Ibrexafungerp…ยาใหม่ชนิดรับประทานสำหรับรักษาโรคติดเชื้อราในช่องคลอด (vulvovaginal candidiasis)
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มิถุนายน ปี 2564 -- อ่านแล้ว 3,022 ครั้ง
การติดเชื้อในช่องคลอดที่เกิดจากเชื้อรารูปยีสต์ (vaginal yeast infection) พบได้บ่อยในผู้หญิงราว 3 ใน 4 คนในตลอดช่วงชีวิต ช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมาไม่มียาใหม่ออกมาใช้รักษา ยา ibrexafungerp (ชื่อเดิมคือ SCY-078 หรือ MK-3118) เป็น triterpenoid antifungal หรือ “fungerp” ชนิดรับประทานตัวแรกที่เป็น non-azole antifungal ที่ใช้รักษาการติดเชื้อราในช่องคลอด ยาดังกล่าวออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ราโดยยับยั้งเอนไซม์ beta-1,3-D-glucan synthase จึงขัดขวางการสร้าง beta-1,3-D-glucan ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์รา จึงทำให้เชื้อราตาย ต่างจากยาพวก azole antifungals ที่ยับยั้งเอนไซม์ lanosterol 14-alpha-demethylase จึงขัดขวางการสร้าง ergosterol สารนี้มีบทบาทหลายอย่างต่อเซลล์ราและเป็นองค์ประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ibrexafungerp ได้รับอนุมัติในบางประเทศให้ใช้รักษาโรคติดเชื้อราในช่องคลอด (vulvovaginal candidiasis) ในผู้หญิงวัยตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนจนถึงผู้ใหญ่ ยานี้ผลิตในรูปยาเม็ดขนาด 150 มิลลิกรัม ขนาดยาที่แนะนำ คือ 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (รวม 600 มิลลิกรัม) เป็นเวลา 1 วัน รับประทานพร้อมหรือไม่พร้อมกับอาหารก็ได้
มีการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิภาพของ ibrexafungerp ในการรักษาโรคติดเชื้อราในช่องคลอด เป็น randomized placebo-controlled clinical trial จำนวน 2 การศึกษา ศึกษาในผู้หญิงวัยตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนจนถึงผู้ใหญ่ที่เป็นโรคติดเชื้อราในช่องคลอดรวมทั้งหมด 568 คน อายุ 17-67 ปี ซึ่งผลการเพาะเชื้อพบแคนดิดา (Candida albicans) ในผู้ป่วย 92% ของการศึกษาที่ 1 และ 89% ของการศึกษาที่ 2 ในทั้งสองการศึกษาแบ่งผู้ป่วยเพื่อให้ยาหรือยาหลอกแบบ 2:1 โดยให้ยาขนาด 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 วัน (n=379) หรือยาหลอก (n=189) ประเมินผล 2 ช่วง คือช่วงแรกในวันที่ 8-14 (test of cure visit; TOC) โดยดูอาการทางคลินิกและผลการเพาะเชื้อ และช่วงติดตามผลการรักษาวันที่ 21-29 โดยดูอาการทางคลินิก ผลการศึกษาช่วง TOC (วันที่ 8-14) พบ complete clinical response ในกลุ่มที่ได้รับยาทั้งสองการศึกษามีสูงกว่ากลุ่มยาหลอก โดยการศึกษาที่ 1 พบสูงกว่า 22.0% (95% CI=10.2-32.8, p=0.001) และการศึกษาที่ 2 พบสูงกว่า 18.6% (95% CI=6.0-30.6, p=0.009) ส่วนผลลบจากการเพาะเชื้อช่วง TOC (วันที่ 8-14) กลุ่มที่ได้รับยาทั้งสองการศึกษามีสูงกว่ากลุ่มยาหลอก โดยการศึกษาที่ 1 พบสูงกว่า 30.5% (95% CI=19.4-40.3, p<0.001) และการศึกษาที่ 2 พบสูงกว่า 29.5% (95% CI=17.2-40.6, p<0.001) สำหรับช่วงติดตามผลการรักษา (วันที่ 21-29) พบว่า complete clinical response ในกลุ่มที่ได้รับยาทั้งสองการศึกษามีสูงกว่ากลุ่มยาหลอก โดยการศึกษาที่ 1 พบสูงกว่า 15.5% (95% CI=3.4-27.1, p=0.007) และการศึกษาที่ 2 พบสูงกว่า 23.1% (95% CI=10.8-35.0, p=0.006) สำหรับผลไม่พึงประสงค์ของยาที่พบได้บ่อยที่สุด (≥ 2%) ช่วงการศึกษาทางคลินิก ได้แก่ ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเวียนศีรษะ
อ้างอิงจาก:
(1) Brexafemme (ibrexafungerp tablets), for oral use. Reference ID: 4804413, revised: 06/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/214900s000lbl.pdf; (2) Jallow S, Govender NP. Ibrexafungerp: A first-in-class oral triterpenoid glucan synthase inhibitor. J Fungi 2021. doi: 10.3390/jof7030163.