โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นโรคที่ภาวะสมองทำงานถดถอยเนื่องจากมีการตายของเซลล์ประสาทในสมองอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอาการความจำเสื่อม โดยเริ่มแรกมักจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ ต่อมาประสิทธิภาพของสมองจะถดถอยลงเรื่อย ๆ ทำให้มีความบกพร่องทางภาษาจนเป็นอุปสรรคในการสื่อความ มีความสับสนในเรื่องเวลา สถานที่และบุคคล มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ไม่ใส่ใจตนเองและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนเวลาอันสมควร เชื่อว่าการสะสมของโปรตีน amyloid beta ที่สมองส่วน cerebral cortex และชั้นลึกลงไป เป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้ตาม “amyloid hypothesis” ยา aducanumab (ชื่ออื่น: aducanumab-avwa การเรียกชื่อยาที่มีอักษร 4 ตัวต่อท้ายชื่อหลัก ดูข้อมูลในเรื่อง
ชื่อยายุคใหม่...บอกข้อมูลเบื้องต้นได้ (ตอนที่ 2)) เป็น human IgG1 monoclonal antibody ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ amyloid beta ช่วยลดการสะสมของ amyloid beta plaque ที่สมอง จึงเป็นยาที่มุ่งรักษาต้นเหตุไม่ใช่เพียงแค่ทุเลาอาการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ยานี้ได้รับอนุมัติแบบเร่งด่วนในบางประเทศเพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตามยังมีข้องใจในประสิทธิภาพของยาเนื่องจากผลการศึกษาทางคลินิกยังไม่ชัดเจนว่ายาช่วยชะลอภาวะที่ประสิทธิภาพในการทํางานของสมองเสื่อมถอยลง (cognitive decline) แม้ว่าจะให้ผลดีด้านลด biomarkers ของโรค ยานี้ผลิตในรูปยาน้ำใสสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ มีขนาดปริมาตร 1.7 มิลลิลิตร มีตัวยา 170 มิลลิกรัม และขนาดปริมาตร 3 มิลลิลิตร มีตัวยา 300 มิลลิกรัม บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียว ขนาดยาที่แนะนำคือ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หยดเข้าหลอดเลือดดำใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ให้ยาทุก 4 สัปดาห์
มีการศึกษาทางคลินิกที่สนับสนุนข้อบ่งใช้ของ aducanumab ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จำนวน 3 การศึกษา โดยเป็นแบบ double-blind, randomized, placebo-controlled, parallel group trial จำนวน 2 การศึกษา (Study 1 และ Study 2) และ double-blind, randomized, placebo-controlled, dose-ranging study อีก 1 การศึกษา (Study 3) ใน Study 1 (n=1,638) และ Study 2 (n=1,647) แบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม แบบ 1:1:1 เพื่อให้ยาขนาดต่ำ (คือ 3 และ 6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม), ยาขนาดสูง (คือ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และยาหลอก ทุก 4 สัปดาห์ เป็นเวลา 18 เดือน ประเมินผล (primary endpoint) ด้วยดูอาการของโรคที่ทุเลาลงจาก baseline ประเมินด้วย Clinical Dementia Rating (CDR) global score-Sum of Boxes (CDR-SB) ในสัปดาห์ที่ 78 พบว่ามีเพียง Study 1 เมื่อให้ยาในขนาดสูงที่ให้ผลดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.0120) ส่วน Study 3 แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อให้ aducanumab ขนาด 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (n=31), 3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (n=32), 6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (n=30), 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (n=32), ขนาดยาที่ค่อย ๆ ปรับเพิ่มจนถึง 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยใช้เวลา 44 สัปดาห์ (n=23) และยาหลอก (n=48) ศึกษานาน 12 เดือน ประเมินผลโดยดู biomarkers ที่ลดลงจาก baseline ของ amyloid beta plaque โดยใช้ PET (positron emission tomography) imaging ผลการศึกษาในสัปดาห์ที่ 54 พบว่า ยาให้ผลดีกว่ายาหลอกในการลด biomarkers ต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะที่ขนาดยา 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยที่สุด (≥10% เมื่อเทียบกับยาหลอก) ได้แก่ ความผิดปกติของภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับอะไมลอยด์ (amyloid related imaging abnormalities; ARIA) พบทั้งสมองบวม (amyloid-related imaging abnormalities-edema/effusion; ARIA-E) และมีเลือดออก (amyloid-related imaging abnormality hemorrhage/hemosiderin deposition; ARIA-H) โดยพบ ARIA-H microhemorrhage และ ARIA-H superficial siderosis, ปวดศีรษะและหกล้ม
อ้างอิงจาก:
(1) Aduhelm (aducanumab-avwa) injection, for intravenous use. Reference ID: 4807032, revised: 06/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/761178s000lbl.pdf; (2) Cummings J, Aisen P, Lemere C, Atri A, Sabbagh M, Salloway S. Aducanumab produced a clinically meaningful benefit in association with amyloid lowering. Alzheimers Res Ther 2021. doi: 10.1186/s13195-021-00838-z.