (paclitaxel และ cisplatin หรือ paclitaxel และ topotecan) ได้มีการคิดค้นยาใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้ร่วมกับยาอื่นเป็นสูตรการรักษาแบบใหม่ มีทั้งยาในกลุ่ม immunotherapy เช่น pembrolizumab (เป็น programmed death protein-1 monoclonal antibody หรือ PD-1 monoclonal antibody) และยาในกลุ่ม antibody-drug conjugates เช่น tisotumab vedotin

Tissue factor (TF) หรือ platelet coagulation factor III เป็นตัวเริ่มต้นในกระบวนการแข็งตัวของเลือดใน extrinsic pathway ส่วนในด้านที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง TF มีบทบาทในการงอกของหลอดเลือด การลุกลามและการแพร่กระจายของโรคมะเร็งแบบก้อน (solid tumors) ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งในระยะรุนแรงจะยิ่งพบการแสดงออกของ TF ในเนื้อเยื่อมากขึ้นและรักษายาก ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดค้นยารักษาโรคมะเร็งปากมดลูกที่ลุกลามโดยมีเป้าหมายที่ออกฤทธิ์ต่อ TF และเมื่อไม่นานมานี้ tisotumab vedotin (ชื่ออื่น: tisotumab vedotin-tftv การเรียกชื่อยาที่มีอักษร 4 ตัวต่อท้ายชื่อหลัก ดูข้อมูลในเรื่อง ชื่อยายุคใหม่...บอกข้อมูลเบื้องต้นได้ (ตอนที่ 2)) ได้รับอนุมัติแบบเร่งด่วนให้ใช้รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้ใหญ่ที่โรคกลับมาเป็นซ้ำหรือโรคอยู่ในระยะแพร่กระจายแม้ได้รับเคมีบำบัดมาแล้วหรืออยู่ระหว่างได้รับยาเคมีบำบัด ยาดังกล่าวเป็น antibody-drug conjugate ที่มี tisotumab เชื่อมต่อกับ monomethyl auristatin E (หรือ MMAE) ซึ่ง tisotumab เป็น monoclonal antibody ที่จับจำเพาะกับ TF ส่วน MMAE ออกฤทธิ์เป็น microtubule inhibitor จึงหยุดวงจรชีวิตของเซลล์และเซลล์ตายในที่สุด (เกิด apoptotic cell death) สาร MMAE มีความเป็นพิษสูงจึงไม่ใช้โดยลำพังแต่จะใช้ในรูปที่จับกับ linker (เพื่อเชื่อมจับกับ monoclonal antibody) เรียกว่า “vedotin” เมื่อเข้าสู่ภายในเซลล์มะเร็งได้แล้ว linker จะถูกย่อยโดย protease เพื่อปล่อย MMAE ออกมา tisotumab vedotin ผลิตในรูปยาผง (lyophilized powder) หรือยาผงที่จับก้อน (lyophilized cake) ปริมาณ 40 มิลลิกรัมบรรจุในขวดยาฉีดสำหรับใช้ครั้งเดียว ขนาดยาที่แนะนำคือ 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม) ให้ยาแบบ intravenous infusion นาน 30 นาที ให้ยาทุก 3 สัปดาห์ไปเรื่อย ๆ จนควบคุมโรคไม่ได้ (โรคลุกลาม) หรือทนต่อความเป็นพิษของยาไม่ได้

การศึกษาทางคลินิกที่มาสนับสนุนประสิทธิภาพของ tisotumab vedotin เป็น open-label, multicenter, single-arm trial ในระยะที่ 2 โดยศึกษากับผู้ใหญ่ 101 คนที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกที่โรคกลับมาเป็นซ้ำหรือโรคอยู่ในระยะแพร่กระจาย ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับเคมีบำบัดมาแล้วไม่เกิน 2 สูตรการรักษา โดยมี platinum-based chemotherapy อย่างน้อย 1 สูตรการรักษา ให้ tisotumab vedotin ในขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม) แบบ intravenous infusion ระยะเวลาในการศึกษากำหนดไว้ที่ 2 ปี ให้ยาทุก 3 สัปดาห์ไปเรื่อย ๆ จนควบคุมโรคไม่ได้ (โรคลุกลาม) หรือทนต่อความเป็นพิษของยาไม่ได้ ใน 30 สัปดาห์แรกทำการประเมินผลทุก 6 สัปดาห์ ต่อจากนั้นประเมินผลทุก 12 สัปดาห์ ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่ายาให้อัตราการตอบสนองคิดเป็น objective response rate เท่ากับ 24% (complete response 7% และ partial response 17%) และระยะเวลาที่ยาให้ผลในการรักษา (duration of response) มีค่ากลาง 8.3 เดือน ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด (≥25%) ได้แก่ ฮีโมโกลบินลดลง, ลิมโฟไซต์ลดลง, เม็ดเลือดขาวลดลง, ครีเอทินีนเพิ่มขึ้น, ค่า prothrombin international normalized ratio เพิ่มขึ้น, activated partial thromboplastin time นานขึ้น, อ่อนล้า, คลื่นไส้, ท้องเดิน, ประสาทส่วนปลายผิดปกติ, ผมร่วง, เลือดกำเดาไหล, ภาวะเลือดไหล, ตาแห้งและผื่นขึ้น

อ้างอิงจาก:

(1) Tivdak (tisotumab vedotin-tftv) for injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4859741, revised: 09/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/761208Orig1s000lbledt.pdf; (2) Coleman RL, Lorusso D, Gennigens C, González-Martín A, Randall L, Cibula D, et al. Efficacy and safety of tisotumab vedotin in previously treated recurrent or metastatic cervical cancer (innovaTV 204/GOG-3023/ENGOT-cx6): a multicentre, open-label, single-arm, phase 2 study. Lancet Oncol 2021;22:609-19; (3) A trial of tisotumab vedotin in cervical cancer. ClinicalTrials.gov Identifier: NCT03438396. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/record/NCT03438396
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้