Paroxysmal nocturnal hemoglobinuria (PNH) เป็น complement-mediated hemolytic anemia ที่พบความผิดปกติของ X linked gene เป็นโรคเลือดที่พบยากแต่เป็นอันตรายถึงชีวิต โรคนี้มีการทำลายของเม็ดเลือดแดงทำให้เกิดโรคโลหิตจาง (hemolytic anemia) พบปัสสาวะมีสีคล้ำซึ่งเห็นชัดเจนเมื่อตื่นนอนตอนเช้า ผู้ป่วยมีอาการอ่อนล้า เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือด (thrombosis) และไขกระดูกทำงานผิดปกติ การกระตุ้น complement ไม่ว่าจะผ่านทาง lectin pathway, classical pathway หรือ alternative pathway (ดูรูป) ล้วนส่งผลให้เกิดการสร้าง membrane attack complex (MAC) ซึ่งประกอบด้วย complement 5b (C5b), C6, C7, C8 และ C9 และ MAC เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ปัจจุบันการรักษาที่สำคัญคือการใช้ยา เช่น eculizumab ซึ่งออกฤทธิ์เป็น C5 inhibitor (จึงไม่แตกเป็น C5a และ C5b ซึ่ง C5b เป็นส่วนประกอบของ MAC) และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากผู้อื่น (allogeneic hematopoietic stem cell transplantation) ซึ่ง eculizumab เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษา อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางรายดื้อต่อการรักษาด้วยยานี้หรือให้การตอบสนองได้ไม่สมบูรณ์ในขนาดยาที่ใช้ในการรักษา (ปัจจุบันมี C5 inhibitor ชนิดอื่นอีก เช่น ravulizumab ซึ่งออกฤทธิ์ได้นานกว่า eculizumab)
เมื่อเร็ว ๆนี้มียาชนิดใหม่คือ pegcetacoplan (ชื่อเดิม APL-2) ได้รับอนุมัติแล้วในบางประเทศเพื่อใช้รักษา PNH ในผู้ใหญ่ ยานี้ออกฤทธิ์เป็น C3 inhibitor (จึงไม่เกิดเป็น C3a และ C3b ซึ่ง C3b ทำให้ C5 แตกเป็น C5a และ C5b) จึงเป็นการออกฤทธิ์ต้นทางซึ่งขัดขวางทั้ง C3b-mediated extravascular hemolysis และ MAC-mediated intravascular hemolysis ยา pegcetacoplan ผลิตในรูปยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีตัวยา 1,080 มิลลิกรัม ปริมาตร 20 มิลลิลิตร บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียว ขนาดยาที่แนะนำ 1,080 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ฉีดเข้าใต้ผิวหนังผ่านปั๊ม (ให้แบบ subcutaneous infusion) โดยทั่วไปใช้เวลา 30 นาทีหากฉีด 2 ตำแหน่ง หรือ 60 นาทีหากฉีดตำแหน่งเดียว
การศึกษาที่สนับสนุนข้อบ่งใช้ของ pegcetacoplan เป็น randomized, open-label, active comparator-controlled trial ระยะที่ 3 ศึกษานาน 16 สัปดาห์ ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็น PNH และได้ใช้ eculizumab มาแล้ว ให้ยา pegcetacoplan (n=41) ขนาด 1,080 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 2 ครั้งแบบ subcutaneous infusion หากจำเป็นอาจปรับเป็นขนาด 1,080 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เปรียบเทียบกับการใช้ eculizumab (n=39) ที่ใช้อยู่เดิม ประเมินประสิทธิภาพโดยดูระดับ hemoglobin ที่เปลี่ยนแปลงจาก baseline ผลการศึกษาพบว่า pegcetacoplan ให้ผลดีกว่า eculizumab ในการเพิ่มระดับ hemoglobin (adjusted mean change) จาก baseline โดยเพิ่มได้มากกว่ากลุ่ม eculizumab 3.84 กรัม/เดซิลิตร (95% CI = 2.33-5.34) อย่างมีนัยสำคัญที่สัปดาห์ 16 (p<0.0001) ส่วนการประเมินด้านจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ต้องการได้รับเลือด (transfusion avoidance) และ absolute reticulocyte count ที่เปลี่ยนแปลงจาก baseline พบว่า pegcetacoplan ให้ผลไม่ด้อยไปกว่า eculizumab สำหรับผลไม่พึงประสงค์ของ pegcetacoplan ที่พบบ่อย (≥10%) ได้แก่ ปฏิกิริยาตรงตำแหน่งที่ฉีดยา การติดเชื้อโดยรวม การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ การติดเชื้อไวรัส ท้องเดิน ปวดท้องและอ่อนล้า
อ้างอิงจาก:
(1) Empaveli (pegcetacoplan) injection, for subcutaneous use. Reference ID: 4796130, revised: 05/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/215014s000lbl.pdf; (2) Berentsen S, Hill A, Hill QA, Tvedt THA, Michel M. Novel insights into the treatment of complement-mediated hemolytic anemias. Ther Adv Hematol 2019. doi: 10.1177/2040620719873321; (3) Risitano AM, Marotta S, Ricci P, Marano L, Frieri C, Cacace F, et al. Anti-complement treatment for paroxysmal nocturnal hemoglobinuria: time for proximal complement inhibition? A position paper from the SAAWP of the EBMT. Front Immunol 2019. doi: 10.3389/fimmu.2019.01157; (4) Subcutaneous pegcetacoplan. SEC Filing. Apellis Pharmaceuticals, Inc. https://investors.apellis.com/node/8401/html