โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โรคมะเร็งปอดชนิดที่พบมากคือ non-small-cell lung cancer (NSCLC) พบประมาณ 80-85% และชนิด small-cell lung cancer (SCLC) พบประมาณ 15-17% ในผู้ป่วย NSCLC พบ proto-oncogene ได้หลายชนิด เช่น EGFR (epidermal growth factor receptor), ALK (anaplastic lymphoma kinase), MET (mesenchymal-epithelial transition), KRAS (K-ras protein, GTPase) จึงมีความพยายามในการคิดค้นยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางยีนที่ผิดปกติเหล่านี้เพื่อนำมาใช้รักษา NSCLC ชนิดที่รักษายาก ในผู้ป่วย NSCLC ระยะลุกลามหรือระยะแพร่กระจายพบ EGFR mutation ได้ราว 20% ก่อนหน้านี้มียาชีววัตถุคือ amivantamab ที่ออกฤทธิ์จับกับ extracellular domain ได้ทั้ง EGFR และ MET (คือยาออกฤทธิ์เป็น EGFR-MET bispecific antibody) ได้รับอนุมัติแบบเร่งด่วนในบางประเทศสำหรับรักษา NSCLC ในผู้ใหญ่ชนิดที่พบ EGFR exon 20 insertion mutation และเมื่อไม่นานมานี้ mobocertinib เป็นยาชนิดรับประทานตัวแรกที่มีเป้าหมายการออกฤทธิ์ต่อยีน EGFR ที่เกิด exon 20 insertion mutation ได้รับอนุมัติแบบเร่งด่วนในบางประเทศสำหรับใช้รักษา NSCLC ในผู้ใหญ่ชนิดที่พบ EGFR exon 20 insertion mutation ซึ่งโรคอยู่ในระยะลุกลามเฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจายแม้ได้รับการรักษาด้วย platinum-based chemotherapy (เช่นเดียวกับข้อบ่งใช้ของ amivantamab) ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาแคปซูลขนาด 40 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 160 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมก็ได้
มีการศึกษาทางคลินิกที่สนับสนุนประสิทธิภาพของ mobocertinib เป็น open-label, multi-cohort clinical trial (phase 1/2 trial) ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคมะเร็งปอดชนิด NSCLC จำนวน 114 คน โรคอยู่ในระยะลุกลามเฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจายและพบความผิดปกติในยีน EGFR (เกิด exon 20 insertion) ซึ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย platinum-based chemotherapy มาแล้ว ให้ยารับประทานครั้งละ 160 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ใช้ยาต่อเนื่องจนควบคุมโรคไม่ได้ (โรคลุกลาม) หรือจนทนต่ออาการพิษจากยาไม่ได้ ประเมินผลด้วย overall response rate (ORR) และ duration of response (DOR) ผลการศึกษาพบว่า ORR (เป็น partial response ทั้งหมด) 28% (95% CI=20-37) ส่วน DOR มีค่ากลางเท่ากับ 17.5 เดือน (95% CI=7.4-20.3) และมีผู้ป่วย 59% ที่มี DOR ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้ >20% ได้แก่ ท้องเดิน, ผื่นขึ้น, คลื่นไส้, ปากอักเสบ, อาเจียน, เบื่ออาหาร, มีการติดเชื้อบริเวณผิวหนังรอบเล็บ (paronychia), อ่อนล้า, ผิวแห้ง และปวดกล้ามเนื้อ ส่วนค่าความผิดปกติทางห้องปฏิบัติการที่อยู่ใน grade 3 หรือ 4 และพบได้ ≥2% ได้แก่ ลิมโฟไซต์ลดลง, โพแทสเซียมลดลง, แมกนีเซียมลดลง, ฮีโมโกลบินลดลง, อะไมเลสเพิ่มขึ้น, ไลเปสเพิ่มขึ้น และครีเอทินีนเพิ่มขึ้น
อ้างอิงจาก:
(1) Exkivity (mobocertinib) capsules, for oral use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4857459, revised: 09/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/215310s000lbl.pdf; (2) Zhang SS, Zhu VW. Spotlight on mobocertinib (TAK-788) in NSCLC with EGFR exon 20 insertion mutations. Lung Cancer 2021;12:61-5; (3) Zhou C, Ramalingam SS, Kim TM, Kim SW, Yang JC, Riely GJ, et al. Treatment outcomes and safety of mobocertinib in platinum-pretreated patients with EGFR exon 20 insertion-positive metastatic non-small cell lung cancer: a phase 1/2 open-label nonrandomized clinical trial. JAMA Oncol 2021. doi: 10.1001/jamaoncol.2021.4761.