โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด B-cell non-Hodgkin lymphoma เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะชนิด diffuse large B-cell lymphoma (DLBCL) ราว 60% ของ DLBCL รักษาได้ดีด้วยการให้ยาเหล่านี้ร่วมกัน คือ rituximab (anti-CD20 monoclonal antibody), cyclophosphamide, doxorubicin (hydroxydaunorubicin), vincristine (Oncovin
®) และ prednisone หรือ prednisolone (R-CHOP regimen) อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ดื้อต่อการรักษาตั้งแต่แรกหรือโรคกลับมาเป็นซ้ำทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต จึงมีการคิดค้นยาใหม่มากมายโดยเฉพาะเพื่อนำมาใช้รักษาแบบ immunotherapy ยาที่คิดค้นมามีเป้าหมายการออกฤทธิ์ที่ตำแหน่งต่าง ๆ กัน และเมื่อไม่นานมานี้มียาชนิดใหม่คือ loncastuximab tesirine (ชื่ออื่น: ADCT-402, loncastuximab tesirine-lpyl การเรียกชื่อยาที่มีอักษร 4 ตัวต่อท้ายชื่อหลัก ดูข้อมูลในเรื่อง
ชื่อยายุคใหม่...บอกข้อมูลเบื้องต้นได้ (ตอนที่ 2)) ได้รับอนุมัติแบบเร่งด่วนในบางประเทศเพื่อใช้รักษา B-cell non-Hodgkin lymphoma ครอบคลุมทั้ง diffuse large B-cell lymphoma not otherwise specified (DLBCL-NOS), DLBCL arising from low grade lymphoma และ high-grade B-cell lymphoma ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาไม่น้อยกว่า 2 แผนการรักษา ยานี้เป็น antibody drug conjugate ที่มี loncastuximab เชื่อมกับ tesirine (หรือ SG3249) ซึ่ง loncastuximab เป็น humanized IgG1 kappa monoclonal antibody ที่ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ CD19 บน B-cell ส่วน tesirine เป็น pyrrolobenzodiazepine dimer cytotoxic alkylating agent (SG3199) ที่จับกับ protease-cleavable valine-alanine linker เมื่อยาจับกับ CD19 บนเซลล์มะเร็งและเข้าสู่ภายในเซลล์จะปล่อยสารออกฤทธิ์คือ SG3199 ซึ่งสารนี้จะจับถาวรกับ DNA ขัดขวางการทำหน้าที่ของ DNA และทำให้เซลล์ตาย ยา loncastuximab tesirine ผลิตในรูปผงยาฉีด มีตัวยา 10 มิลลิกรัมบรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียว ให้ยาเป็นรอบ (ทุก 3 สัปดาห์) โดย 2 รอบแรกให้ขนาด 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังจากนั้นให้รอบละ 0.075 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ใช้เวลาหยดยาเข้าหลอดเลือดดำนาน 30 นาที
มีการศึกษาทางคลินิกในเบื้องต้นที่สนับสนุนประสิทธิภาพของ loncastuximab tesirine เป็นการศึกษาแบบ open-label, single-arm trial ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด DLBCL จำนวน 145 คน อายุ 23-94 ปี ผู้ป่วยเหล่านี้ดื้อต่อการรักษาหรือโรคกลับมาเป็นซ้ำ โดยผู้ป่วยได้ใช้ยามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 แผนการรักษา ให้ยา loncastuximab tesirine แก่ผู้ป่วยเป็นรอบ (ทุก 3 สัปดาห์) โดย 2 รอบแรกให้ขนาด 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังจากนั้นให้รอบละ 0.075 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้ยาต่อเนื่องจนควบคุมโรคไม่ได้ (โรคลุกลาม) หรือจนทนต่ออาการพิษจากยาไม่ได้ ประเมินผลด้วย overall response rate (ORR) ค่ากลางของระยะเวลาที่ติดตามผลเท่ากับ 7.3 เดือน (ช่วง 0.3-20.2 เดือน) ผลการศึกษาพบว่า ORR เท่ากับ 48.3% (complete response 24.1% และ partial response 24.1%) ส่วนระยะเวลาที่โรคให้การตอบสนองต่อการใช้ยา (duration of overall response) มีค่ากลางเท่ากับ 10.3 เดือน ผลไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย (≥20%) ได้แก่ เกล็ดเลือดต่ำ, เอนไซม์ gamma-glutamyltransferase เพิ่ม, นิวโตรฟิลต่ำ, โลหิตจาง, ระดับน้ำตาลในเลือดสูง, เอนไซม์ transaminase เพิ่ม, อ่อนล้า, อัลบูมินในเลือดต่ำ, ผื่นขึ้น, บวมน้ำ, คลื่นไส้, ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก
อ้างอิงจาก:
(1) Zynlonta (loncastuximab tesirine-lpyl) for injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4784313, revised: 04/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/761196s000lbl.pdf; (2) Zammarchi F, Corbett S, Adams L, Tyrer PC, Kiakos K, Janghra N, et al. ADCT-402, a PBD dimer-containing antibody drug conjugate targeting CD19-expressing malignancies. Blood 2018;131:1094-105; (3) Cheson BD, Nowakowski G, Salles G. Diffuse large B-cell lymphoma: new targets and novel therapies. Blood Cancer J 2021. doi: 10.1038/s41408-021-00456-w.